×

กลาโหม ชี้จำเป็นต้องซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตี-อากาศยานไร้คนขับ เพื่อปกป้องอธิปไตยประเทศ ชี้มีแผนลดกำลังพล 1.2 หมื่นนาย

โดย THE STANDARD TEAM
02.06.2022
  • LOADING...
ชัยชาญ ช้างมงคล

วันนี้ (2 มิถุนายน) พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงภายหลัง พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในส่วนของกระทรวงกลาโหมว่า กระทรวงกลาโหมได้ยึดถือเป้าหมายภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิบัติการของกระทรวงกลาโหม ที่จะต้องเตรียมพร้อมทั้งด้านกำลังพล หลักนิยม การฝึกศึกษา การจัดหน่วย และยุทโธปกรณ์ เพื่อการรักษาความมั่นคงและการป้องกันประเทศ

 

สำหรับการจัดสรรงบประมาณในส่วนกระทรวงกลาโหมนั้นได้รับการจัดสรรงบประมาณลดลงทุกปีตั้งแต่ปี 2563-2566 ซึ่งงบประมาณปี 2566 กระทรวงกลาโหมถูกปรับลดงบประมาณลงจากปี 2565 ที่ 4,373 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.17% ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนงบประมาณทางการทหารของกลุ่มประเทศอาเซียนเปรียบเทียบกับ GDP ค่าเฉลี่ยในปี 2564 คิดเป็น 1.98% ของอาเซียน

 

ทั้งนี้ พล.อ. ชัยชาญ ยืนยันว่ากระทรวงกลาโหมตระหนักดีถึงสถานภาพทางการเงินการคลังของประเทศ และเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงพยายามที่จะซ่อมปรับปรุงและยืดอายุการใช้งาน

 

สำหรับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้วิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปสู่การผลิตและใช้เอง และตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไปมีนโยบายให้ทุกเหล่าทัพจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มาจากการวิจัยและพัฒนา

 

พล.อ. ชัยชาญ ยังได้กล่าวถึงความต้องการในการใช้เครื่องบินขับไล่โจมตี F-35 ว่า ก่อนที่จะได้แบบในการจัดซื้อจัดจ้าง ทุกเหล่ากองทัพตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคัดเลือกแบบเพื่อให้ตรงต่อภารกิจของกองทัพมากที่สุด โดยยืนยันว่าการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีลำใหม่นั้น เพื่อนำมาทดแทนลำเก่าที่เคยกล่าวแล้วว่าบางเครื่องมีอายุการใช้งานมาแล้วกว่า 41 ปี ซึ่งตามแผนจะมีการปลดประจำการเครื่องบินขับไล่ไปจนถึงปี 2574 และจากนั้นประเทศไทยจะมีเครื่องบินขับไล่โจมตีเหลือเพียง 1 ใน 3 ของอัตรา ซึ่งจะหมายความว่าประเทศไทยจะตกอยู่ในความเสี่ยงเรื่องการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

 

“นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานในกระทรวงกลาโหมให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยความโปร่งใส ยึดกรอบกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของกองทัพและประเทศชาติเป็นสำคัญ”

 

ขณะที่การจัดหาอากาศยานไร้คนขับของกองทัพเรือ พล.อ. ชัยชาญ กล่าวว่าได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำหนดคุณสมบัติและความต้องการทางยุทธการต่อการลาดตระเวนในน่านน้ำและการป้องกันภัยพิบัติ และใช้เกณฑ์ราคาและด้านอื่นๆ มาพิจารณาร่วมด้วย ซึ่งไม่ใช่มีเพียงทหารที่เป็นเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ โดยมีผู้แทนจากเอกชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาด้วย

 

ขณะเดียวกันข้อสังเกตของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ตั้งข้อสังเกตถึงการจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับจากประเทศที่มีสถิติการตกนั้น ต้องเรียนว่ารุ่นที่กองทัพอากาศจะซื้อคนละรุ่นกับรุ่นที่ตก

 

พล.อ. ชัยชาญ กล่าวว่า สำหรับการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ต้องเรียนว่าเป็นการจัดซื้อระหว่างรัฐต่อรัฐ และเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของราชการและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้ว

 

ในกรณีที่จีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ MTU ให้ไทยได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ทางกองทัพเรือไม่ได้นิ่งนอนใจ ขณะนี้ได้เชิญผู้แทนหรือบริษัทเจ้าของผู้ผลิตร่วมหาทางออกในการแก้ปัญหา และคาดว่าในเดือนมิถุนายนนี้ทางบริษัทเจ้าของผู้ผลิตจะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประสานงานกับกองทัพเรือ และยืนยันว่าจะยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ

 

ส่วนกรณีที่สมาชิกตั้งคำถามว่า ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เหตุใดกองทัพเรือถึงเข้าไปดำเนินการด้วยนั้น พล.อ. ชัยชาญ ชี้แจงว่า ในการพัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเพียงพื้นที่ด้านความมั่นคง อนาคตจะมีการปรับเป็นเชิงพาณิชย์ด้วย คณะกองทัพเรือเป็นผู้ดูแลความปลอดภัยและป้องกันภัยสนามบิน ใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณโดยรอบสนามบินอู่ตะเภา ด้วยการประสานงานจะทำให้โครงการประสบผลสำเร็จ ไม่ให้มีปัญหาข้อขัดข้องใด ก็จะมีการย้ายบางหน่วยงานที่ส่งผลกระทบต่อการขึ้น-ลงของเครื่องบิน เส้นทางผ่าน ทางรถไฟความเร็วสูง 

 

สำหรับกรณีเงินนอกงบประมาณของกระทรวงกลาโหม หลักๆ จะเป็นเงินรายรับของสถานพยาบาล ซึ่งจะมีระเบียบวิธีการการตรวจสอบและการรายงานการใช้จ่าย สามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้ใช้เงินเป็นไปตามวัตถุประสงค์ 

 

พล.อ. ชัยชาญ กล่าวว่า มีแนวทางการปรับลดกำลังพล โดยมีแผนแม่บทการปฏิรูปกองทัพปี 2560-2569 ในช่วง 10 ปี ร้อยละ 5 หรือ 12,000 คน โดยจะลดงบประมาณได้ 2.1 พันล้านบาท อาจจะใช้ระยะเวลาเนื่องจากกำลังพลไม่สามารถที่จะปลดได้ วิธีดำเนินการคือการเกษียณ และบรรจุทดแทนน้อยลง 

 

พร้อมกันนี้ พล.อ. ชัยชาญ ได้ชี้แจงเรื่องของการเตรียมพัฒนาศักยภาพและเตรียมกำลังของกองทัพเพื่อรองรับสถานการณ์ความมั่นคงภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด มีสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิในทะเล หรือการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะดินแดน รวมถึงการพิทักษ์รักษาสถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ป้องผลประโยชน์ชาติ ดูแลประชาชน และพัฒนาประเทศ ไม่ได้เตรียมกำลังเพื่อไปรบกับใคร แต่เป็นการป้องกันตนเอง ก่อนจะยืนยันว่ากระทรวงกลาโหมจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า โดยคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นหลัก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X