นับวันยิ่งมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังจาก แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ เข้าถือครอง Miss Universe เมื่อปีที่แล้ว ก็เริ่มแผนสปินออฟต่อยอดธุรกิจทันที ทั้งการเปิดตัวธุรกิจน้ำแร่ M*U NØR เจาะตลาดพรีเมียม และในปลายปีนี้เตรียมเปิดตัวธุรกิจสกินแคร์และสปา มั่นใจทำรายได้ปี 2566 ได้กว่า 3.4 พันล้านบาท
ถึงกระนั้นทุกอย่างล้วนเป็นไปตามนโยบายการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม JKN Group ที่นำจุดแข็งของการจำหน่ายคอนเทนต์ในภูมิภาคอาเซียนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ Miss Universe ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- แอน จักรพงษ์ ใช้งบ 550 ล้านบาท ให้ JKN เข้าซื้อผู้จัดประกวด Miss Universe ในสัดส่วน 100%
- ‘แอน จักรพงษ์’ ตั้งเป้านำ ‘Miss Universe Organization’ เข้าระดมทุนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
- จุดเปลี่ยนวงการ ‘นางงาม’ กลายเป็นธุรกิจหารายได้อย่างเต็มตัว อนาคตนางงามจะขายสวยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว
จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN กล่าวว่า แบรนด์ Miss Universe เป็นที่ยอมรับของโลกมายาวนานกว่า 72 ปี จากนี้จะเข้ามาช่วยต่อยอดเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่านโมเดลธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก
เมื่อไม่นานมานี้ได้เปิดตัวน้ำแร่อัลคาไลน์ภายใต้แบรนด์ M*U NØR ทำตลาด 5 รสชาติ โดยมี ไมค์-ภัทรเดช สงวนความดี รับหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งถือเป็นสินค้ารายการแรกของเครือ Miss Universe หลังจากเข้าซื้อกิจการและลิขสิทธิ์ Miss Universe ได้สำเร็จ
และในช่วงเดือนตุลาคมนี้เตรียมเปิดตัวธุรกิจสกินแคร์และสปาเข้ามาเสริมพอร์ตธุรกิจ ผ่านรูปแบบการให้สิทธิ์แบรนด์ Miss Universe แก่บริษัท Miss Universe Skincare & Spa ที่จัดตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยได้รับค่าตอบแทนการให้สิทธิ์คิดเป็นมูลค่า 350 ล้านบาท และได้รับหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นคิดเป็นร้อยละ 30 ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ยังมีแผนเปิดตัว Miss Universe Travel เพื่อดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวทั้ง Inbound และ Outbound จับกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ ซึ่งจะสามารถรองรับโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลก โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปีนี้
ยิ่งไปกว่านั้น จุดแข็งของการทำการตลาดคือการใช้เวทีประกวดนางงามจักรวาลที่มีตัวแทนจากสาวงามประเทศต่างๆ กว่า 96 ประเทศทั่วโลกส่งเข้าประกวด และมียอดผู้ชมการประกวดแต่ละปีมากกว่า 1,000 ล้านคน ช่วยมาช่วยสื่อสารแบรนด์ผ่านกลยุทธ์ซูเปอร์สตาร์มาร์เก็ตติ้ง
“การเป็นนางงามวันนี้ นอกจากสวยแล้วจะต้องขายของได้ด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับจากฐานแฟนคลับอย่างมาก”
สำหรับโครงสร้างการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจ MUO ประกอบไปด้วย
- รายได้จากค่าลิขสิทธิ์ในการจัดประกวดที่เรียกเก็บจากแต่ละประเทศในการจัดการประกวดนางงามเพื่อหาตัวแทนเข้าร่วมประกวด Miss Universe
- รายได้จากค่า License ที่เรียกเก็บจากประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการประกวด
- Production Fee รายได้จากการรับจ้างผลิตงานประกวด
- Broadcast Fee รายได้จากการให้ License ในการเผยแพร่สัญญาณการจัดการประกวดในแต่ละประเทศ
- Ticket Sales รายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการประกวดทั้งงานอีเวนต์
ตามด้วยรายได้ที่เกิดจากผู้สนับสนุนการจัดการประกวด และ Licensing & Merchandising Fee รายได้จากการจำหน่ายสินค้า หรือให้สิทธิ์ผลิตสินค้าหรือบริการภายใต้แบรนด์หรือเครื่องหมายการค้าต่างๆ ของ MU
“เราเชื่อว่าศักยภาพของแบรนด์ Miss Universe จะทำให้ปี 2566 บริษัททำรายได้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งกลุ่มอยู่ที่ 3.4 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 40%” จักรพงษ์กล่าว