×

5 เหตุผลที่ควรไปเยือน ‘พระที่นั่งอนันตสมาคม’ ก่อนปิดให้เข้าชมสิ้นเดือนนี้

16.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ‘พระที่นั่งอนันตสมาคม’ เป็นพระที่นั่ง 6 แผ่นดิน เริ่มสร้างในรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในรัชกาลที่ 6 และอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ 10 จากพระราชประสงค์เพื่อใช้เป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง และประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นว่า พระที่นั่งหลังเก่า ณ ตำบลสามเสน คับแคบ ไม่กว้างขวางพอแก่การพระราชพิธีต่างๆ
  • ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนเรเนสซองส์ ผสมกับ นีโอคลาสสิก คือมีความสมมาตร มีซุ้มเสาคานรับชัดเจนเฉกเช่นศิลปะยุคกรีกโรมัน ไม่เน้นรุ่มรวยลวดลายจนบดบังโครงสร้างแบบโรโคโค (Rococo) ด้านนอกประดับด้วยหินอ่อนทั้งหมด นำเข้าจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี แหล่งผลิตหินอ่อนมีชื่อที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
  • บนเพดานโดมของพระที่นั่งฯ มีภาพเขียนสีปูนเปียกขนาดใหญ่ จำนวน 6 ภาพ แสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 6 ใช้เทคนิคการลงสีแสงเงาตามแบบจิตรกรรมตะวันตกที่ดูมีมิติ แตกต่างกับจิตรกรรมไทยดั้งเดิมที่เน้นการเขียนลายเส้นสีแบบแบนๆ

     ตอนเด็ก สมัยยุคกระโปรงบานขาสั้น เวลาโรงเรียนพาไปทัศนศึกษายังตัวเมืองเก่า หรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ทีไร เรามักบ่นในใจและรู้สึกว่า “ช่างน่าเบื่อ!  ทำไมไม่พาเราไปที่แปลกหูแปลกตาบ้าง” แต่พอโตขึ้น เรากลับพบว่า บางสถานที่เหล่านั้นช่างเจ๋งและควรค่าแก่การศึกษายิ่ง “ทำไมตอนเด็กๆ ฉันถึงไม่สนใจนะ”

     อีกไม่กี่สัปดาห์ ‘พระที่นั่งอนันตสมาคม’ และ ‘พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน’ กำลังจะปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอย่างถาวร เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมตัวอาคารครั้งใหญ่ ดูจากรูปการณ์แล้ว THE STANDARD คาดว่าคงใช้เวลาอีกนานโข กว่าจะเปิดให้บุคคลภายนอกได้เข้าชมความงดงามอีกครั้ง แต่กว่าจะถึงวันนั้น เราอยากให้คุณหาเวลาใน ช่วง 2 สัปดาห์ที่เหลืออยู่ ไปเยี่ยมชมอำลา

     และนี่คือ 5 เหตุผลความเจ๋ง ที่เรายกมาโน้มน้าวใจ เพราะไม่แน่ว่า พระที่นั่งองค์นี้อาจปิดแบบถาวร และไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมอีกเลยตลอดชีวิต

 

ภายในโถงรับรองนักท่องเที่ยว พระที่นั่งอนันตสมาคม

 

     1. เป็นพระที่นั่ง 6 แผ่นดิน

     เริ่มสร้างในรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในรัชกาลที่ 6 และอยู่จนถึงรัชกาลที่ 10 ‘พระที่นั่งอนันตสมาคม’ องค์ที่เราเห็นกันอยู่จนคุ้นชิน เป็นพระที่นั่งในพระราชวังดุสิต ที่สร้างขึ้นจากพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อใช้เป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง และประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน เพราะทรงเล็งเห็นว่าพระที่นั่งหลังเก่า ณ ตำบลสามเสน คับแคบ ไม่กว้างขวางพอแก่การพระราชพิธีต่างๆ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่ทางทิศตะวันออกของ ‘พระที่นั่งอัมพรสถาน’ สร้างพระที่นั่งหลังใหม่ขึ้น และพระราชทานนามตามชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งภายใน ‘พระอภิเนาว์นิเวศน์’ พระบรมมหาราชวังที่สร้างขึ้นในรัชสมัยในหลวง รัชกาลที่ 4 แต่ถูกรื้อถอนไปหมดแล้ว

     การก่อสร้างดำเนินมาไม่นาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการต่อ และสำเร็จบริบูรณ์ในปี พ.ศ. 2458 ใช้เวลาทั้งหมด 8 ปี

     หลังจากนั้น พระที่นั่งอนันตสมาคม ก็ถูกใช้เป็นที่ว่าราชการ และใช้ในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ จวบจนรัชกาลปัจจุบัน

 

ไม่ว่าส่วนไหนของอาคารก็เป็นหินอ่อนทั้งสิ้น

 

     2. เป็นพระที่นั่งหินอ่อนเพียงองค์เดียวในประเทศไทย

     เมื่อมีพระราชประสงค์ให้สร้างพระที่นั่ง ก็แต่งตั้ง ‘เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)’ เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง นายซี อัลเลกรี’ เป็นวิศวกร และให้ ‘มาริโอ ตามานโญ’ สถาปนิกชาวอิตาลี รับผิดชอบด้านการออกแบบและตกแต่ง โดยได้แรงบันดาลใจจากวิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นแม่แบบ

     ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนเรเนสซองส์ (Italian Renaissance) ผสมกับ นีโอคลาสสิก (Neo Classic) คือมีความสมมาตร มีซุ้มเสาคานรับชัดเจนเฉกเช่นศิลปะยุคกรีกโรมัน ไม่เน้นรุ่มรวยลวดลายจนบดบังโครงสร้างแบบโรโคโค (Rococo)

     ด้านนอกประดับด้วยหินอ่อนทั้งหมด นำเข้าจากเมืองคารารา (Carara) ประเทศอิตาลี แหล่งผลิตหินอ่อนมีชื่อที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

     จุดเด่น คือ มีหลังคาโดมอยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆ รายล้อมอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม โดยทั้งหมดทำจากทองแดง ซึ่งต่อมาเกิดสนิมสีเขียวขึ้นตามกาลเวลา

     หากใครที่ชอบเที่ยวย่านเก่า เยี่ยมชมวังและพระที่นั่งต่างๆ จะสังเกตเห็นชัดว่า พระที่นั่งอนันตสมาคม มีความสวยงามและแตกต่างจากพระที่นั่งองค์อื่นอยู่มาก ด้วยพระที่นั่งส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักทำจากไม้สักทองทั้งหลังไม่ก็ก่ออิฐโบกปูน หรือหินแกรนิต แต่ของที่นี่กลับประดับด้วยหินอ่อนทั้งหลัง และกลายเป็นพระที่นั่งหินอ่อนเพียงองค์เดียวในประเทศไทย

 

ภาพเขียนสีปูนเปียกถ่ายจากโปสการ์ดที่ระลึก

     3. ภาพเฟรสโกตระการตา

     นี่คืออีกหนึ่งความเจ๋งหลักที่เราไม่อยากให้คุณพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะความงามจากภาพเฟรสโก ฝีมือการวาดโดย ศาสตราจารย์กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) และ นาย ซี. ริโกลี (Mr. C. Riguli) นั้นวิจิตร ตระการตา และสวยงามมาก

     บนเพดานโดมของพระที่นั่ง มีภาพเขียนสีปูนเปียกขนาดใหญ่ จำนวน 6 ภาพ แสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 6 ใช้เทคนิคการลงสีแสงเงาตามแบบจิตรกรรมตะวันตกที่ดูมีมิติ แตกต่างกับจิตรกรรมไทยดั้งเดิมที่เน้นการเขียนลายเส้นสีแบบแบนๆ

     ใต้โดมกลางเป็นโดมใหญ่สุด มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ‘จปร.’ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เพดานตลอดบริเวณท้องพระโรงกลาง มีจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ‘จปร.’ สลับกับ ‘วปร.’ อันเป็นพระปรมาภิไธยย่อของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

     ร้อยทั้งร้อยมาดูแล้ว รับรองได้ว่าไม่ผิดหวัง เผลอๆ สวยกว่าพระราชวังดังๆ บางแห่งในยุโรปเสียอีก

 

 

     4. ‘ศิลป์แผ่นดิน’ นิทรรศการงานศิลป์ ที่อวดว่าคนไทยเป็นคนประณีต

 

     นอกจากความวิจิตร โอ่อ่า ของงานตกแต่งพระที่นั่งที่ชวนเราตะลึงงัน บางพื้นที่ภายในพระที่นั่งยังถูกใช้เป็นสถานที่จัดแสดงงานนิทรรศการของสถาบันสิริกิติ์ ชื่อ ‘ศิลป์แผ่นดิน’ จัดแสดงผลงานศิลปะหัตถกรรมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยคัดเลือกงานที่มีความงดงามทรงคุณค่าจนถือเป็นศิลปวัตถุของแผ่นดินเท่านั้น จากฝีมือของนักเรียนในโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา เช่น พระที่นั่งพุดตานถมทอง พระที่นั่งพุดตานคร่ำทอง เรือพระที่นั่งจำลองศรีสุพรรณหงส์ บุษบกห้ายอดไม้แกะสลัก ฉากผ้าปักป่าหิมพานต์ ฉากไม้แกะสลักตำนานเพชรรัตน์ ฯลฯ

     แต่ละชิ้นถือเป็นงานศิลป์ชั้นสูง บางชิ้นเป็นชิ้นจำลอง บางชิ้นนำไปใช้จริงในบางโอกาส สวยงามหาชมยาก ซึ่งหากถึงคราวปิดพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อไร นิทรรศการศิลป์แผ่นดิน มีโครงการจะย้ายไปเปิดให้ได้ชมยังพิพิธภัณฑ์ชั่วคราว ณ ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา ในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า ส่วนจะเปิดวันไหนแน่นั้น ต้องติดตามผ่านเว็บไซต์ www.artsofthekingdom.com เป็นระยะ

 

พระราชพิธี ‘ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช’

 

     5. เป็นสถานที่สำคัญที่อยู่คู่ทุกเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย

     ตั้งแต่สร้างเสร็จบริบูรณ์ ไม่ว่าจะงานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง งานสำคัญทางการเมือง พระที่นั่งอนันตสมาคม ก็ถูกใช้งานทุกวาระโอกาส สมตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

อาทิ

  • สถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
  • ถูกใช้เป็น ‘รัฐสภาแห่งแรก’ ของประเทศไทย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก่อนย้ายไปยัง อาคารรัฐสภา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กันในปัจจุบัน
  • เมื่อปี พ.ศ.​ 2549 เป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธี ‘ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช’ ซึ่งมีพระราชอาคันตุกะจาก 25 ประเทศ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเข้าร่วมงาน: พระราชพิธีครั้งนั้น นับเป็นการชุมนุมของพระประมุขจากประเทศต่างๆ มากที่สุดในโลก
  • พระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
  • การเสด็จออกมหาสมาคมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 4 ครั้ง
  • และล่าสุดวันที่ 6 เมษายน 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

 

     นี่เป็นเพียง 5 เหตุผลง่ายๆ ที่เราสรุปมาให้คุณดูแบบง่ายๆ ว่าพระที่นั่งอนันตสมาคมมีคุณค่าและน่าไปเยี่ยมชมเพียงใด โดยมีกำหนดเปิดให้เข้าชมจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 นี้เท่านั้น

     เช็กวันว่างให้พร้อม และไปชมไปยลให้เห็นกับตา แอบแนะนำว่าถ้าคุณมีเวลาไม่มากนัก และต้องการชมพระที่นั่งอนันตสมาคมเพียงแห่งเดียว ให้เข้าประตูทางฝั่งถนนอู่ทองใน ที่เขียนว่า พระที่นั่งอภิเศกดุสิต ใกล้กว่ากันเยอะ เดินนิดเดียวก็ถึงพระที่นั่งฯ แล้ว

 

Address: ถนนราชวิถี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300

Open: เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 น.

Ticket: บุคคลทั่วไป 150 บาท นักเรียน นักศึกษา 75 บาท ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชม 15.30 น.

Contact: 0 2283 9411

Website: www.artsofthekingdom.com

Map:

 

 

อ้างอิง

FYI
  • บางร่างภาพเฟรสโกในพระที่นั่งอนันตสมาคม นายริโกลีได้ทดลองร่างขึ้นก่อนเขียนจริง โดยต้นฉบับงานร่าง เก็บรักษาไว้ ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ ในบริเวณพระราชวังดุสิต เช่นเดียวกัน
  • การเข้าชมโปรดแต่งกายสุภาพ ผู้หญิงสวมกระโปรงคลุมเข่า ผู้ชายสวมกางเกงขายาว ไม่มีรอย ปุ ปะ ฉีกขาด
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X