×

ช่วงชีวิต 20 ปีของ อังคณา นีละไพจิตร คู่ชีวิต-นักสิทธิฯ ที่รู้ว่าแพ้ตั้งแต่เริ่มหาทนายสมชาย

09.03.2024
  • LOADING...
ช่วงชีวิต 20 ปีของ อังคณา นีละไพจิตร

HIGHLIGHTS

  • “แฟ้มคดีทนายสมชายมีจริงหรือไม่ หรือมีแต่แฟ้ม ด้านในไม่มีเอกสารหลักฐานอะไร เพราะที่ผ่านมาครอบครัวเคยไปขอดูก็ไม่เคยได้” คือคำถามจากอังคณาที่ยังถามอยู่แม้ผ่านกาลเวลามา 20 ปี
  • “กรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจะหาตัวคนหายหรือคนที่ทำผิด สิ่งสำคัญคือเจตจำนงทางการเมือง ถ้ารัฐบาลมีเจตจำนงที่จะทำ มันก็ย่อมทำได้อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ทำ”
  • “ความเป็นผู้หญิงมักถูกนำมาใช้ลดทอนคุณค่าของตัวเรา การที่คนคนหนึ่งหายไปมันกระทบกับผู้หญิงที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างมาก”

วันที่ 12 มีนาคม 2567 ครบรอบ 20 ปีที่ ‘สมชาย นีละไพจิตร’ ทนายความที่มุ่งเน้นช่วยเหลือลูกความผู้ด้อยโอกาส ต้องกลายเป็น ‘ผู้สูญหาย หรือผู้ถูกทำให้สูญหาย’ เพียงเพราะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในคดีเจไอ หรือคดีกลุ่มก่อการร้าย เจมาห์ อิสลามิยาห์

 

สิ่งสุดท้ายที่สมชายทิ้งไว้ก่อนจะหายไปคือ หนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากกรณีที่ผู้ต้องหาคดีเจไอต้องถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพตามที่ตำรวจต้องการ

 

ในฉากชีวิตก่อนสูญหายตามคำให้การของพยานเพียงรายเดียวทำให้เรารู้ว่า สมชายไม่มีโอกาสแม้เพียงเสี้ยวนาทีที่จะได้เตรียมตัวหรือร่ำลาบุคคลอันเป็นที่รักเลย

 

THE STANDARD พูดคุยกับ อังคณา นีละไพจิตร นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และในฐานะบุคคลอันเป็นที่รัก ภรรยาของทนายสมชาย แม่ของลูกๆ ทั้ง 5 คน ถึงชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

 

คนหายหาไม่เจอ แต่คดีต้องหยุดสืบสวน

 

FYI: หลังการหายไปของสมชาย มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนสิ่งที่เกิดขึ้น มีกระแสข่าวหลากหลายถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในที่สุดเรื่องก็เงียบหายไป 

 

จนต่อมาคณะทำงานด้านผู้สูญหาย องค์การสหประชาชาติ (UN) มีมติรับคดีของสมชายเป็นคดีของคณะทำงานด้านผู้สูญหาย หมายเลขคดี 1003249 

 

โดยในวันที่ 2 มิถุนายน 2548 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุดังกล่าว และการที่ UN ยื่นมือเข้ามาร่วม จนเป็นพาดหัวข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “ทักษิณบอก UN ไม่ใช่พ่อ” 

 

คดีสมชายไม่ได้เป็นคดีพิเศษที่จัดการโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทั้งที่มีการร้องขอจากครอบครัว จนกระทั่งวันที่ 23 กรกฎาคม 2548 ตัวแทนรัฐบาลไทยต้องชี้แจงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จึงทำให้ในวันนั้นคดีทนายสมชายถูกรับเป็นคดีพิเศษ

 

 

“ประมาณเดือนตุลาคม 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งหนังสือมาถึงครอบครัวแจ้งให้ทราบว่า จากนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษจะงดการสอบสวนคดีทนายสมชาย เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด” อังคณากล่าว

 

อังคณาเล่าต่อว่า หลังจากได้รับหนังสือดังกล่าวตนได้ขอเข้าพบอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จากการคุยกันทำให้ทราบว่า สาเหตุที่ต้องงดการสอบสวนเพราะตั้งแต่รับคดีนี้ให้เป็นคดีพิเศษจนถึงปี 2559 ตลอด 11 ปี การที่กรมสอบสวนฯ ไม่สามารถหาคนผิดได้มันกระทบต่อตัวชี้วัดการทำงานของกรมสอบสวนฯ เอง

 

แต่ทั้งนี้ก็มีการอธิบายเพิ่มเติมว่า หากมีหลักฐานใดปรากฏขึ้นก็สามารถมาสอบสวนใหม่ได้ ณ ขณะนั้นอังคณาจึงถามกลับทางอธิบดีว่า “ให้แต่งตั้งตนเป็นพนักงานสอบสวนได้หรือไม่ เพื่อจะได้มีการสอบสวนต่อไป และตนจะได้มีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ เพราะถ้าหากเป็นชาวบ้านธรรมดาแบบนี้จะหาหลักฐานจากที่ไหน เพียงมีชีวิตอยู่แต่ละวันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว”

 

อังคณาเล่าเหตุการณ์ย้อนไปก่อนหน้าปี 2559 ที่จะมีการงดสืบสวนว่า เคยเกิดกระแสข่าวประมาณปี 2554-2555 ที่มีการประท้วงจากผู้ชุมนุมหลายกลุ่ม และมีการบุกรุกเข้าไปในสำนักงาน เป็นเหตุให้แฟ้มคดีของทนายสมชายหายไป แต่เพียงไม่นานก็มีการแถลงว่าแฟ้มดังกล่าวตกอยู่ที่พื้นข้างโต๊ะ

 

“มันจะหายไปได้อย่างไร ในเมื่อตอนที่เราไปกรมสอบสวนคดีพิเศษ กว่าจะเข้าไปถึงต้องผ่านประตูจำนวนมาก มีประตูเหล็ก มีรหัสสารพัด ไม่ใช่ใครก็ตามที่จะสามารถงัดบุกเข้าไปได้”

 

อังคณากล่าวต่อว่า อดคิดไม่ได้ว่าความจริงแล้วแฟ้มคดีทนายสมชายมีจริงหรือไม่ หรือมีแต่แฟ้ม ด้านในไม่มีเอกสารหลักฐานอะไร เพราะที่ผ่านมาครอบครัวเคยไปขอดูก็ไม่เคยได้ดูว่าสอบสวนสืบสวนอะไรไปบ้าง ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ได้เขียนไว้ว่า ผู้ต้องหาและจำเลยมีสิทธิที่จะเข้าถึงพยานหลักฐานตามสมควร

 

ส่วนตัวคิดมาเสมอว่า ถ้าจะหาตัวคนผิดคงไม่ยาก เจ้าหน้าที่ต้องรู้อยู่แล้วว่าใครเป็นคนทำ แต่มันคงอยู่ที่ความจริงใจว่าจะทำคดีนี้ได้เต็มที่หรือไม่ จะตั้งใจหาตัวสมชายมากเท่าใด

 

ต่อมาในปี 2553 มีการเยียวยากรณีของกลุ่มคนเสื้อแดงและคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และต่อมาในปี 2555 มีการเยียวยากรณีที่เกิดขึ้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงเยียวยาครอบครัวของสมชาย โดยเหตุผลที่เยียวยาระบุไว้ในมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เป็นการเยียวยาผู้เสียหายที่เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

อังคณากล่าวว่า สิ่งที่ครอบครัวของผู้สูญเสียสงสัยคือ เมื่อรัฐเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำไมไม่มีการดำเนินการด้านกระบวนการยุติธรรม การเยียวยาเหมือนการให้เงินและจบไป

 

 

โมเดลคดีคนหาย

 

อังคณากล่าวว่า ก่อนที่ทนายสมชายจะหายตัวไป ช่วงเวลานั้นมีข่าวคราวเรื่องการอุ้มหายบุคคลมาตลอด ตนเองก็เคยตั้งคำถามว่าทำไมครอบครัวพวกเขาเหล่านั้นถึงไม่ทำอะไรเลย ทางทนายสมชายเคยเล่าเองว่า “ประชาชนคงไม่กล้าทำอะไร เขากลัวที่จะลุกขึ้นมาพูด”

 

จนเมื่อวันหนึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับครอบครัวจึงต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรดี อังคณาระบุว่า ในวันที่แน่ใจว่าทนายสมชายหายตัวไป ตนเองได้ขับรถไปที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) บางยี่เรือ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ไม่ให้แจ้งความเพราะต้องรอ 48 ชั่วโมงก่อน ขณะนั้นสิ่งที่ทำได้เพียงให้เจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบอุบัติเหตุให้ เพราะทนายสมชายหายไปพร้อมรถ

 

อังคณาเล่าประสบการณ์ตอนที่เป็นคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายว่า เมื่อมีคนหายต้องมีการสืบสวนสอบสวนโดยทันที เพราะช่วงเวลาที่หายไปมันสำคัญต่อชีวิตมาก หมายถึงความเป็นความตายของมนุษย์ ไม่ควรที่จะต้องรอ 48 หรือ 24 ชั่วโมงที่จะไม่เหลืออะไรแล้ว

 

“กรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจะหาตัวคนหายหรือคนที่ทำผิด สิ่งสำคัญคือเจตจำนงทางการเมือง ถ้ารัฐบาลมีเจตจำนงที่จะทำมันก็ย่อมทำได้อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ทำ” อังคณากล่าว

 

เรื่องของทนายสมชาย ตั้งแต่เกิดเรื่องมีการกดดันมาโดยตลอด มีการส่งเรื่องไปถึงสหประชาชาติ จนกระทั่งวันที่ 1 เมษายน 2547 ภายใน 2 สัปดาห์เท่านั้น ศาลออกหมายจับตำรวจ 4 คน ซึ่งถือว่าเร็วมาก และหลังจากนั้นอีกประมาณ 2 สัปดาห์ก็ออกหมายจับตำรวจอีกหนึ่งคนซึ่งเป็นตำรวจยศสูงกว่า

 

อังคณากล่าวว่า คดีสมชายจึงเป็นคดีแรกที่ถูกนำขึ้นสู่ศาล ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์กับทนายสมชายขึ้นก็มีเหตุการณ์เกิดกับอีกหลายคน แต่ต้องยอมรับว่าเวลาที่เราได้เจอกับญาติผู้สูญหาย อุปสรรคที่สำคัญคือครอบครัวไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อเนื่องจากกลัว เหมือนคำกล่าวว่า หนึ่งคนหายกลัวทั้งหมู่บ้าน แต่ตนยืนยันว่าทนายสมชายไม่ได้มีอภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่นๆ เลย 

 

ฉะนั้นแล้ว ญาติมีส่วนสำคัญที่จะทำให้คดีก้าวต่อไปในทิศทางไหน เพราะครอบครัวของทนายสมชายเองได้คุยกันมาตลอดว่าเราควรจะไปต่อหรือพอแค่นี้

 

เพศไม่ควรเป็นเครื่องมือด้อยค่าความเป็นคน

 

อังคณาเล่าว่า การต่อสู้คดีของทนายสมชายถามลูกมาตลอด เพราะได้เห็นพวกเขาแอบแยกตัวไปนั่งร้องไห้ นั่งเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อ เด็กๆ จินตนาการว่าพ่อจะต้องเป็นอย่างไรตอนที่ถูกทำร้าย พ่อจะต้องเจ็บปวดขนาดไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคนเป็นแม่ได้ยินมาโดยตลอด ซึ่งเราทำได้คือคอยถามลูกว่ายังไหวไหม เพราะเราต้องดูแลกัน

 

“ทุกวันนี้เวลาที่ลูกต้องกรอกข้อความในเอกสารต่างๆ เขาก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องเขียนว่าพ่อมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือแม้แต่เราจะอยู่ในสถานะสมรสแบบไหน ม่ายหรือหย่า” อังคณากล่าว

 

อังคณากล่าวยกตัวอย่างกรณีของ มึนอ ภรรยา บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ นักกิจกรรมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งขณะที่เกิดเรื่องกับบิลลี่ มึนอมีลูก 5 คน และได้แต่งงานกับคนในหมู่บ้านเดียวกันหลังบิลลี่หายตัวไป ตอนนั้นสังคมก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวเธออย่างมาก

 

ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่ครอบครัวต้องเผชิญคือการใช้เพศเป็นเครื่องมือเหยียดหยาม อย่างตัวของเราเองก็มีคนที่เคยใช้คำพูดว่าให้ไปตามหาสามีตัวเองให้เจอก่อนค่อยมาเรียกร้อง

 

“ความเป็นผู้หญิงมักถูกนำมาใช้ลดทอนคุณค่าของตัวเรา การที่คนคนหนึ่งหายไปมันกระทบกับผู้หญิงที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างมาก” อังคณากล่าว

 

 

สำหรับตน สิ่งที่ทำให้เดินหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ก็คือลูกๆ ที่คอยยึดเหนี่ยวกัน หลายครั้งที่มันหนักหนาจนทำให้คิดว่า ถ้าเราไม่แต่งงานกับคนนี้เราคงจะได้เป็นคนทั่วไป ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ ทำไมชีวิตเราถึงเป็นแบบนี้ 

 

“ตัวเราไม่ใช่คนเก่ง เราไม่ใช่คนที่อดทนมากกว่าคนอื่น เราเป็นผู้หญิงธรรมดาที่มีความรู้สึกอ่อนแอ”

 

อังคณากล่าวต่อว่า เวลาเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน คนที่โดนส่วนมากคือผู้ชาย แต่คนที่ออกมาเรียกร้องคือผู้หญิง ฉะนั้นมันยากกว่าเดิมตรงที่มีเรื่องของการเหยียดเพศเข้ามาแทรก ทำให้ผู้หญิงคนนั้นกลายเป็นคนไม่ดีในสายตาคนอื่น

 

มันเหมือนเป็นการทำลายศักดิ์ศรีซึ่งมันเป็นเรื่องสำคัญ ใครที่ไม่ถูกพรากไปก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์มันสำคัญขนาดไหน

 

ชีวิตเรียบง่ายที่เป็นได้แค่ความฝัน

 

เมื่อถามว่าคดีสมชายได้เปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตอังคณาบ้าง?

 

อังคณากล่าวว่า จริงๆ ถ้าไม่มีเรื่องนี้เราคงเป็นผู้หญิงธรรมดา เกษียณก็คงได้ใช้ชีวิตธรรมดา ปกติแล้วเราเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัว เป็นพยาบาลทำงานตามปกติ ชอบอ่านหนังสือ ไม่ได้ชอบเข้าสังคม แต่เมื่อมีเรื่องของทนายสมชาย จากคนที่ไม่เคยมีโทรศัพท์ก็ต้องพกโทรศัพท์ตลอดเวลาเพื่อรอฟังข่าวที่อาจจะมีมาเมื่อไรก็ได้ นั่นทำให้ที่ผ่านมาทุกเวลาโทรศัพท์ถูกเปิดไว้รับทุกๆ สาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ นักข่าว หรือผู้ไม่หวังดีที่มาคุกคาม

 

“ถ้าวันนั้นสมชายไม่เคยหายไปไหนเราคงได้ใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายในครอบครัว หลายครั้งที่เห็นผู้สูงอายุใช้ชีวิตด้วยกันจนถึงแก่เฒ่า แม้เราจะไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะได้ใช้ชีวิตแบบนั้น เพราะสมชายเคยพูดไว้ตลอดว่าจะทำงานจนกว่าตัวของเขาจะไม่มีแรง แต่เราก็เชื่อว่าเราคงได้ใช้ชีวิตของเราไปเรื่อยๆ กับลูก” อังคณากล่าว

 

ฉะนั้นสิ่งที่เสียมากที่สุดที่ผ่านมาคือความเป็นส่วนตัว เราไม่สามารถเป็นคนธรรมดาได้อีก แต่อีกแง่ก็ต้องขอบคุณสังคมที่อีกมุมก็อบอุ่น

 

อังคณากล่าวต่อว่า ในทางที่ดี การที่เป็นตัวเองในวันนี้เมื่อพูดอะไรออกไปเสียงนั้นมันดังขึ้น จากคนธรรมดาที่ไม่มีใครรู้จักก็สามารถมีบทบาทขับเคลื่อนสังคมจนกระทั่งมาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน และมาเป็นผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ จากผู้หญิงธรรมดาวันหนึ่งได้ก้าวขึ้นมาทำงานระดับชาติ และไปถึงระดับโลก พูดแทนเหยื่อที่ถูกอุ้มหายจากทั่วโลก

 

“ชีวิตมันอาจจะถูกเขียนเอาไว้ให้มันเป็นแบบนี้ ซึ่งมันก็ไปต่อเองโดยธรรมชาติ ชีวิตมันมีทางให้เราไปต่อเรื่อยๆ

 

อังคณายกเหตุการณ์หนึ่งที่จำได้ดีและรู้สึกว่าสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังการเคลื่อนไหวของคดีทนายสมชายคือ ตอนที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักกิจกรรมทางการเมือง 9 คนหายไป ทำให้เกิดการชุมนุม มีประชาชนออกมาถือภาพของคนหายเต็มถนนราชดำเนิน สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องแบบนี้ปิดไม่ได้อีกต่อไป ส่วนตัวไม่คิดว่าจะเจอภาพแบบนั้น ซึ่งทำให้ดีใจและภูมิใจว่า เรื่องการที่เจ้าหน้าที่ทำผิด พยายามกดครอบครัวของผู้ที่ถูกอุ้มหาย คุณจะปกปิดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

 

 

เราสู้แม้จะรู้ว่าแพ้ตั้งแต่เริ่ม

 

อังคณากล่าวว่า ความรู้สึกส่วนตัวที่ออกมาสู้เรื่องนี้แม้รู้อยู่แล้วว่าสุดท้ายผลลัพธ์ก็คือแพ้ ที่เราแพ้เพราะท้ายสุดเราไม่สามารถหาความจริงได้ เราพ่ายแพ้เพราะเรายังเจ็บปวด แต่ในขณะเดียวกันวันนี้ก็ภูมิใจที่คนธรรมดาอย่างเรา คนที่ไม่ได้มีใครรู้จัก ผู้หญิงธรรมดา สามารถลุกขึ้นมาทำให้กระบวนการยุติธรรมมันกระเพื่อมได้

 

“เราเหมือนก้อนหินที่ถูกปาลงไปในน้ำ และทำให้สิ่งที่เคยถูกปกปิดไว้เกิดเป็นคลื่นกระจายออกไป ทำให้ทั่วโลกได้รับรู้ นอกจากเป็นความภูมิใจแล้ว สิ่งที่ทำให้ดีใจมากคือมีคนออกมาขับเคลื่อนกับเรื่องนี้มากขึ้น”

 

อังคณากล่าวต่อว่า แม้พวกเขาที่ออกมาขับเคลื่อนจะเป็นคนที่ไม่มีตัวตนในสังคม แต่ก็กล้าที่จะมาแสดงออกมากขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่ตนอยากฝากไปถึงสื่อมวลชนทุกแขนงวันนี้คือ อย่าทิ้งให้พวกเขาโดดเดี่ยว เพราะว่าต่อให้เขาพูดเท่าไร บางทีเสียงเขาอาจจะยังไม่ดัง ถ้ามันไม่มีคนช่วยขยายเสียงเหล่านั้นออกไปให้ไกล และที่สำคัญ คำพูดของพวกเขาเมื่อมันถูกได้ยิน คำพูดนั้นจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะปกป้องพวกเขาเหล่านั้นด้วย

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising