×

ราคา หุ้นกลุ่มเนื้อสัตว์ ปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งกว่า SET Index หลังราคาเนื้อสัตว์ในประเทศพุ่งทำสถิติสูงสุด

05.01.2022
  • LOADING...
SET Index

เกิดอะไรขึ้น:

กรณี หุ้นเนื้อสัตว์ ราคาสุกรในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 97 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนมกราคม 2565 ถึงปัจจุบัน (เพิ่มขึ้น 21%YoY และเพิ่มขึ้น 15%MoM) จากระดับ 84 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนธันวาคม 2564 โดยมีสาเหตุมาจากอุปทานที่ตึงตัวเนื่องจากโรคประจำถิ่น และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งมากขึ้นหลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ใน 4Q64

 

ราคาไก่เนื้อในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ระดับ 38 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนมกราคม 2565 ถึงปัจจุบัน (เพิ่มขึ้น 19%YoY และ 3%MoM) จากระดับ 37 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนธันวาคม โดยมีสาเหตุมาจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งมากขึ้นหลังจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการส่งออกที่ฟื้นตัวขึ้น

 

ขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ยังสูง โดยราคาข้าวโพดในประเทศอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 ปีที่ 10.6 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 19%YoY และ 5%QoQ ราคากากถั่วเหลืองก็ยังทรงตัวในระดับสูงอยู่ที่ 19.8 บาทต่อกิโลกรัม ทำจุดสูงสุดในรอบ 7 ปี เพิ่มขึ้น 17%YoY และ 5%QoQ

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านราคาหุ้นกลุ่มผู้ผลิตเนื้อสัตว์ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นนำโดย ราคาหุ้น บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) เพิ่มขึ้น 20.9%MoM สู่ระดับ 5.10 บาท, ราคาหุ้น บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) เพิ่มขึ้น 12.5%MoM สู่ระดับ 13.50 บาท และราคาหุ้น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) เพิ่มขึ้น 10.4%MoM สู่ระดับ 26.50 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวขึ้นเพียง 5.6%MoM (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2565)

 

มุมมองต่อหุ้นกลุ่มผู้ผลิตเนื้อสัตว์:

SCBS คาดว่ากำไร 4Q64 ของผู้ผลิตเนื้อสัตว์ในประเทศจะอ่อนแอลง YoY โดยมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าราคาเนื้อสัตว์จะปรับตัวเร่งขึ้นในช่วงปลายปี 2564 แต่อย่างไรก็ดีแนวโน้มราคาเนื้อสัตว์ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อหลังจากปรับตัวขึ้นมาในต้นเดือนมกราคม 2565 จากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีนในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งช่วยหนุนต่อผลประกอบการระยะสั้นใน 1Q65  

 

ทั้งนี้ราคาเนื้อสัตว์ที่อยู่ในระดับสูงอาจทำให้ผู้ผลิตเพิ่มอุปทานออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยวงจรการผลิตสุกรจะใช้เวลา 6 เดือนถึงมากกว่า 2 ปี และวงจรการผลิตไก่เนื้อจะใช้เวลา 2 เดือนถึงมากกว่า 1 ปี แต่อย่างไรก็ดีราคาต้นทุนอาหารสัตว์ที่อยู่ในระดับสูงอาจทำให้ผู้ผลิตเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นบางส่วน

 

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือการออกมาตรการแก้ไขปัญหาเนื้อสุกรแพง โดยกรมปศุสัตว์จะส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงสุกรเพิ่มในพื้นที่ที่เหมาะเพื่อเพิ่มอุปทาน ขณะเดียวกันก็จะขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ผลิตลูกสุกรเพิ่ม ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 4 เดือน จำนวนสุกรจะเพิ่มขึ้นและราคาสุกรจะกลับสู่ปกติ นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังพิจารณามาตรการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ โดยจะส่งเสริมให้เกษตรปลูกข้าวโพดเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์มากขึ้น


บทความที่เกี่ยวข้อง


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X