×

‘1 ความฝัน’ ของคนรุ่นใหม่ในมุมมอง อานันท์ ปันยารชุน

โดย THE STANDARD TEAM
25.08.2020
  • LOADING...
อานันท์ ปันยารชุน เคน นครินทร์ วนกิจไพบูล

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • อานันท์ ปันยารชุน กับมุมมองในช่วงสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กับปรากฏการณ์การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 ที่มาพร้อมกับ 10 ข้อเรียกร้องและ 1 ความฝันต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ในปี 2534 และปี 2535 หลังการรัฐประหารยึดอำนาจ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ และหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

 

อานันท์คือตำนานที่ยังมีชีวิตและไม่เคยหลับ ในวัย 88 ปี เขายังเฝ้ามองปรากฏการณ์ของบ้านเมืองอย่างใกล้ชิด และเป็นที่รับรู้กันว่ามักมีบุคคลที่เกี่ยวข้องในเส้นทางการเมืองทั้งรุ่นเก่าและใหม่แวะเวียนมาขอฟังความคิดเห็นจากเขาเสมอ

 

ในฐานะสื่อมวลชน เราอยากให้ความเห็นของเขาเผยแพร่ไปไกลกว่าบทสนทนากับคนระดับบนไม่กี่คนในห้องเล็กๆ ให้คนในสังคมมีส่วนร่วม ได้รับฟังมุมมองและข้อเสนอแนะจากชายผู้ผ่านประสบการณ์มายาวนานในหลายแวดวง 

 

โดยเฉพาะในช่วงสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กับปรากฏการณ์การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 ที่มาพร้อมกับ 10 ข้อเรียกร้องและ 1 ความฝันต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

 

ผมว่าต้องใจเย็นมากขึ้น มันไม่มีอะไรที่สร้างเสร็จภายในคืนเดียว บางอย่างอาจจะถูก แต่รีบร้อนเกินไปก็ผิด…

 

ทางฝ่ายรุ่นหนุ่มสาวต้องแสดงความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ไม่ใช่เด็กที่อยากได้ลูกกวาดก็ร้องไห้กระทืบเท้าจะเอาลูกกวาดให้ได้ มันไม่ใช่อย่างนั้น สรุปแล้วผู้มีอำนาจ-ผู้ใหญ่ต้องทำตัวให้เป็นเด็กลง และรุ่นหนุ่มสาวต้องทำตัวให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

 

 

 

คุณอานันท์มองปรากฏการณ์นี้อย่างไรครับ

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดในประเทศไทยแห่งเดียว มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก มันเกิดขึ้นในทุกประเทศ ในทุกระบอบการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เต็มใบ ประเทศที่เป็นสังคมนิยม ประเทศคอมมิวนิสต์ ประเทศเผด็จการอะไรต่างๆ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดของประชาชนส่วนใหญ่ หลายแห่งมีเหตุการณ์หลายอย่างไปกระตุ้นให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนผิวดำโดนตำรวจยิงตายบ่อยๆ ในอเมริกา หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ผมมองว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเป็นเรื่องที่เราต้องรับความจริงให้ได้ ผมจะไม่พูดว่าอะไรผิด อะไรชอบ อะไรถูกหรือไม่ถูก แต่ผมจะอธิบายในแง่ที่ว่าความเป็นจริงของโลกนี้คืออะไร ความเป็นจริงของโลกคือเด็กสมัยใหม่หรือคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เขาได้รับข้อมูลมากมายในปัจจุบันนี้ สมัยก่อนไม่มีทวิตเตอร์ ยูทูบ หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ 

 

ดังนั้นข้อมูลที่ได้มามันเป็นข้อมูลสด มันทันกับเหตุการณ์ เรียลไทม์ เวลามันมีข้อมูลมากมาย ปกติคนเราก็จะต้องมีวิจารณญาณว่าข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือเปล่า สมบูรณ์หรือเปล่า หรือเป็นข้อมูลที่สร้างสรรค์หรือเปล่า เพราะฉะนั้นการนำข้อมูลไปใช้ต่อมันเป็นสิ่งที่สำคัญ 

 

ดังนั้นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่บางคนอาจจะใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม แต่ก็มีหลายครั้งหลายคราวที่ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะไปลามปามคนอื่น หรือไปตัดสินคนอื่น ถ้าเราถือว่าเรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ การแก้ปัญหาก็จะแก้ตามธรรมชาติด้วย การใช้อำนาจปราบปรามเป็นสิ่งที่ไม่น่ากระทำ หรือการข่มขู่ก็ไม่น่ากระทำ ความจริงที่ปรากฏคือมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ที่ผมดูจากเหตุการณ์ทั่วไปแล้ว การเดินขบวนของนักศึกษาในประเทศ ไม่มีใครเป็นผู้นำในระดับชาติ ต่างคนต่างมีความเข้าใจและความต้องการของตัวเอง 

 

ดังนั้นเราอย่าไปฝักใฝ่กับปัญหามากเกินไป ทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ ทุกเขตของการศึกษา ผมว่าความต้องการมันไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ถ้าจะมองโดยทั่วไปแล้ว ความต้องการที่จำเป็น ที่กระทบกระเทือนปากท้องของประชาชน เช่น ความต้องการที่อยากทำให้ความยากจนของประชาชนลดน้อยลงไป หรือความต้องการที่จะเห็นช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนไม่กว้างขึ้น เพราะที่ผ่านมาในโลกโลกาภิวัตน์ คนรวยก็รวยขึ้น คนจนก็จนลง หรือปัญหาที่จะช่วยเศรษฐกิจ คนว่างงาน ปีนี้คนจะว่างงานประมาณ 8 ล้านคน ข้าวยากหมากแพง ราษฎรทั่วไปได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ชาวไร่ชาวนาก็ลดน้อยลงไป ราคาพืชผลต่างๆ ตกต่ำ สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบทั้งหมด เราไม่สามารถระบุได้ว่าเขาต้องการอะไรกันแน่ในระดับชาติ แต่ในระดับพื้นที่ ความต้องการก็แตกต่างกัน ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ ผู้มีอำนาจควรจะต้องมองว่ามันคงไม่มีคำตอบเดียว มันอาจต้องการหลายคำตอบ คำตอบนี้เหมาะสมกับพื้นที่นี้ คำตอบอีกอันก็เหมาะกับอีกพื้นที่หนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญคืออยากให้เกิดการดูแล อยากจะเห็นคนที่เรียกว่าเป็นผู้ใหญ่หรือมีอำนาจเปิดใจให้กว้างขึ้นกว่านี้หน่อย คนหนุ่มสาวเองก็ต้องเปิดใจให้กว้างเหมือนกัน ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองทำมาจะต้องถูกเสมอไป เราอาจจะมีอุดมการณ์ ความตั้งใจที่ดี แต่เราต้องมองว่าแค่นั้นมันไม่พอ เราต้องดูด้วยว่าตามความจริงของสังคมไทย ตามจารีตประเพณี ตามความนิยม ค่านิยมของสังคมในขณะนั้นมันก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นการจะทำอะไรต้องดูกาลเทศะด้วย ใจแคบก็ไม่ดี คนเราต้องใจกว้าง ทั้งสองฝ่ายต้องใจกว้าง ต้องใช้ความอดทนอดกลั้น พยายามคุยกัน จะคุยกันเปิดเผยหรือคุยกันภายในก็ตาม แต่การคุยเราต้องฟังให้ดี เพราะการจะแก้ปัญหาต่างๆ เราอาจจะได้ยิน แต่เราฟังไม่ทัน หรือฟังแล้วไม่เข้าใจดีก็ไปด่วนตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง อารมณ์ต้องเย็นและเปิดใจกว้างทั้งสองฝ่าย การบริหาร การแก้ไขปัญหา ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ปัญหาอะไร แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร เราต้องเพ่งเล็งถึงความรู้รักสามัคคี เราต้องเพ่งเล็งถึงสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ผลประโยชน์ ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันไม่ใช่เรื่องแพ้ชนะแล้ว มันเป็นเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้ว และมันจะเกิดตลอดไปด้วย เราจะบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร ต้องจัดการโดยความเป็นธรรม ด้วยความพยายามไว้ใจซึ่งกันและกัน ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ความจริง มันต่างกันนะ ความจริงของสังคมไทยเป็นอย่างไรก็ต้องอยู่บนพื้นฐานนั้นด้วย

 

ความแตกต่างของอายุ ด้านหนึ่งมันมีผลดี แต่อีกด้านหนึ่งมันก็มีความเสี่ยงมาก ถ้าผู้ใหญ่เห็นเด็กไม่ให้ความเคารพ เขาจะมีความรู้สึก อันนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ ฉันใดฉันนั้น ถ้าเกิดรุ่นหนุ่มสาวคุยกับผู้มีอำนาจ แล้วคิดว่าผู้มีอำนาจใช้อำนาจเต็มอัตรา ไม่ผ่อนปรนเลย เขาก็จะรู้สึก ก็ต้องรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน 

 

แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอ 2 จุดยืนและ 1 ความฝัน โดยเฉพาะ 1 ความฝันทำให้เกิดความคิดที่แตกต่างกันมาก คุณอานันท์มองว่าคนที่มีอำนาจต้องรับฟังข้อเสนอเหล่านี้แล้วมาปฏิบัติอย่างไร

ไม่ใช่รับฟังแล้วมาปฏิบัติ ต้องรับฟังแล้วมาคุยกัน ผมไม่อยากใช้คำว่าเจรจา แต่มาคุยกันให้รู้เรื่อง ไม่มีการใช้ความรุนแรง ผู้มีอำนาจอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ ในการคุยกันอาจจะต้องผ่อนปรนอำนาจไปบ้าง แต่ผู้ที่ไม่มีอำนาจคือหนุ่มสาวรุ่นใหม่ อย่าไปคุกคามเขา ความแตกต่างของอายุ ด้านหนึ่งมันมีผลดี แต่อีกด้านหนึ่งมันก็มีความเสี่ยงมาก ถ้าผู้ใหญ่เห็นเด็กไม่ให้ความเคารพ เขาจะมีความรู้สึก อันนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ ฉันใดฉันนั้น ถ้าเกิดรุ่นหนุ่มสาวคุยกับผู้มีอำนาจ แล้วคิดว่าผู้มีอำนาจใช้อำนาจเต็มอัตรา ไม่ผ่อนปรนเลย เขาก็จะรู้สึก ก็ต้องรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน เพราะว่าการที่จะพูดคุยกัน มันต้องเริ่มสร้างความเข้าใจกัน ไม่ใช่มาถึงก็มานั่งเถียงกันหรือทะเลาะกัน เถียงกันได้ แต่เถียงกันด้วยเหตุผล ไม่ใช่มองว่าฝ่ายตรงข้ามคือศัตรู จริงๆ เป็นฝ่ายเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่มีความคิดแตกต่าง ความคิดแตกต่างมันไม่ใช่อาชญากรรม ความคิดแตกต่างเป็นเรื่องของธรรมชาติ ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันต้องเริ่มสร้างเป็นขั้นตอนขึ้นมา สร้างความเข้าใจ และนำไปสู่ความไว้ใจซึ่งกันและกัน จนสุดท้ายนำไปสู่ความศรัทธาหรือมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ถ้าเกิดไม่ถึงขั้นที่ 3 ผลลัพธ์ก็จะออกมาไม่ดี คุยกันอย่างเปิดใจโดยไม่มีอคติซึ่งกันและกัน รุ่นหนุ่มสาวคิดว่าผู้ใหญ่ต้องยอมเด็ก ไม่ใช่แบบนั้น มันไม่ใช่เรื่องของใครยอมใคร

 

 

 

ข้อเสนอเรื่องสถาบันที่มีคนพูดถึงกันเยอะมาก ทนายอานนท์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ คณะประชาชนปลดแอกที่พูดถึงความฝัน คุณอานันท์มองเรื่องนี้อย่างไร

ต้องดูสภาพความจริงของสังคมไทยว่ารับได้หรือไม่ได้ ความฝันกับความถูกต้องมันก็แตกต่างกัน อนาคตคือความหวัง แต่ปัจจุบันคือความจริง ต้องพูดคุยกันบนฐานของความจริง 

 

คุณอานันท์คิดว่าเราควรจะพูดคุยกันเรื่องนี้มากขึ้นไหมครับ

ผมไม่รู้ ผมไม่ได้อยู่ทั้งสองฝ่าย แต่ประเด็นที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกขึ้นมาก็น่าจะคุยกันได้ แต่ต้องระมัดระวังคำพูด ถ้าเกี่ยวกับสถาบัน อย่าก้าวร้าว ต้องสุภาพ ต้องพูดโดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์ของไทยที่ให้ความเคารพ ความสักการะนับถือ สถาบันมีมากว่า 800 ปี อย่าเอาอารมณ์หรืออุดมการณ์มาใส่อย่างเดียว ไม่ว่าจะคุยเรื่องอะไร ไม่ว่าจะนำไปสู่ที่ใด ต้องดูว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรในทางปฏิบัติด้วย เราต้องแยกให้ออกว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริง อะไรเป็นความฝัน พยายามเข้าสู่ความจริงมากขึ้นกว่านี้ แต่สิ่งที่ผมคิดว่าจะได้รับการสนับสนุนมากกว่าสิ่งอื่นใดคือประเด็นของการปลดแอกความจน ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของคนรวยกับคนจน ความไม่ยุติธรรมในทางเศรษฐกิจ ทางสังคม หรือทางตุลาการ ดังนั้นต้องวางลำดับก่อนหลังด้วยว่าอะไรต้องทำก่อนทำหลัง จริงๆ สำคัญทุกเรื่อง การแก้รัฐธรรมนูญก็สำคัญ เรื่องขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลก็สำคัญ ไม่ใช่ว่าทำเรื่องนี้แล้วจะไม่ทำเรื่องอื่น ต้องทำพร้อมกัน แต่ในระหว่างที่ทำพร้อมกัน มันจะต้องให้ความสำคัญแตกต่างกัน ความเร่งด่วนแตกต่างกัน เพราะขณะนี้ยิ่งขยายประเด็นมากขึ้น ความยากก็มากขึ้น มี 3 ข้อใช่ไหม ให้รัฐบาลออก แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา ตอนหลังก็ขยายไปเรื่อยๆ แล้วประเด็นที่ผมว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนโดยทั่วไป คนที่ไม่ได้ฝักใฝ่ทางการเมือง คือเรื่องที่กระทบกระเทือนปากท้องของประชาชน เรื่องปากท้องต้องมาก่อน 

 

ตอนนี้เพดานในการพูดเรื่องสถาบันเริ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หลายคนก็อาจจะไม่คุ้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้ คุณอานันท์มองอย่างไรกับเพดานแบบนี้ 

ผมไม่อยากพูดถึงเรื่องเพดาน ผมอยากให้มีการศึกษามากขึ้น เพราะผมก็เคยทำงานรับราชการมา เคยทำงานในภาคเอกชน ก็มีประสบการณ์ หลายสิ่งหลายอย่างที่มีการพูดกันในสังคมมันไม่ตรงกับความจริง มันเป็นข่าวแปลกปลอมมาก เป็นข่าวที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Speculation คิดเอาเอง ผมคิดว่าต้องหาความจริงมากขึ้น 

 

ไม่มีอะไรที่สร้างเสร็จภายในคืนเดียว บางอย่างอาจจะถูก แต่รีบร้อนเกินไป บางอย่างมันยังไม่สุกไม่งอม ต้นไม้ยังมีฤดูกาล จังหวะสำคัญ วิธีการสำคัญ

 

 

คุณอานันท์เป็นคนหนึ่งที่เคยพูดถึงเรื่องสถาบันเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ตอนนี้มันมีข้อเสนอที่ออกมา 10 ข้อ หลายๆ คนก็ระมัดระวังในการพูดถึง คุณอานันท์คิดว่าสังคมควรจะมองเรื่องนี้อย่างไรครับ

ผมว่ามันก็พูดออกมาเป็นสาธารณะแล้ว อยู่ที่เราจะจัดการกับปรากฏการณ์นี้อย่างไร ผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะบอกว่า 10 ข้อนี้ควรพูดหรือไม่พูด มันอยู่ที่สองฝ่าย เป็นเรื่องของการบริหาร ประเด็นมันก็มีความเสี่ยงในตัวมันเอง 

 

ถ้าจะเริ่มบริหาร ฝั่งที่เป็นผู้มีอำนาจควรจะเป็นคนที่เปิดใจก่อนไหมครับ

ผมไม่รู้นะ ผมไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่คนรุ่นหนุ่มสาว ไม่ได้เป็นคู่กรณี ผมว่าต้องคุยกันให้รู้เรื่องก่อน ประเด็นมันมีที่มาที่ไป ผมว่าตอนนี้ที่มาที่ไปมันยังไม่ตรงกัน ถ้าเกิดมันยังไม่ตรงกัน คุยกันไปมันก็ทะเลาะกัน มันต้องหาพื้นที่ที่เห็นชอบด้วยกัน ขณะนี้มันยังไม่มีพื้นที่ที่เห็นสอดคล้องกัน 

 

ในมุมมองของคุณอานันท์เองที่มีประสบการณ์เป็นคนบริหารจัดการหลายๆ เรื่อง ถ้าคุณอานันท์สามารถบริหารจัดการเรื่องนี้ได้ คิดว่ามีคำแนะนำไหมครับ

ไม่มีคำแนะนำ เพราะถ้าแนะนำไปก็ไม่มีประโยชน์ หนึ่ง เขาจะฟังผมหรือเปล่าผมก็ไม่รู้ สอง ผมเองก็ไม่ได้มีข้อมูลสมบูรณ์ ดังนั้นอะไรก็ตามที่ผมไม่มีข้อมูลสมบูรณ์ ผมไม่อยากพูด เพราะพูดไปแล้วมันเป็นการเดา แล้วสังคมอยู่ด้วยการเดาไม่ได้ สังคมต้องอยู่ด้วยพื้นฐานของความจริง ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จจริงมันเห็นง่าย ปรากฏการณ์ข้อเท็จจริงคือรถชนกัน แต่ความจริงอยู่ที่ไหน คนยืนอยู่ 4 มุมถนน ข้อเท็จจริงคือรถชนกัน แต่ความจริงใครผิดไม่รู้ คนอยู่ข้างขวาเห็นอีกอย่าง คนข้างซ้ายก็เห็นอีกอย่าง

 

ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องสถาบันอย่างเดียว มันเกิดจากว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนแต่ละรุ่น แต่ละยุคสมัย สิ่งที่ผมคิดในอดีตอาจจะถูกในระดับคนแก่ เพราะโลกสมัยนี้ไม่ได้ขึ้นกับคนที่อายุ 88 ขึ้นอยู่กับคนรุ่นหนุ่มสาว กับคนที่อยากเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เขามีความหวังในอนาคต อนาคตเขามีความหวังว่าเรียนจบแล้วจะมีงานทำ แล้วงานที่เขาทำมีเงินเดือนเพียงพอที่เขาจะเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียได้ เพราะถ้าเกิดสังคมไหนไม่มีความหวังแล้ว สังคมนั้นก็ดับมอดไป 

 

ดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของประชาชนทั่วไปที่จะช่วยเสริมสร้างความหวังนี้ให้เป็นความจริง เป็นหน้าที่ของทุกคน จะส่งเสริมอย่างไรก็ต้องอาศัยพื้นฐานของความจริงว่าเรื่องนี้ไปได้แค่ไหน เรื่องนี้ทำได้แค่ไหน ควรจะทำเสร็จเมื่อไร เพราะถ้าเกิดเราเรียกร้องประชาธิปไตย เราเรียกร้องนั่นนี่ สิ่งที่เราต้องเรียกร้องคือทุกคนต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่ว่าฉันมีหน้าที่เดินขบวนอย่างเดียว หรือไม่ใช่ว่าฉันมีอำนาจแล้วปราบอย่างเดียว ไม่ใช่ เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงคือการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่าไปโทษคนอื่น ดูที่ตัวเราเอง

 

 

 

แต่ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือบางคนมองอนาคตไม่เหมือนกัน กลุ่มนี้มองแบบนั้น เห็นการเปลี่ยนแปลง อีกกลุ่มหนึ่งอาจจะมองว่าอนาคตของฉันอยากอยู่แบบมั่นคง ไม่อยากเปลี่ยนแปลง จะทำอย่างไรให้มองไปในอนาคตเดียวกันแล้วอยู่ร่วมกันได้

ไม่รู้ ต้องใจเย็นมากขึ้น ไม่มีอะไรที่สร้างเสร็จภายในคืนเดียว บางอย่างอาจจะถูก แต่รีบร้อนเกินไป บางอย่างมันยังไม่สุกไม่งอม ต้นไม้ยังมีฤดูกาล จังหวะสำคัญ วิธีการสำคัญ 

 

หลายฝ่ายเริ่มกังวลถึงความรุนแรงว่าจะย้อนกลับไปในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์

เหมือนรัฐบาลจะพยายามเปิดใจมากขึ้น แต่ความจริงเป็นอย่างไรผมไม่แน่ใจ แต่ผมคิดว่าทางฝ่ายหนุ่มสาวต้องแสดงความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ไม่ใช่เด็กที่อยากได้ลูกกวาดแล้วร้องไห้ สรุปคือผู้มีอำนาจต้องทำตัวให้เด็กลง แล้วรุ่นหนุ่มสาวต้องทำตัวให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และมองผลประโยชน์ส่วนรวม อย่าเอาแต่ใจตัวเอง

 

คุณอานันท์มีความหวังมากน้อยแค่ไหน

ผมมีความหวังในรุ่นหนุ่มสาวนะ ผมไม่ได้มองรุ่นหนุ่มสาวในเรื่องของการเมืองอย่างเดียว ผมให้ความสนใจคนรุ่นหนุ่มสาวทั่วๆ ไป คนที่ผมคุยด้วย คบค้าสมาคมด้วยทางธุรกิจ ผมมีความหวังมากว่าเด็กสมัยใหม่เก่ง แต่ผมต้องมีการประคับประคองตัวเองให้ราบรื่นไป คือใช้คำว่า Nurture ผมว่าตั้งแต่พ่อแม่และครูบาอาจารย์ต้องทำให้รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เหมือนทุกสังคมในโลกนี้ ถ้าเขารู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ถูกลืมไป ถ้าเขามีความรู้สึกแบบนี้นานไปก็ไม่ดี ต้องรักษาให้เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของสังคม เหมือนคนรุ่นผู้ใหญ่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของสังคม ก็ต้องค่อยๆ เข้าหากันช้าๆ ทีละขั้นตอน ไม่ต้องรีบ

 

 

ส่วนตัวคุณอานันท์เอง ทำอย่างไรให้ยังเปิดรับสิ่งใหม่ๆ 

นี่เป็นนิสัยผมเอง ผมชอบคุยกับคนที่ความเห็นไม่ตรงกับผม ถ้าผมคุยกับใคร ผมไม่ได้คิดว่าผมจะต้องไปโน้มน้าวเขา แต่ผมอยากจะรู้ว่าอะไรคือเหตุผลที่เขาคิดอย่างนี้ ผมไม่ได้เอาชนะไง อยากรับฟัง และผมได้ความรู้เพิ่มเติม ผมเป็นอย่างนี้ ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่อาฆาตพยาบาท ไม่หลงระเริง 

 

เราคุยกันว่าคุณอานันท์พ้นจากความทะเยอทะยาน ทำไมคุณอานันท์คิดว่าเรื่องนี้สำคัญ

เพราะมันพาดพิงไปถึงความหวังด้วย ความหวังที่เกินขอบเขต โอกาสที่จะสำเร็จมันก็น้อย พอความสำเร็จไม่เกิดขึ้นก็เกิดความท้อแท้ เกิดความผิดหวัง เหมือนคำโบราณที่ว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ มันอยู่ที่ตัวเอง ผมถึงบอกว่าชีวิตเรามีความพอเพียง พอดี สุดท้ายคือพอใจ ถ้าคุณมีแต่พอเพียง พอดี แต่ไม่พอใจ สุดท้ายมันก็ไม่ดี เมื่อคุณพอใจได้ คุณก็จะปล่อยวางได้

 

นี่คือหลักการใช้ชีวิตและการบริหารที่ทำให้ทุกครั้งเวลาที่ผมได้รับตำแหน่งอะไรก็จะไม่ได้กำมันไว้นาน และพร้อมที่จะปล่อยมันได้เสมอ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising