×

นักวิจัยพบ ‘แผ่นดินแม่’ แหล่งกำเนิดร่วมกันของมวลมนุษยชาติในประเทศบอตสวานา

โดย Mr.Vop
31.10.2019
  • LOADING...
แหล่งกำเนิดมนุษย์

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ศาสตราจารย์วาเนสซา เฮย์ส ชาวออสเตรเลีย นักพันธุศาสตร์และมานุษยวิทยาจากสถาบันวิจัยทางการแพทย์การ์วาน พบว่าหากย้อนการสืบสายของตัวอย่างดีเอ็นเอไปถึงที่สุดแล้ว จะพบว่าดีเอ็นเอทั้งหมดนี้ล้วนมาจากแม่คนเดียวกัน นั่นคือหญิงคนหนึ่งที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำทางตอนใต้ของแม่น้ำแซมเบซี (Zambesi) ในประเทศบอตสวานา เมื่อ 2 แสนปีที่แล้ว
  • นั่นอาจหมายถึงเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหลายในปัจจุบัน หรือก็คือเผ่าพันธุ์ที่เรียกว่าโฮโมเซเปียนส์นี้ต่างสืบสายมาจากหญิงคนเดียวกัน บนผืนแผ่นดินเดียวกัน (สายเลือด L0) ก่อนจะอพยพแยกย้ายกันออกไปตามห้วงเวลา

ไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอ หรือ mtDNA รู้จักกันในชื่อดีเอ็นเอจากฝั่งแม่ เป็นดีเอ็นเอที่ส่งต่อจากแม่มาสู่ลูกเท่านั้น (ส่งต่อทั้งลูกชายและลูกสาว) แม้ว่าทางฝั่งพ่อจะมี mtDNA อยู่ในตัวก็ตาม แต่พวกเขาจะไม่สามารถส่งต่อ mtDNA ของตัวเองไปสู่ลูกหลานได้ และเนื่องจากไม่มีกระบวนการเกิด Recombination จึงไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่สืบทอดสายพันธุ์จากแม่สู่ลูก (Maternal line) ดังนั้นการวิเคราะห์ mtDNA จึงนิยมใช้ในการศึกษาวิวัฒนาการหรือบรรพบุรุษของสิ่งมีชีวิตย้อนกลับไปได้ยาวนานหลายล้านปี

 

แหล่งกำเนิดมนุษย์

พื้นที่ชุ่มน้ำโอคาวังโก (Okavango Delta) ในประเทศบอตสวานา ทุกวันนี้มีสภาพคล้ายคลึงกับแหล่งกำเนิดมนุษย์เมื่อ 2 แสนปีที่แล้ว
Photo: Justin Hall / Wikimedia Commons / CC BY 2.0 

 

ล่าสุด ศาสตราจารย์วาเนสซา เฮย์ส ชาวออสเตรเลีย นักพันธุศาสตร์และมานุษยวิทยาจากสถาบันวิจัยทางการแพทย์การ์วาน (Garvan Institute of Medical Research) ได้ใช้ข้อสรุปจากผลการวิเคราะห์ตัวอย่างไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอ หรือ mtDNA จำนวน 1,217 ตัวอย่างจากหลายประเทศทั่วพื้นทวีปแอฟริกา พบว่าหากย้อนการสืบสายของตัวอย่างดีเอ็นเอเหล่านั้นไปถึงที่สุดแล้วจะพบว่าดีเอ็นเอทั้งหมดนี้ล้วนมาจากแม่คนเดียวกัน นั่นคือหญิงคนหนึ่งที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำทางตอนใต้ของแม่น้ำแซมเบซี (Zambesi) ในประเทศบอตสวานา ตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ในยุคโบราณเมื่อ 2 แสนปีที่แล้ว

แหล่งกำเนิดมนุษย์

การวิเคราะห์ mtDNA สามารถสืบย้อนกลับไปหามนุษย์เพศหญิงคนแรกที่เป็นต้นกำเนิดของสายดีเอ็นเอนั้นๆ ได้

 

นั่นอาจหมายถึงเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหลายในปัจจุบัน หรือก็คือเผ่าพันธุ์ที่เรียกว่าโฮโมเซเปียนส์นี้ต่างสืบสายมาจากหญิงคนเดียวกัน บนผืนแผ่นดินเดียวกัน (สายเลือด L0) ก่อนจะอพยพแยกย้ายกันออกไปตามห้วงเวลา

 

ทีมงานของ ศาสตราจารย์วาเนสซา เฮย์ส ได้ศึกษาหลักฐานทางธรณีวิทยาและแบบจำลองคอมพิวเตอร์ พบความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของความเอียงและวงโคจรของโลก ทำให้เกิดฝนตกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ทราบว่าหลังมนุษย์ยุคใหม่ได้ถือกำเนิดและตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ที่กลายมาเป็นประเทศบอตสวานาในทุกวันนี้ราว 70,000 ปี ก็เริ่มมีการอพยพครั้งใหญ่ออกจากพื้นที่นี้ 2 ครั้ง 

 

โดยครั้งแรกมวลมนุษย์ในเวลานั้นอพยพหนีความแล้งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ และอีก 20,000 ปีต่อมาก็มีการอพยพไปในทิศตรงข้ามหรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ การอพยพใหญ่ทั้ง 2 ครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นออกจากแอฟริกาของมนุษยชาติในเวลาต่อมา จนนำไปสู่การกระจายตั้งถิ่นฐานไปทั่วโลก

ทุกวันนี้บริเวณจุดกำเนิดของมนุษยชาติตามความเห็นของ ศาสตราจารย์วาเนสซา เฮย์ส ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ริมทะเลสาบมักกาดิกกาดี (Makgadikgadi) ทางตอนเหนือของบอตสวานา กลายเป็นแอ่งเกลือที่แห้งแล้งไปเสียแล้ว (ภาพล่าง)

 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ ศาสตราจารย์วาเนสซา เฮย์ส ชิ้นนี้ได้รับการต่อต้านจากนักวิทยาศาสตร์หลายคน เช่น รีเบ็กกา แอคเคอมานน์ นักโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ กล่าวว่า “การศึกษาของศาสตราจารย์เฮย์สครั้งนี้ใช้ข้อสรุปจากการวิเคราะห์ส่วนเล็กๆ ของจีโนม ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาอย่างมาก” 

 

นักวิจัยบางคนก็ชี้ว่าถิ่นที่เกิดของโฮโมเซเปียนส์ตามงานวิจัยของศาสตราจารย์เฮย์สน่าจะเป็นเพียงแหล่งกำเนิดของมนุษย์ยุคใหม่บางกลุ่มเท่านั้น ไม่น่าจะครอบคลุมทั้งหมด บางคนก็ชี้ว่างานวิจัยชิ้นนี้ขัดแย้งกับหลักฐานจากซากฟอสซิลกะโหลกมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 1.95 แสนปีที่พบในเอธิโอเปียก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นคนละโซนของแอฟริกาอย่างที่ศาสตราจารย์เฮย์สระบุไว้ เป็นต้น

 

งานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสาร Nature 

 

ภาพ: www.sciencenews.org

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X