ปัจจุบันสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ประกาศรายชื่อ 10 สนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ (International Airport) โดยมีชื่อสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศต่อไปนี้
- สนามบินดอนเมือง (Don Mueang International Airport – VTBD)
- สนามบินสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi International Airport – VTBS)
- สนามบินเชียงใหม่ (Chiang Mai International Airport – VTCC)
- สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (Mae Fah Luang Chiang Rai International Airport – VTCT)
- สนามบินกระบี่ (Krabi International Airport – VTSG)
- สนามบินภูเก็ต (Phuket International Airport– VTSP)
- สนามบินอู่ตะเภา ระยอง – พัทยา (U-Tapao Rayong – Pattaya International Airport – VTBU)
- สนามบินหาดใหญ่ (Hat Yai International Airport – VTSS)
- สนามบินสมุย (Samui International Airport – VTSM)
- สนามบินสุราษฎร์ธานี (Surat Thani International Airport – VTSB)
ล่าสุดประเทศไทยกำลังจะมี International Airport ใหม่เพิ่มอีกแห่ง ด้วยนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคด้วย
โดย กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ล่าสุด AOT ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) รวมถึงความเหมาะสมในการจัดผังที่ดิน ด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการก่อสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 หรือท่าอากาศยานอันดามัน (Andaman International Airport)
โดยจะใช้พื้นที่บริเวณตำบลโคกกลอย และตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เนื้อที่ประมาณ 7,300 ไร่ เนื่องจาก AOT เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และมีศักยภาพมากที่สุด โดยคาดว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน และจะมีผลสรุปของ Feasibility Study ออกมา
โดยหากผล Feasibility Study ผ่านแล้ว จากนั้นขั้นตอนต่อไปคือเตรียมเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้พิจารณา หากได้รับการอนุมัติก็จะมีการว่าจ้างออกแบบรายละเอียดของโครงการต่อไป โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน
เบื้องต้นจะมีมูลค่าเงินลงทุนในโครงการประมาณ 8 หมื่นล้านบาทภายในปี 2570 และโครงการจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2573 ซึ่งท่าอากาศยานแห่งนี้มี 2 รันเวย์ รองรับผู้โดยสารได้ 22.5 ล้านคนต่อปี รองรับเที่ยวบินได้ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จะมีการจัดระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานอันดามันด้วย ซึ่งทั้ง 2 แห่งอยู่ห่างกันประมาณ 23.4 กิโลเมตร
ขณะที่แหล่งเงินลงทุนในโครงการนี้จะมาจากเงินสดภายในบริษัท รวมถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน เนื่องจากการคาดการณ์จากผลการดำเนินงานทั้งกำไรกับกระแสเงินสดในระยะข้างหน้าแล้ว บริษัทมีความสามารถเพียงพอในการลงทุน โดยยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นในการเพิ่มทุน เพื่อหาแหล่งเงินทุนนำมาใช้ลงทุนในโครงการนี้