หลังเกิดกรณีที่ เกรียงไกรศร คำมุง วัย 22 ปี ชาวจังหวัดน่านกินเห็ดไข่ห่าน (เห็ดพิษ) และดื่มสุราร่วมด้วย แล้วมีอาการปวดท้องกลางดึก ถ่ายเหลว และอาเจียน จนต้องหามส่งโรงพยาบาล ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยอาการไตวายเฉียบพลันนั้น
ล่าสุด แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเตือนประชาชนที่กินเห็ดในช่วงนี้ว่า ขอให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากในช่วงฤดูฝนของทุกปีจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเห็ดที่มีพิษรุนแรงถึงชีวิตที่พบบ่อยคือ เห็ดระโงกหิน, เห็ดระงากหรือเห็ดสะงาก และเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับเห็ดระโงกที่กินได้ จึงควรสังเกตให้ดี และหลีกเลี่ยงเห็ดที่มีสีน้ำตาลที่ปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีหมวกสีขาว เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นรูๆ แทนที่จะเป็นช่องๆ คล้ายครีบปลา เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นในมูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ ที่สำคัญไม่ควรเก็บหรือซื้อเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหารหรือกินเห็ดดิบ
“เดิมทีเห็ดมีประโยชน์ทางโภชนาการ เป็นแหล่งโปรตีนที่ดี มีใยอาหาร โพแทสเซียมสูง มีโซเดียมและน้ำตาลต่ำ และยังอุดมไปด้วยวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบี ซึ่งจะช่วยควบคุมการทำงานของระบบย่อยอาหาร เป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ซีลีเนียม ทำหน้าที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โพแทสเซียมทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ สมดุลของน้ำในร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาทต่างๆ มีทองแดง ทำหน้าที่ช่วยเสริมการทำงานของธาตุเหล็ก” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว
นอกจากนี้เห็ดยังประกอบด้วยโพลีแซคคาไรด์ เช่น กลูแคน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยบางชนิดทำปฏิกิริยาร่วมกับแมคโครฟาจ ที่คอยทำหน้าที่ทำลายเซลล์แปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย รวมถึงพวกไวรัสและแบคทีเรียอื่นๆ ซึ่งเห็ดที่มีโพลีแซคคาไรด์สูง ได้แก่ เห็ดหอม, เห็ดนางรม, เห็ดหูช้าง และเห็ดกระดุม เป็นต้น
ทั้งนี้ยังมีเห็ดอื่นๆ ที่คนทั่วไปนิยมนำมาบริโภค เช่น เห็ดฟาง, เห็ดนางฟ้า, เห็ดหูหนู, เห็ดแชมปิญอง, เห็ดโคน เห็ดออรินจิ และเห็ดเข็มทอง ที่สำคัญก่อนนำเห็ดมาปรุงอาหาร ต้องล้างน้ำให้สะอาดหลายๆ ครั้ง หรือล้างตามขั้นตอนการล้างผัก หลังจากนั้นค่อยนำมาปรุงอาหาร และปรุงให้สุกทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยในการรับประทานแต่ละครั้ง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: