รายงานด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมฉบับล่าสุดโดย EU Monitor เผยว่า ขอบเขตการปกคลุมของแผ่นน้ำแข็งบริเวณแอนตาร์กติกหรือขั้วโลกใต้หดตัวลงอย่างมากเป็นประวัติการณ์ ทำลายสถิติล่าสุดที่เคยบันทึกไว้เมื่อปี 2017 อันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
โดยทีมงาน Copernicus Climate Change Service (C3S) ระบุว่า แผ่นนำ้แข็งบริเวณขั้วโลกใต้หดตัวลงถึง 34% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ในปีที่ผ่านๆ มา
ทางด้าน ซาแมนธา เบอร์เกสส์ รองผู้อำนวยการ C3S ชี้ว่า จากการบันทึกข้อมูลดาวเทียมตลอด 45 ปีที่ผ่านมา น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกขณะนี้ถึงระดับต่ำสุดแล้ว ซึ่งอาจสะท้อนถึงภาวะโลกร้อนที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ปริมาณน้ำแข็งแถบขั้วโลกละลายลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงระดับน้ำทะเลและปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งก็อาจเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมอธิบายว่า พลังงานจากดวงอาทิตย์ราว 90% เมื่อตกกระทบกับผลึกน้ำแข็งสีขาวในทะเลจะสะท้อนพลังงานบางส่วนกลับขึ้นไปยังห้วงอวกาศ แต่ในทางกลับกัน เมื่อพลังงานแสงอาทิตย์ตกกระทบกับผิวน้ำทะเลหรือมหาสมุทรที่ไม่เป็นน้ำแข็งและมีสีเข้มกว่า พลังงานเกือบทั้งหมดจะถูกดูดซับแทน ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลพุ่งสูงขึ้น และเกี่ยวพันกับสาเหตุที่ทำให้โลกนี้ร้อนขึ้นโดยตรง
นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังเผยอีกว่า ทั้งบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้อุ่นขึ้นประมาณ 3 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยน้ำแข็งบริเวณดังกล่าวต่างมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา
แฟ้มภาพ: Gonzalo Solari Cooke / Shutterstock
อ้างอิง:
- https://climate.copernicus.eu/copernicus-antarctic-sea-ice-extent-reaches-all-time-minimum
- https://www.aljazeera.com/news/2023/3/8/antarctic-sea-ice-extent-reaches-all-time-low-eu-monitor
- https://www.eureporter.co/world/antarctic/2023/03/09/copernicus-antarctic-sea-ice-extent-reaches-all-time-minimum-in-february-second-warmest-winter-on-record-in-europe/