วันนี้ (12 มีนาคม) อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ออกแถลงการณ์บนโซเชียลมีเดียของตนเองในโอกาสครบรอบ 21 ปี การบังคับสูญหาย ทนายสมชาย นีละไพจิตร และ 21 ปีซึ่งปราศจากความพร้อมรับผิดของรัฐ
อังคณาระบุว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ‘สมชาย นีละไพจิตร’ ถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายบริเวณย่านรามคำแหง แค่เพียงสองวันก่อนที่เขาจะเดินทางไปจังหวัดนราธิวาส เพื่อยื่นหนังสือยกเลิกกฎอัยการศึกให้ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
21 ปีที่ผ่านมาครอบครัวได้พยายามทวงถามความจริง ความยุติธรรม และความพร้อมรับผิดจากรัฐ ในขณะที่เราต้องเผชิญกับการดูหมิ่นด้อยค่าจากบิดานายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐนับแต่คำพูดในวันแรกที่สมชายหายตัวไปว่า “เป็นใคร ไม่รู้จัก” รวมถึง “ทะเลาะกับเมียเลยไปอยู่ที่อื่น”
ในฐานะครอบครัว แม้เราจะพยายามทำทุกทางเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ยืนยันว่าจะต้องไม่มีใครต้องถูกทำให้สูญหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้กระทำผิดจะต้องไม่ลอยนวล แต่ 21 ปีผ่านไป การหายตัวไปของ สมชาย นีละไพจิตร ก็ไม่ต่างจากคนหายรายอื่นๆ ที่รัฐผลักไสและปฏิเสธความรับผิดชอบ เราถูกผลักออกไปจากกระบวนการต่างๆ ของการค้นหาความจริง หลายครั้งที่รัฐพูดถึงเราโดยไม่มีเรา และเสียงของพวกเราไม่เคยถูกรับฟัง
ตลอดระยะเวลา 21 ปีของการต่อสู้ของครอบครัวนีละไพจิตร สิ่งที่เราประสบพบเจอมีเพียง ‘ความพยายามปฏิเสธ เพิกเฉย และลบเลือน’ เพื่อให้การสูญหายของทนายสมชายเป็น ‘การสูญหายสมบูรณ์แบบ’ ที่ไม่มีวันที่ความจริงจะถูกเปิดเผย โดยรัฐละเลยเพิกเฉยและปฏิเสธการค้นหา เพื่อให้ สมชาย นีละไพจิตร ถูกลบเลือนจากความทรงจำของผู้คน
“วันนี้สิ่งที่รัฐพยายามทำคือ #ปฏิเสธ ว่าทนายสมชายไม่ได้ถูกอุ้มหายโดยรัฐ เพิกเฉยการติดตาม ค้นหา และพยายามลบเลือนความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยความพยายามลดทอนคุณค่าของความยุติธรรม ให้เหลือเพียงความยุติธรรมที่ต่อรองได้ จากการจ่ายเงินชดเชย”
ขณะเดียวกันรัฐก็ใช้การสูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร เพื่อประโยชน์ทางการเมือง รวมถึงการลบความสนใจจากนานาชาติด้วยการอ้างเจตจำนงทางการเมืองโดยการมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองบุคคลจากการบังคับสูญหาย ในขณะที่ 2 ปี ของการบังคับใช้กฎหมาย รัฐล้มเหลวในการเปิดเผยที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหายตามคำมั่นที่รับรองไว้ในกฎหมาย
สิ่งเดียวที่รัฐกำลังทำอยู่เงียบๆ คือ ความพยายามโน้มน้าว กดดันให้ครอบครัวเหยื่อจำยอมถอนเรื่องการร้องเรียนจากคณะทำงานสหประชาชาติ ด้านการบังคับสูญหาย เพื่อให้จำนวนคนหายในประเทศไทยลดลง และแทนที่รัฐจะตามหาคนหาย รัฐกลับเลือกใช้วิธีการฉ้อฉลเพื่อบอกประชาคมโลกว่าประเทศไทยไม่มีคนหาย
ในฐานะเหยื่อเราขอเน้นย้ำว่าการบังคับบุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องค้นหาผู้สูญหายจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรม และรู้ตัวผู้กระทำผิด ดังที่เขียนในมาตรา 10 ของ พระราชบัญญัติ สิทธิที่จะทราบความจริง เป็นสิทธิสัมบูรณ์ของเหยื่อ ในขณะที่การปกปิดความจริงเป็นเสมือนคำสาปที่ทำให้ครอบครัวถูกพันธนาการไว้ด้วยความคลุมเครือ และความหวาดกลัวอันไม่สิ้นสุด
การสร้างทัศนคติเชิงลบต่อเหยื่อ ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้สังคมไม่เกิดความรู้สึกผิด หรือรู้สึกเสียใจหากคนที่ไม่ดีจะถูกทำให้หายไป ซึ่งผู้กระทำผิดอาจคิดว่าเป็นชัยชนะ แต่อาจไม่มีใครรู้ว่าการกระทำเช่นนี้ได้สร้างบาดแผลทางจิตใจให้แก่ครอบครัวอย่างมาก การบังคับสูญหายจึงไม่ใช่เพียงการพรากใครบางคนไปตลอดกาล แต่ยังทำให้คนที่มีชีวิตอยู่ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานไม่สิ้นสุด
การขจัดอคติของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีต่อเหยื่อจึงมีความสำคัญในการเรียกร้องความยุติธรรม นอกจากนั้น การสร้างการมีส่วนร่วมในการค้นหาความจริงเป็นอีกหนทางที่ทำให้ครอบครัวมีความสามารถควบคุมชะตากรรมของตนเองได้อีกครั้ง การสร้างทัศนคติที่ดีต่อเหยื่อ และครอบครัว จึงเป็นการเยียวยาที่สำคัญ เพราะเป็นการกอบกู้ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้กลับคืนมา
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการอุ้มฆ่า ทนายสมชาย นีละไพจิตร และประชาชนอีกหลายคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 21 ปีโดยไม่มีท่าทีจะยุติ ความท้าทายของรัฐในการแก้ปัญหาคือรัฐจะพูดความจริงกับครอบครัวและสังคมอย่างไร จะคืนความเป็นธรรมให้ครอบครัวอย่างไร หรือจะแก้ปัญหาคนหายโดยบอกว่าไม่มีคนหาย
ในปีที่ 21 ของการบังคับสูญหายของทนายสมชาย ในฐานะครอบครัว เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการสืบสวนและพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าทนายสมชายอยู่ที่ไหน ดำเนินการตรวจสอบอย่างยุติธรรม เปิดเผยความจริงให้กับสาธารณชนทราบ และรับประกันว่าผู้กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการทางอาญา
ครอบครัวนีละไพจิตร จะยังคงทำงานร่วมกับครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทยและนานาชาติในการต่อสู้กับความพยายามทำให้การสูญหายอย่างสมบูรณ์แบบไม่สามารถเกิดขึ้นในสังคมไทยอีกต่อไป ความพยายามปกปิดความจริงของรัฐ จะต้องถูกทดแทนด้วยความพยายามอันเกิดจากเจตจำนงอันมุ่งมั่นของครอบครัวในการยุติการบังคับสูญหาย เพื่อให้มีการเปิดเผยความจริง คืนศักดิ์ศรี คืนความยุติธรรม และคืนคนหายทุกคนให้ครอบครัว ด้วยความหวัง มิตรภาพ และความรำลึกถึงทนายสมชาย ปีที่ 21 การบังคับสูญหายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน
อ้างอิง: