วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในวันพรุ่งนี้ (18 กุมภาพันธ์) ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 16 สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 จะมีวาระการเสนอญัตติเรื่องขอให้วุฒิสภาพิจารณาหาแนวทางปฏิบัติในการให้สิทธิแก่ผู้ต้องขังที่จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน โดย อังคณา นีละไพจิตร สว. เป็นผู้เสนอ และมี สว. ผู้ลงนามรับรองญัตติ 5 คน ได้แก่ น.ต. วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ร.น., โชติชัย บัวดิษ, ธนกร ถาวรชินโชติ, เทวฤทธิ์ มณีฉาย และ เดชา นุตาลัย
อังคณาระบุว่า ตามที่ปรากฏในสื่อทั่วไปว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครส่งตัวผู้ต้องขังคนสำคัญไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากแพทย์มีความเห็นว่าผู้ต้องขังดังกล่าวป่วยเป็นโรคหัวใจ ซึ่งต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อชีวิต อีกทั้งต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที แต่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ
โดยโรงพยาบาลตำรวจได้รับตัวผู้ต้องขังคนสำคัญดังกล่าวไว้เพื่อรักษา ซึ่งกรมราชทัณฑ์รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องได้ชี้แจงต่อสังคมว่า การส่งตัวผู้ต้องขังคนสำคัญไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจนั้นเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายแล้ว
“อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็ยังมีข้อกังขาว่า ผู้ต้องขังคนสำคัญนี้ป่วยจริงหรือไม่ หรือป่วยเป็นโรคอะไร มีการผ่าตัดหรือไม่ และโรงพยาบาลดำเนินการรักษาอย่างไร จึงต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นเวลานาน รวมถึงได้นอนพักรักษาที่ชั้น 14 ซึ่งเป็นหอผู้ป่วยระดับสูงของโรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่ และไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้สังคมเกิดความสงสัยเพิ่มมากขึ้น”
อังคณาระบุต่อไปว่า ยังมีผู้ที่เห็นว่าโทษจำคุกเป็นการกันผู้กระทำความผิดออกจากสังคมชั่วคราว เพื่อให้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และปรับพฤติกรรม ให้สามารถกลับมาอยู่ร่วมในสังคมได้ และเมื่อเป็นนักโทษจากการกระทำความผิด ย่อมต้องถูกตัดสิทธิและเสรีภาพหลายประการ ไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่เหมือนคนทั่วไป แต่ผู้ต้องขังคนสำคัญดังกล่าวกลับได้รับสิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่พิเศษกว่าผู้ต้องขังคนอื่นๆ ที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม จึงสมควรที่วุฒิสภาจะอภิปรายระดมความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางปฏิบัติในการให้สิทธิแก่ผู้ต้องขังที่จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน และเสนอไปยังรัฐบาล เพื่อพิจารณาดำเนินการ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าจึงขอเสนอญัตติตามนัยแห่งข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 35 เพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาญัตติดังกล่าว และมีมติส่งข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป สำหรับเหตุผลและรายละเอียดเพิ่มเติมจะชี้แจงในที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป