×

กทม. ออกประกาศคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงสงกรานต์ 3 แนวทาง ห้ามคอนเสิร์ต-ประแป้ง-สาดน้ำ-ปาร์ตี้โฟม

โดย THE STANDARD TEAM
24.03.2021
  • LOADING...
สงกรานต์

วานนี้ (23 มีนาคม) พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของแต่ละปีจะมีการจัดงานหรือกิจกรรมเพื่อส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ มีการเล่นสาดน้ำ ประแป้ง มีการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก และอาจเกิดภาวะไร้ระเบียบ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 จึงมีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ระหว่างวันที่ 10 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2564) 

 

ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมติของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครดังกล่าว จึงประกาศมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ดังนี้

 

1. การจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ โดยกิจกรรมพื้นฐาน อาทิ การจัดพิธีสรงน้ำพระ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ทางศาสนา การจัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ ให้ผู้จัดกิจกรรมและประชาชนปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 โดยเคร่งครัด กรณีมีผู้ร่วมกิจกรรมเกิน 300 คน ผู้จัดกิจกรรมต้องยื่นแผนการจัดงาน และมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนจัดงาน

2. การจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ โดยมีกิจกรรมเพิ่มเติมจากกิจกรรมพื้นฐานตามข้อ 1 เช่น การออกร้าน การจัดเลี้ยง ซึ่งมีผู้ร่วมกิจกรรมเกิน 100 คน ผู้จัดกิจกรรมต้องยื่นแผนการจัดงาน และมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนจัดงาน 

 

ทั้งนี้ ควรจัดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศระบายได้ดี หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมในพื้นที่คับแคบ หรือในพื้นที่ห้องปรับอากาศ และให้งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากและอาจเกิดภาวะไร้ระเบียบ หรือกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน เช่น การรวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ คอนเสิร์ต ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม

3. ควรหลีกเลี่ยงการจัดเลี้ยงและสังสรรค์ในกลุ่มที่มาจากหลากหลายพื้นที่ และควรงดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน

 

ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X