×

ณัฏฐพล แถลงตอบ 10 ข้อเรียกร้องนักเรียนก่อนชุมนุมใหญ่หน้ากระทรวงวันนี้ เผยเงื่อนไขให้ลาออกคือคุกคาม

โดย THE STANDARD TEAM
05.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (5 กันยายน) ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนที่เวลา 15.00 น. ในวันนี้ นักเรียนนัดชุมนุมหน้ากระทรวง เรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษา ระบุว่าข้อเสนอต่างๆ ของกลุ่มนักเรียนที่มาเรียกร้องบริเวณหน้ากระทรวงเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด กระทรวงต้องฟังความคิดเห็นหลายด้าน เช่น ครู ผู้อำนวยการ รวมถึงแนวทางปฏิบัติของประเทศและนานาชาติ ว่าการขับเคลื่อนการศึกษา การปฏิรูปหรือการจะเปลี่ยนแปลงอะไรนั้นแนวทางที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร

 

ซึ่งในหลายข้อเรียกร้องนั้นกระทรวงศึกษาธิการเตรียมพร้อมจะปฏิรูปอยู่แล้ว แต่อาจมีบางเรื่องที่ยังไม่พร้อม เช่น เรื่องชุดแต่งกายนักเรียน ถ้าผมยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีอยู่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะมองว่านานาประเทศก็ยังใช้ยูนิฟอร์มของชุดนักเรียนอยู่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าชุดนักเรียนสามารถทำให้น้องๆ ปลอดภัยจากการถูกคุกคามต่างๆ ได้ และเท่าที่รับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนบางคน บอกว่าหากยกเลิกชุดนักเรียนจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น โดยได้ไล่เรียงประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

 

ทรงผม เรายกเลิกระเบียบข้อที่ 7 ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริหารสถานศึกษาตัดสินใจว่า ทรงผมควรจะมีระเบียบอย่างไร มีรายละเอียดของการไว้ผม ที่เป็นการเปิดโอกาสให้ใช้เสรีภาพ แต่ก็มีการรักษาระเบียบความสะอาดต่างๆ หวังว่าจะหมดปัญหาไปในเรื่องนี้

 

การแต่งกาย ทั่วโลกยังมีระเบียบที่เป็นแบบนี้ เราไม่มีความจำเป็น ณ ปัจจุบันที่จะเอาเรื่องนี้มาเป็นเรื่องสำคัญ ในอนาคตต้องทำความเข้าใจเรื่องความพร้อมถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลง ชุดนักเรียนเป็นการรักษาความปลอดภัย เวลานักเรียนใส่ชุดนักเรียน ทำให้เห็นว่านักเรียนอยู่ตรงไหนอย่างไร ควรจะดูแลเขาอย่างไร ประเทศไทยอาจจะยังไม่พร้อมสำหรับการแต่งกายแบบฟรีดอม เพราะเมื่อถามไปที่โรงเรียนต่างๆ นักเรียนส่วนใหญ่อยากมีชุดนักเรียน อยากมีระเบียบวินัย และมีเสียงสะท้อนว่าถ้าไม่มีชุดอาจจะมีความเหลื่อมล้ำมากกว่านี้อีก ปัญหาต่างๆ อาจจะตามมาเพิ่มขึ้น

 

ความหลากหลายทางเพศในโรงเรียน เวลานี้รัฐบาลผ่านกฎหมายคู่ชีวิตแล้ว รอกระบวนการในสภาฯ ประเทศเรามีความเข้าใจและให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่ก็เหมือนหลายๆ ประเทศ ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการเริ่มต้น ถือว่าเป็นสิ่งดีที่ทำให้เห็นว่าเราเข้าใจและยอมรับ

 

การคุกคาม ทางกระทรวงได้เปิดศูนย์ขึ้นมาแล้ว เราให้ครูออกจากราชการชั่วคราวแล้ว 15 คน เราก็พยายามเปิดช่องทางให้มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว

 

ภาระครูที่มากเกินไป ไม่ใช่แค่นักเรียนร้องเรียนมา แต่เราก็รับฟังมาจากครูเช่นกัน ถ้าลดภาระตรงนี้ให้ครูมีเวลากับเด็กมากขึ้น ก็น่าจะดีกับเด็กนักเรียน เรื่องนี้เราพร้อมที่จะปลดล็อก

 

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาให้ข้อมูลเรื่องการเรียนการสอน ให้เข้าถึงข้อมูลที่มากขึ้น ผ่านติวเตอร์เพื่อเป็นการหาความรู้ที่เพิ่มเติม ผ่านแพลตฟอร์มของกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ในทุกภูมิภาค

 

หลักสูตรการศึกษา คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีครูต่างประเทศเพิ่มขึ้นในจำนวนหลายอัตรา กระบวนการได้มีการพูดคุยกับประเทศต่างๆ ที่ให้ความสนใจแล้ว

 

ปรับหลักสูตรการศึกษา เราทราบดีว่าหลักสูตรการศึกษามีข้อที่ต้องปรับปรุงอยู่บ้าง ในปี 2565 เราก็คาดหวังว่าจะผลักดันให้เกิดทั่วประเทศ เมื่อมีข้อเรียกร้องให้ปรับเข้ากับสภาพปัจจุบัน ก็มีช่องทางที่เราจะสามารถทำให้เกิดขึ้น เพื่อให้หลักสูตรตรงกับความต้องการของไทยและโลก

 

ยกเลิกโอเน็ต มีการเรียกมาพูดคุย เพราะปีนี้เป็นปีที่การศึกษาไม่เท่าเทียมกันทั่วประเทศ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น เราไม่สามารถทำการทดสอบในมาตรฐานเดียวกันได้ และอาจมีการระบาดในอนาคต ก็ยิ่งจะทำให้ความพร้อมแตกต่างกันออกไป จะพิจารณาดูความจำเป็นในการสอบของปีนี้ 

 

เวลานี้มีการเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งในโรงเรียนและแพลตฟอร์มที่เปิดขึ้นมา ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องมาพูดคุยกัน เจอกันทุกเดือน เอาเวลาไปเรียนหนังสือหรือทำอย่างอื่น เพราะสุดท้ายมันก็มีข้อจำกัดว่าเราจะฟังกันไปถึงเมื่อไร

 

ณัฏฐพล กล่าวว่า ความตั้งใจของกระทรวงศึกษาธิการ คือมีกระบวนการที่รับฟังและเราก็ต้องนำไปศึกษา ส่วนคุณครูที่ตักเตือนเด็กมีร้อยกว่าคน ในคณะที่มีครูอีกกว่า 5 แสนคนที่ไม่ได้ทำแบบนี้ ทั้งครูและผู้ปกครองมีความเข้าใจ 

 

เมื่อถามถึงการคุกคามในโรงเรียนนั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายหรือมีข้อสั่งการอย่างไรบ้าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่า หลังจากที่รับฟังความคิดเห็นของนักเรียนแล้ว การคุกคามต่างๆ แทบจะไม่มี ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครองเริ่มทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่สามารถยืนยันว่าทุกคนจะเข้าใจกระบวนการเหล่านี้ทั้งหมด เพราะปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย แต่มั่นใจว่า 99% เข้าใจในแนวทางนี้ และพยายามหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด

 

“ส่วนการนัดชุมนุมในวันนี้ช่วงเวลา 15.00 น. ตามปกติแล้วตนมีสิทธิ์ที่จะไปพบหรือไม่ไปพบก็ได้ แต่มองว่าการพูดคุยและเจรจาเป็นทางออกที่ดีที่สุด” ณัฏฐพล กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จะมีการดีเบตกับนักเรียนหรือไม่ ณัฏฐพลระบุว่า การดีเบตหมายความว่าทั้งสองฝ่ายคิดเห็นแต่งต่างกัน แต่ตนเองไม่ได้มองแตกต่างกับนักเรียน เพราะหลายเรื่องกระทรวงกำลังดำเนินการ ซึ่งหากไม่ใช่ความเห็นที่แตกต่างก็ไม่ใช่การดีเบต

 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า 1 เงื่อนไขของนักเรียนคือ ถ้ารัฐมนตรีทำตามข้อเรียกร้องไม่ได้อยากให้พิจารณาลาออกจากตำแหน่ง มองอย่างไร ณัฏฐพล ระบุว่า “ผมว่าอันนี้แหละครับคือการคุกคาม หากผมทำไม่ได้ ขณะที่ผมแสดงออกว่า เรื่องที่น้องพูดมาวันนั้นผมพยายามแก้ไขปัญหา กระทรวงศึกษาฯ ทั้งกระทรวงพร้อมขับเคลื่อนให้ทันสมัย ทุกคนเข้าใจปฏิรูปอย่างรวดเร็ว เพราะปัญหาจะตามมา รวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจ แล้วยังคิดว่า ควรไล่เราออกไปเหรอ”

 

สำหรับประกาศข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนเลวและเครือข่ายนักเรียน 50 โรงเรียนทั่วประเทศนั้น มี 3 ข้อ 1 เงื่อนไข 3 ข้อเรียกร้องคือ

 

  1. หยุดคุกคามนักเรียน

กระทรวงศึกษาธิการต้องปกป้องนักเรียนจากการถูกคุกคามทั้งจากหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวง

 

  1. ยกเลิกกฎระเบียบล้าหลัง

กระทรวงศึกษาธิการต้องยกเลิกกฎหรือระเบียบของกระทรวงฯ ที่มีเนื้อหาเป็นการกดขี่นักเรียน ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตัวนักเรียน

 

  1. ปฏิรูปการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการต้องวางแผนปฏิรูประบบการศึกษาทั้งหมด เพื่อขจัดปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อตัวผู้เรียน เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษา ปัญหาหลักสูตรที่ไม่มีคุณภาพ ปัญหาภาระงานครู ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของครู ฯลฯ ทั้งนี้ ต้องให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการด้วย

 

1 เงื่อนไข

หากทำไม่ได้ก็ลาออกไป

หากกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถดำเนินการข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อข้างต้นได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการควรลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้ผู้มีความสามารถมากกว่าเข้ามาดำเนินการแทน

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X