วันนี้ (5 มิถุนายน) รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีท่าทีของพรรค ภายหลังสภารับหลักการงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยระบุว่า พรรคก้าวไกลผิดหวังกับการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล ทั้งที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านสถานการณ์โควิดและกำลังเตรียมตัวสู่การสร้างอนาคตใหม่ของประเทศ การจัดทำงบประมาณไม่สามารถทำแบบเดิมได้ แต่น่าเสียดายที่การจัดทำงบประมาณครั้งนี้เป็นการจัดทำแบบเดิม พร้อมตั้งคำถามว่าประเทศไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่พรรคก้าวไกลคาดหวังจะได้รับคำตอบจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาล
รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า แม้การอภิปรายจะหนาแน่นตลอด 3 วัน แต่ก็น่าผิดหวังกับผลที่สภารับหลักการ โดยพรรคก้าวไกลสะท้อนเป็นปัญหาออกมา 4 ข้อ ดังนี้
- งบประมาณครั้งนี้เป็นการใช้ไปกับเรื่องอดีต ไม่มีการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต โดยเตรียมสำหรับอนาคตเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่งบประมาณส่วนใหญ่ใช้ไปกับงบประมาณประจำปีและงบผูกพัน ซึ่งไม่สามารถนำไปปรับใช้อย่างยืดหยุ่นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตได้
- งบประมาณครั้งนี้เน้นไปที่การช่วยกลุ่มทุนใหญ่ แต่ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายย่อยน้อยมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่งบประมาณส่วนใหญ่เน้นไปที่ EEC มากกว่า SMEs พร้อมตั้งคำถามว่า เมื่อเทียบสัดส่วนความสำคัญของพี่น้องประชาชนซึ่งมีมากกว่ากลุ่มทุนใหญ่ แล้วรากฐานของประเทศจะเข้มแข็งได้อย่างไร
- เป็นงบประมาณที่เน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์น้อยมาก เน้นส่งเสริมค่านิยมที่รัฐบาลต้องการ จึงไม่สามารถสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้
- เป็นงบประมาณที่เน้นการกระจุกตัวไปที่รัฐราชการส่วนกลาง ขณะที่งบท้องถิ่นได้น้อยมาก
นอกจากนี้รังสิมันต์ระบุอีกว่าน่าเสียดายที่เสียงในสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถสะท้อนไปถึงรัฐบาลได้ ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ชั้นคณะกรรมาธิการวาระที่ 2 พรรคก้าวไกลจะใช้โอกาสนี้ส่งตัวแทนเข้าไป 6 คน ได้แก่ ศิริกัญญา ตันสกุล, ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล, นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง, ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์, กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี และ พริษฐ์ วัชรสินธุ เข้าไปทำหน้าที่พิจารณารายละเอียดร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 อย่างเข้มข้นอีกครั้ง