×

“เราจะไม่คอนเซอร์เวทีฟแล้ว” ระเฑียร ศรีมงคล ประกาศนำ KTC มุ่งสู่ ‘Moonshot’ ในปี 2565

19.01.2022
  • LOADING...
KTC

เกือบ 10 ปีที่ผ่านมาของ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ภายใต้การนำทัพของ ‘ระเฑียร ศรีมงคล’ ซึ่งเป็นคนที่พลิกจากธุรกิจที่ ‘ขาดทุน’ ให้สามารถกลับมามี ‘กำไร’ ได้เป็นผลสำเร็จ โดยระเฑียรมักจะย้ำอยู่เสมอถึงการเติบโตแบบยั่งยื่น แต่สำหรับปี 2565 กลับเป็นปีที่แตกต่างออกไป

 

“ปี 2565 จะเป็นปีที่เราทำแตกต่างจากสิ่งที่เคยทำมาในรอบ 10 ปี จากที่ค่อยๆ เดินทีละก้าว แต่ปีนี้เราจะไม่คอนเซอร์เวทีฟแล้ว KTC กำลังจะมุ่งสู่ Moonshot” ระเฑียรกล่าวในระหว่างแถลงแผนธุรกิจประจำปี 2565 

 

สำหรับคำว่า Moonshot หมายถึงการคิดในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น หรือไม่เคยมีใครตั้งเป้าหมายแบบนี้มาก่อน ซึ่งระเฑียรไม่ได้ขยายความมากนักว่า Moonshot ของ KTC จะออกมาในรูปแบบใด แต่เขาย้ำว่าในปีนี้ KTC จะเติบโตจากการขยายฐานลูกค้า ขยายส่วนแบ่งตลาด และสร้างอีโคซิสเต็มเพื่อเชื่อมกับคนอื่น

 

สิ่งที่ต้องจับตาคือ ย่างก้าวที่ท้าท้ายในสินเชื่อมีหลักประกันภายใต้ชื่อ ‘เคทีซี พี่เบิ้ม’ ซึ่งแต่เดิมนั้นวางเป้ายอดสินเชื่อไว้ที่ 2.2 พันล้านบาท แต่หลังจากที่ได้ไปคุยกับบริษัทแม่อย่าง ‘ธนาคารกรุงไทย’ ได้มีการขยายเป้าให้เพิ่มเป็น 11,500 ล้านบาท ซึ่งระเฑียรกล่าวว่า “ยังไม่มีปีไหนที่ KTC ตั้งเป้าบริษัทถึง 1 หมื่นล้านบาทมาก่อน”

 

ที่บอกว่าต้องจับตานั้น เพราะเคทีซี พี่เบิ้มนั้นเป็นสิ้นเชื่อที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2564 แล้ว โดยตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อทั้งปีไว้ที่ 1,000 ล้านบาท แต่จากรายงานที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า ตัวเลขที่ทำได้ในช่วง 9 เดือนอยู่ที่ 371 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งแม่ทัพ KTC ก็ยอมรับว่าปี 2564 ทำไม่ได้ถึงเป้า

 

โดยเหตุผลมาจากการระบาดของโรคโควิด ตลอดจนมีการใช้เอาต์ซอร์ส ทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นในปี 2565 จึงแก้เกมด้วยการเน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่แบบเชิงรุก ผ่านบริการพี่เบิ้ม เดลิเวอรี โดยใช้ทีมขายของ KTC ทั่วประเทศ ไปให้บริการสินเชื่อถึงบ้านของลูกค้า หรือสถานที่ที่ลูกค้าสะดวกด้วยความรวดเร็ว ผูกไปกับช่องทางของเครือข่ายธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศกว่า 900 สาขา และกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง (KTBL) 11 สาขา โดย KTC จะเน้นโฟกัสสินเชื่อจำนำทะเบียนคิดเป็น 80% ของยอดสินเชื่อใหม่ และอีก 20% เป็นสินเชื่อเช่าซื้อ

 

“เราไม่ได้เข้ามาเพื่อแข่งกับใคร แต่เราเชื่อว่าตลาดมีขนาดใหญ่ มีคนที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินอีกมาก ดังนั้นเราจึงเข้ามาเพื่อดูแลลูกค้าของเรา” โดยระเฑียรประเมินว่า โครงสร้างรายได้ของปีนี้จะมาจากสินเชื่อพี่เบิ้มมากขึ้น จากปัจจุบันที่รายได้กว่า 90% มาจาก ‘เคทีซี พราว’ ซึ่งเป็นสินเชื่อบัตรกดเงินสด และธุรกิจบัตรเครดิต

 

ลึกลงไปการบุกสินเชื่อมีหลักประกันของ KTC ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหนึ่งในธุรกิจหลักอย่าง ‘บัตรเครดิต’ นั้นเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เนื่องจากบัตรเครดิตมีสถานะเป็นเครื่องมือในการชำระค่าบริการและสินค้าแทนเงินสด ดังนั้นเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอตัว จึงส่งผลทำให้ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรและสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวลดลงตาม

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สินเชื่อบัตรเครดิตของระบบ (รวมทั้ง Bank และ Non-Bank) ในปี 2564 จะยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดยคาดว่าสินเชื่อบัตรเครดิตอาจจะทรงตัวหรือมีโอกาสหดตัวลงเล็กน้อยประมาณ 1.0% เทียบกับที่หดตัวลง 1.6% ในปี 2563 ที่ผ่านมา

 

ขณะที่รายงานของ KTC พบว่า ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตของอุตสาหกรรมรวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 เท่ากับ 405,069 ล้านบาท ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 และปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรรวมสำหรับงวดเก้าเดือนของปี 2564 มีจำนวน 1,159,423 ล้านบาท หดตัว 1.5% ขณะที่ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเก้าเดือนปีนี้เท่ากับ 668,964 ล้านบาท เติบโตที่ 18.1%

 

ด้านธุรกิจบัตรเดรดิตนั้น ปี 2565 KTC วางแผนที่จะเติบโตในแง่ส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น โดยจะเน้นจับกลุ่มลูกค้ากลาง-บนมากขึ้น จากที่เน้นจับฐานลูกค้าที่มีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป 

 

“ที่ผ่านมาบัตรที่จับฐานลูกค้าตลาดบนเรามีอยู่แล้วแต่ไม่ได้โฟกัสมากนัก ในปีนี้เราจะนำมาปรับปรุงสิทธิพิเศษใหม่ ขณะเดียวกันในเดือนมีนาคมนี้ เราจะเปิดตัวบัตรเครดิตโคแบรนด์ใบใหม่ด้วย”

 

คาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในปี 2565 จะเติบโต 10% จากปี 2564 หรือประมาณ 220,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าปี 2565 เพิ่มสมาชิกใหม่บัตรเครดิตไม่ต่ำกว่า 250,000 ราย และเคทีซี พราว ไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย

 

อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจที่ระเฑียรหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นเรือธงขับเคลื่อนธุรกิจ KTC ให้สามารถสร้าง New S-Curve และมีรายได้เติบโตอย่างยั่งยืนนอกจาก ‘เคทีซี พี่เบิ้ม’ คือแพลตฟอร์ม ‘MAAI BY KTC’ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากความแข็งแกร่งของ KTC ในการทำระบบคะแนนสะสม และความเชี่ยวชาญด้านการตลาดในการบริหารคะแนน KTC FOREVER

 

MAAI BY KTC จะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่จาก KTC ที่ให้บริการกับพันธมิตรธุรกิจที่มีความต้องการใช้ลอยัลตี้แพลตฟอร์มแบบครบวงจร โดยมีโซลูชันที่สำคัญ คือ 1. ระบบบริหารจัดการสมาชิก 2. ระบบบริหารจัดการคะแนน และ 3. ระบบบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ในรูปแบบคูปองอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 และในเดือนมกราคม 2565 จะเปิดให้พนักงาน KTC ทดลองใช้ในช่วงเริ่มต้นกับ 16 ร้านค้า และจะขยายพันธมิตรร้านค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

“ภายในปีนี้ MAAI BY KTC จะต้องมีพันธมิตรไม่น้อยกว่า 10 ราย และจะต้องมีสมาชิกให้ได้ 1 ล้านคน” แม่ทัพ KTC กล่าว โดยมีการประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ KTC จะสร้างสถิติใหม่ของการทำกำไรสูงสุดมากกว่า 6 พันล้านบาท กับพอร์ตสินเชื่อที่เกินแสนล้านบาท ด้วยสองโมเดลธุรกิจใหม่ที่ KTC ตั้งใจสร้างขึ้นกับการออกเดินทางครั้งใหม่ 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X