×

‘เอเซีย พลัส’ วิเคราะห์ ‘3 เหตุผล’ Fed ยังไม่รีบถอนคันเร่งลดมาตรการ QE

26.01.2021
  • LOADING...
เอเซีย พลัส

ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ โจ ไบเดน เขาก็เดินหน้าเร่งมาตรการที่เคยหาเสียงไว้ โดยเฉพาะการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนราว 9% ของ GDP สหรัฐฯ และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 100% มาอยู่ที่ 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันเขายังเร่งฉีดวัคซีนให้ประชากรสหรัฐฯ 100 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 31% ของประชากรตามที่สัญญาเอาไว้

 

มาตรการดังกล่าวของไบเดนทำให้นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวได้ดีกว่าปลายปีก่อน และคาดว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งแตะเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ระดับ 2% 

 

ด้วยเหตุนี้ทำให้ปัจจุบันตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า Fed จะประกาศลดการอัดฉีดเงินผ่านมาตรการ QE หรือการทำ QE Tapering โดยตลาดให้น้ำหนักกับผลการประชุม Fed ในรอบนี้ ซึ่งจะรู้ผลในอีก 2 วัน 

 

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของสำนักข่าว Bloomberg ในช่วงวันที่ 15-20 มกราคมที่ผ่านมา พบว่านักเศรษฐศาสตร์เกินครึ่งคาดว่า Fed จะเริ่มทำ QE Tapering ในช่วงเดือนมกราคม 2564

 

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่าหากพิจารณาจากข้อมูลในปี 2556 เมื่อ Fed ประกาศ QE Tapering จะเป็นบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่เป็นลบต่อตลาดหุ้นไทย โดยในรอบนั้นคือเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 Fed พูดถึง QE Tapering ครั้งแรกซึ่งเป็นลบต่อตลาดหุ้นไทย สะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับลงราว 2.5% เงินทุนต่างชาติไหลออกราว 6.3 พันล้านบาท และไหลออกติดต่อกันราว 6 วัน รวมกัน 2.9 หมื่นล้านบาท

 

ในมุมมองของฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่าในปี 2564 ยังไม่น่าที่จะเห็น Fed กลับมาทำ QE Tapering ด้วย 3 เหตุผลหลักๆ คือ 

 

  1. โควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2564 ดังนั้นหากไม่เห็นการกระจายวัคซีนในวงกว้างครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ก็ยังไม่น่าที่จะเห็นการทำ QE Tapering  

 

  1. ผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐฯ ยังเพิ่มขึ้น และยังเห็นการล็อกดาวน์ในบางรัฐของสหรัฐฯ คาดว่ามีผลทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อยๆ ฟื้นตัว ไม่ได้เร็วกว่าที่ตลาดคาด  

 

  1. เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่ง Fed ให้น้ำหนักมีผลต่อการพิจารณาดอกเบี้ยฯ โดยเป้าหมายที่ตั้งไว้เฉลี่ย 2% แต่ล่าสุดเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เดือนธันวาคมอยู่ที่ 1.1% ยังต่ำกว่าเป้ามาก จึงเชื่อว่าฟันด์โฟลว์ในระยะกลาง-ยาวจะยังไหลเข้าไทย และเป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดหุ้นไทย

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising