ในปี 2012 เราเคยเห็นข่าวของ เจนนา ทาลัคโควา (Jenna Talackova) สตรีข้ามเพศถูกแบนจากเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์สประเทศแคนาดา แต่ด้วยความช่วยเหลือจากทนาย กลอเรีย อัลเรด (Gloria Allred) ทำให้เวทีมิสยูนิเวิร์สแก้กฎการเข้าประกวดในปีถัดมา และอนุญาตให้สตรีข้ามเพศมีสิทธิ์ในการเข้าประกวดได้เช่นเดียวกับผู้สมัครเพศหญิง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา เวทีมิสยูนิเวิร์สจากประเทศสเปนก็ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการแต่งตั้ง อังเคลา ปอนเซ (Angela Ponce) สตรีข้ามเพศคนแรกของโลกที่ได้ตำแหน่งมิสสเปนไปครอง และเธอจะเป็นตัวแทนจากประเทศสเปนไปประกวดบนเวทีมิสยูนิเวิร์สในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งเธอก็เป็นสตรีข้ามเพศคนแรกของโลกที่ได้เข้าชิงเวทีมิสยูนิเวิร์สอีกด้วย
อังเคลา ปอนเซ อายุเพียง 26 ปี เธอมาจากเมืองเซบียา ตอนใต้ของประเทศสเปน และเอาชนะผู้เข้าร่วมแข่งขันที่เหลือ 22 คน เธอไม่ได้ได้ตำแหน่งมิสสเปนเพราะโชคช่วย แต่เธอผ่านเวทีประกวดความงามมาแล้วหลายเวที ตั้งแต่ชนะเลิศเวที Miss World Cadiz ปี 2015 รวมทั้งเวที Miss World สเปน เมื่อปี 2015 ซึ่งเธอก็เป็นสตรีข้ามเพศคนแรกที่เข้าแข่งขันเวทีดังกล่าวเช่นเดียวกัน แม้จะไม่ได้ชนะรางวัลในครั้งนั้น แต่เธอก็จุดประเด็นให้สื่อสนใจได้ไม่น้อย เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อหลังพลาดตำแหน่งให้กับ มิเรยา ลาลากูนา ว่า “แม้จะแพ้ แต่ภาพในหัวฉันก็สวมมงกุฎอยู่ ฉันจะพยายามสู้เพื่อให้คนมองเห็นคนของฉัน รับฟังกลุ่มคนของฉัน และแสดงให้พวกเขาเห็นว่า ฉันสามารถเป็นราชินีได้ด้วยมงกุฎของฉันเอง”
อังเคลา ปอนเซ รู้ตัวตั้งแต่เด็กๆ ว่า เธอแตกต่างจากเพื่อน ครั้งแรกที่พ่อแม่ถามว่าอยากได้ของเล่นอะไร เธอก็วิ่งไปเลือกตุ๊กตาบาร์บี้เป็นอย่างแรก ซึ่งครอบครัวก็ไม่เคยปฏิเสธหรือต่อต้านในสิ่งที่เธอเป็น พวกเขายังคอยสนับสนุนตลอด แม้กระทั่งพ่อที่คอยนั่งอยู่ข้างๆ ในขณะที่เธอเล่นตุ๊กตา ทำให้อังเคลาเติบโตมาในแบบที่เธอต้องการจะเป็น จนกระทั่งเข้าวัย 11 ปี อังเคลา ปอนเซ เริ่มทำความรู้จัก ‘Transsexuality’ หรือคนข้ามเพศ ซึ่งทำให้เธอตัดสินใจเดินหน้าต่อสู้ เพื่อสิ่งที่เธอเป็น
อังเคลาโชคดีที่สมัยเรียนเธอไม่เคยถูกเพื่อนกลั่นแกล้งรุนแรง มีแต่การเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเป็นคนข้ามเพศ เช่นคนมักเข้าใจไปเองว่า คนข้ามเพศและลักเพศ คืออย่างเดียวกัน ทำให้เธอต้องการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเรื่องคนข้ามเพศให้คนรุ่นใหม่เข้าใจมากขึ้น
อังเคลาทำงานเป็นนางแบบมืออาชีพ และยังทำงานช่วยครอบครัวในร้านอาหารของที่บ้าน จนกระทั่งในปี 2014 เธอตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ หลังจากใช้ฮอร์โมนบำบัดมาหลายปี และเริ่มลงสมัครเวทีประกวดความงามอย่างจริงจัง แม้เธอจะไม่ชนะ แต่เธอก็บอกอยู่เสมอว่า “เท่าที่ฉันรู้ ฉันนี่แหละคือผู้ชนะ”
เธอเลือกที่จะเดินหน้าต่อในการประกวดหลายๆ เวที เพื่อปลูกจิตสำนึกเรื่องกลุ่มคนข้ามเพศในสเปนให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เธอยังเป็นผู้สนับสนุนองค์กร Foundation Daniela อย่างเต็มตัว ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือกลุ่มเยาวชนข้ามเพศให้สามารถอยู่ในสังคมได้โดยปราศจากการแบ่งแยก มีบทสัมภาษณ์ใน Dailymail ที่เธอกล่าวว่า “สังคมไม่ได้ถูกสอนมาให้ยอมรับในความแตกต่าง และนั่นคือเหตุผลที่ฉันต้องเป็นตัวแทนออกสื่อ นี่แหละคือฉัน ซึ่งฉันไม่ได้แปลกประหลาด ฉันแค่มีเรื่องราวที่แตกต่างออกไป”
หลังจากรับตำแหน่งมิสสเปนปี 2018 เธอก็โพสต์ภาพตัวเองลงบนอินสตาแกรมส่วนตัว @angelaponceofficial พร้อมแคปชันภาษาสเปนว่า “การได้นำเสนอชื่อและสีสันแห่งสเปนสู่เวทีโลกเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ เป้าหมายของฉันคือการที่จะได้เป็นตัวแทนในการกล่าวถึงความเปิดกว้าง การเคารพ และความหลากหลาย ไม่ใช่แค่เพื่อกลุ่ม LGBTQ+ แต่เพื่อคนทั้งโลก” เธอยังทวีตข้อความสองวันหลังได้รับตำแหน่งว่า “มาสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยกัน”
กระแสของ อังเคลา ปอนเซ มาแรงมากตั้งแต่เธอเข้ารับตำแหน่ง ทำให้มีทั้งเสียงสนับสนุนที่เห็นด้วยกับการที่สตรีข้ามเพศมีสิทธิ์เท่าเทียมกับเพศหญิงบนเวทีประกวดความงาม แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงต่อต้านที่ไม่เห็นด้วย และมองว่า เวทีประกวดความงามจัดขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อสตรีที่ผ่านภาวะความเป็นผู้หญิงตั้งแต่เกิด ไม่ใช่การที่ผู้ชายคนหนึ่งจะมาผ่าตัดแปลงเพศ และเรียกตัวเองว่าเป็นผู้หญิง
อย่างไรก็ตาม อังเคลาก็เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมปัจจุบัน การสร้างภาพจำให้กับคนทั่วไปว่า สตรีข้ามเพศมีสิทธิ์ชนะการแข่งขันบนเวทีประกวดความงามได้ และสามารถร่วมทำกิจกรรมอื่นๆ ในสังคมได้เช่นเดียวกับผู้หญิง ซึ่งแน่นอนว่า หลังจากนี้เราจะเห็นการออกมารับบทบาทของ อังเคลา ปอนเซ ในฐานะมิสยูนิเวิร์สสเปนที่เป็นตัวแทนชาว LGBTQ+ เต็มตัว รวมทั้งภาพลักษณ์ของเวทีประกวดความงามที่เท่าเทียมและเปิดกว้างมากขึ้นเช่นกัน
https://www.instagram.com/p/Bkib5okBivK/?utm_source=ig_embed
“ฉันแนะนำตัวเองในชื่อ อังเคลา ปอนเซ และก็ชนะในชื่อ อังเคลา ปอนเซ มันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ และฉันไม่มีอะไรจะต้องปกปิด” – อังเคลา ปอนเซ