×

สายเขียว! นักวิเคราะห์เตือน ลงทุน ‘หุ้นกัญชง’ ต้องเลือกให้ดี เน้นบริษัทเริ่มลงทุนจริง และราคายังพอเหลืออัพไซด์

19.03.2021
  • LOADING...
นักวิเคราะห์เตือน ลงทุน ‘หุ้นกัญชง’ ต้องเลือกให้ดี เน้นบริษัทเริ่มลงทุนจริง และราคายังพอเหลืออัพไซด์

กระแสของ ‘กัญชง’ ดูเหมือนจะยังไม่หมดไปง่ายๆ ล่าสุดราคาหุ้นของหลายบริษัทที่ประกาศออกมาแล้วว่าสนใจจะรุกธุรกิจนี้ก็ยังสามารถปรับขึ้นได้ต่อในช่วงวานนี้ (18 มีนาคม)​ เช่น RBF +9.9%, DOD +3.4%, ICHI +7.3%, DDD +6.34%, STA +1.6%, KWM +8.65%, GUNKUL +4.37% 

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่าจนถึงขณะนี้มีเพียงการอนุญาตให้บริษัทจำนวน 7 แห่งเป็นผู้มีคุณสมบัตินำเข้าเมล็ดพันธุ์ แต่ยังไม่มีรายใดได้รับอนุญาตให้นำเข้า เนื่องจากการนำเข้าในแต่ละครั้งต้องได้รับใบอนุญาตทุกครั้งที่นำเข้า 

 

ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีบริษัทใดได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชง เนื่องจากการขออนุญาตปลูกกัญชงจะต้องแจ้งที่มาของแหล่งเมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์ และจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่จะปลูก รวมถึงเมื่อเก็บผลผลิตได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปลูกเพื่อเก็บเมล็ดสกัดน้ำมันหรือปลูกเพื่อเก็บช่อดอกไปสกัดสารสำคัญ จะนำส่งให้โรงงานใดเป็นผู้รับซื้อต้องแจ้งให้ครบถ้วน

 

อย่างไรก็ดี อย. พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและแนะนำขั้นตอนการขออนุญาตแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ

 

หวังหมิ่นหลิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่าจากการรวบรวมข้อมูลในตอนนี้ มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ประกาศว่าจะขยายธุรกิจเกี่ยวกับกัญชงมากถึง 39 บริษัท ทั้งในส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งนี้ มองว่าธุรกิจกลางน้ำเป็นกลุ่มที่น่าสนใจมากที่สุด เพราะบริษัทที่ต้องการใช้ผลผลิตจะต้องผ่านการสกัดของธุรกิจกลางน้ำ 

 

“หากมองภาพง่ายๆ ธุรกิจต้นน้ำจะเหมือนกับชาวนาปลูกข้าว ส่วนกลางน้ำจะเหมือนกับโรงสี ซึ่งเราจะเห็นกันอยู่แล้วว่าใครรวยกว่าใคร ทำให้เราชอบในส่วนของธุรกิจกลางน้ำมากกว่า”

 

อย่างไรก็ตาม หุ้นที่เกาะกระแสไปกับกัญชงจะต้องพิจารณาเป็นรายบริษัทไป สำหรับบริษัทที่มีแผนชัดเจนและเริ่มลงทุนแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดออกมา แต่เรายังพอที่จะหาสมมติฐานได้ หากคำนวณแล้วราคาปัจจุบันยังพอมีอัพไซด์ก็สามารถลงทุนได้

 

แต่หากเป็นบริษัทที่ยังไม่ได้มีการลงทุนใดๆ นักลงทุนอาจต้องติดตามข่าวสารและสอบถามไปยังบริษัทว่ามีพัฒนาการใดๆ เกิดขึ้นแล้วบ้าง เพราะหากเป็นเพียงการเตรียมตัวเพื่อยื่นขอใบอนุญาต สุดท้ายแล้วการลงทุนอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ 

 

ส่วนการจะยื่นขอใบอนุญาตปลูกกัญชง STA เคยให้ข้อมูลไว้ว่าบริษัทจะต้องเริ่มดำเนินการบางส่วนแล้ว เช่น การลงทุนเตรียมพื้นที่ปลูก นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระวังคือบางบริษัทที่มีฐานกำไรเดิมสูงอยู่แล้ว อัพไซด์ที่เกิดขึ้นจากกัญชงอาจจะไม่ได้มีนัยสำคัญมากนัก ก็จะทำให้ความน่าสนใจของหุ้นลดลงไป 

 

ทั้งนี้ หุ้นที่ขยายธุรกิจกัญชงและอยู่ภายใต้การวิเคราะห์ของ บล.กสิกรไทย คือ RBF จากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าบริษัทจะดำเนินการปลูกและสกัดรวม 200 ไร่ ซึ่งกำไรต่อไร่อยู่ที่ราว 1.7-1.8 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นอัพไซด์ต่อกำไรของ RBF 49% หรือกว่า 300 ล้านบาท และคิดเป็นอัพไซด์ต่อราคาเป้าหมาย 40% จากราคาเหมาะสม 13.6 บาท 

 

ขณะที่ สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าวเสริมว่ากัญชงถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ในไทย ซึ่งไม่แปลกที่หุ้นจะมีกระแสตอบรับดีมากในช่วงแรก ทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปเร็ว 

 

“ส่วนตัวค่อนข้างจะมั่นใจว่าจากรายชื่อที่รวบรวมไว้กว่า 30 บริษัท อาจจะมีเพียงไม่ถึง 10% ที่ประสบความสำเร็จ และอีกราว 80% อาจเป็นเพียงแค่การให้ข่าวเพื่อเกาะกระแส ซึ่งจะคล้ายกับภาพในต่างประเทศ ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายบริษัทที่กระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้ยังไม่สามารถที่จะทำกำไรได้ในปัจจุบัน อย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรจะเลือกหุ้นที่มีกำไรและราคาเหมาะสม และในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมนี้ก็อาจจะเผชิญกับปัญหา Oversupply ได้” 

 

ด้าน วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บล.บัวหลวง มองว่าในมุมของราคาหุ้นกลุ่มกัญชงที่ปรับขึ้นมาต่อเนื่อง การพิจารณาว่าแพงเกินไปมากหรือยังอาจจะเปรียบเทียบกับหุ้นซึ่งดำเนินธุรกิจคล้ายกันในต่างประเทศ อย่างธุรกิจที่ใช้กัญชงและกัญชาเพื่อความผ่อนคลายในสหรัฐฯ ซื้อขายที่ P/E ประมาณ 33-35 เท่า หากหุ้นในกลุ่มกัญชงของไทยที่ราคาวิ่งขึ้นไปถึง 50-60 เท่าของกำไรที่รวมธุรกิจกัญชงแล้ว นักลงทุนก็ควรจะระมัดระวังมากขึ้น

 

“ส่วนตัวเชื่อว่าธุรกิจเกี่ยวกับกัญชงน่าจะเกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะกลุ่มต้นทุนซึ่งน่าจะปลูกและขายได้ในราคาค่อนข้างดี ส่วนราคาหุ้นของแต่ละบริษัทที่วิ่งขึ้นไปก่อนแล้วก็ควรจะถอยห่างออกมาบ้าง โดยเฉพาะหุ้นที่ซื้อขายกันจน P/E ไปถึงระดับ 50-60 เท่า”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X