รองอธิบดีกรมอนามัยเผยว่า เหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ต้องทำงานในออฟฟิศยุคปัจจุบัน เสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเตือนให้สังเกตว่า มีอาการปวดหลังเรื้อรัง, ปวดศีรษะเรื้อรัง, มือชา, เอ็นอักเสบ และนิ้วล็อกหรือไม่ หากพบว่าเข้าข่าย แนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมในขณะทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงโรคออฟฟิศซินโดรม
เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า วัยทำงานในยุคปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ซึ่งอาการที่เป็นสัญญาณเตือนและพบบ่อยคือ ปวดหลังเรื้อรังจากการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระบังลมขยายได้ไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ทำให้ง่วงนอน ศักยภาพในการทำงานไม่เต็มร้อย รวมถึงอาการปวดศีรษะเรื้อรัง (Tension Headache) ที่สะสมจากความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความร้อน และการขาดฮอร์โมนบางชนิด เป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีอาการมือชา, เอ็นอักเสบ, นิ้วล็อก, การอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ, เส้นเอ็น และนิ้วมือ ซึ่งเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ การจับเมาส์ในท่าเดิมนานๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วล็อก หรือข้อมือล็อกได้ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาการจะรุนแรงจนถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้
สำหรับวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมในขณะทำงาน รองอธิบดีกรมอนามัยได้แนะนำอยู่ 7 วิธี ซึ่งสามารถทำได้ทันที ดังนี้
- ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้เหมาะสม นั่งสบาย
- หากใช้คอมพิวเตอร์ กึ่งกลางของจอควรอยู่ในระดับสายตา การพิมพ์งาน แป้นคีย์บอร์ดควรอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ ใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน และสามารถเคลื่อนไหวได้แบบไม่จำกัดพื้นที่
- ขณะนั่งทำงาน ควรนั่งหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้ กะพริบตาบ่อยๆ พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 10 นาที เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก 1 ชั่วโมง
- ปลูกต้นไม้ในร่ม ช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตาจากการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบ 5 หมู่
- ควรเปิดหน้าต่างสำนักงาน เพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทบ้าง อย่างน้อยในตอนเช้าและพักกลางวัน
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: