×

กรมอนามัยเตือน 12 จังหวัดช่วงวันที่ 4-6 พ.ค. ดัชนีความร้อนอยู่ระดับอันตรายมาก สถิติปี 67 มีผู้เสียชีวิตจากความร้อน 38 ราย

โดย THE STANDARD TEAM
04.05.2024
  • LOADING...
ดัชนีความร้อน

วานนี้ (3 พฤษภาคม) นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์อากาศร้อนในเดือนเมษายนเข้าสู่เดือนพฤษภาคมของประเทศไทย พบว่าบางวันมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และจากการเฝ้าระวังค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) ของประเทศไทย ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่รู้สึกร้อนมากกว่าอุณหภูมิอากาศจริง โดยคิดจากค่าอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ 

 

โดยแบ่งระดับความรุนแรงต่อสุขภาพเป็น 4 ระดับ คือ ระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว), ระดับเตือนภัย (สีเหลือง), ระดับอันตราย (สีส้ม) และระดับอันตรายมาก (สีแดง) และตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ – 3 พฤษภาคม พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับอันตรายมาก (สีแดง) หรือมากกว่า 52 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้เกิดการเจ็บป่วยจากความร้อน 

 

นพ.อรรถพลกล่าวต่อว่า อาการที่พบได้บ่อยในช่วงอากาศร้อน ได้แก่ ผื่น ตะคริว ลมแดด เพลียแดด และฮีทสโตรกได้ โดยเฉพาะฮีทสโตรกซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงที่สุดของโรคที่เกิดจากความร้อน เนื่องจากอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ผู้ที่ติดสุรา ผู้ที่มีภาวะทางจิตเวช ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน และผู้ที่มีโรคประจำตัว 

 

โดยปี 2567 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากความร้อนแล้วกว่า 38 ราย พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว และดื่มสุราเป็นประจำ

 

นพ.อรรถพลกล่าวต่อว่า ประชาชนควรปฏิบัติตนเพื่อป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากอากาศร้อนในช่วงนี้ ดังนี้ 

 

  1. ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ ค่าดัชนีความร้อน และพิจารณาเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด หรือดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตราย 
  2. ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ และสังเกตสีปัสสาวะ หากมีสีเข้มแสดงว่าร่างกายขาดน้ำ ให้ดื่มน้ำทันที 
  3. แม่ที่ให้นมลูกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอวันละ 2 ลิตร หรือ 8-10 แก้วขึ้นไป เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป และช่วยป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ 
  4. งดดื่มแอลกอฮอล์ ของมึนเมา เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ชาเขียว น้ำอัดลม 
  5. สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี 
  6. ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้คัดจมูก ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคจิตและจิตเวช อาจส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ผู้ที่รับประทานยาดังกล่าวจึงควรหมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้ปรึกษาแพทย์ 
  7. ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร แรงงานก่อสร้าง หรือออกกำลังกาย ควรทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อสังเกตอาการและช่วยเหลือได้ทันหากมีอาการ 
  8. ผู้สูงอายุ ควรดื่มน้ำบ่อยๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด และสังเกตอาการผิดปกติเป็นพิเศษ หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีผิวหนังร้อนแดง ชีพจรเต้นเร็วและแรง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง เป็นลม หมดสติ ให้รีบปฐมพยาบาล โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายลดลงโดยเร็ว และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล หรือโทร 1669

 

นพ.อรรถพลกล่าวต่อว่า หลังจากสถานการณ์ความร้อนในช่วงเดือนพฤษภาคม คาดการณ์ว่าค่าดัชนีความร้อนจะมีแนวโน้มลดลง แต่ในช่วงระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2567 คาดการณ์ว่าอาจมีบางพื้นที่มีค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตรายมากใน 12 จังหวัด ได้แก่ ยะลา, ภูเก็ต, กระบี่, ตราด, ชลบุรี, ปัตตานี, สุราษฎร์ธานี, พังงา, ระยอง, จันทบุรี, สมุทรปราการ, และกรุงเทพมหานคร จึงขอให้ประชาชนสังเกตอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมอนามัย หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากความร้อนได้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising