ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โควิด-19 รอบสาม ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน สะท้อนจากตลาดหุ้นที่ปรับลดลง ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงสู่ระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจ และความไม่แน่นอนในสถานการณ์ต่างๆ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่
ความมั่นใจผู้บริโภคที่ลดลง ขณะที่เซกเตอร์การบริโภคที่คิดเป็น 50% ของ GDP แม้รัฐมีนโยบายกระตุ้นต่อเนื่องแต่ยังไม่เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยต้องติดตามหนี้ครัวเรือนที่ยังเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 80%
อีกส่วนสำคัญคือการท่องเที่ยวที่คิดเป็นเกือบ 20% ของ GDP แม้ว่าทางธนาคารจะมองในทิศทางฟื้นตัวโดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ควบคุมได้ และการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ คาดว่า GDP ไตรมาส 1/64 แม้ว่าจะติดลบ แต่มองว่าไตรมาส 2/64 ยังเป็นบวกได้จากฐานต่ำที่ติดลบในปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม มองว่าครึ่งปีหลัง ส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต้องการแรงเร่งจากมาตรการทางการคลังที่มีประสิทธิภาพ มากกว่านโยบานการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาจำนวนมากแล้ว
“เราต้องติดตามการกระตุ้นของรัฐ เช่น มาตรการคลังในช่วงครึ่งปีหลัง ที่จะมากระตุ้นการบริโภค และไม่ว่าเป็นนโยบายไหน ต้องทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ ว่าเม็ดเงินที่ไปถึงธุรกิจและประชาชนทำให้ฟื้นตัวไหม มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นไหม โดยไซส์ของมาตรการยังมีความสำคัญน้อยกว่าว่า เม็ดเงินนั้นส่งผลเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจแค่ไหน”
ทั้งนี้ จากเม็ดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แม้รัฐจะมีการตั้งเป้าใช้จ่ายที่ 70% และเหลือวงเงินอีกราว 20% ซึ่งต้องใช้อย่างเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากที่สุด ขณะเดียวกันยังไม่เห็นสัญญาณว่าฝั่งคลังจะมีการกู้เงินเพิ่มเติม อาจเพราะหนี้สาธารณะใกล้จะแตะระดับ 60% ซึ่งเป็นระดับที่จำกัดไว้ตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ภาพรวมยังไม่ดีขึ้น GDP ไม่โต แต่สถานการณ์หนี้ยังเพิ่มขึ้น และคลังไม่ปรับยกเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น อาจทำให้ไทยมีกำลังในการรองรับความเสี่ยงด้านต่างๆ ในประเทศและจากสถานการณ์โลกได้น้อยลง ดังนั้นมองว่านโยบายการคลังยังต้องออกมามากขึ้น เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้
ปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการคงกรอบตั้งแต่ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่อาจมีความเสี่ยงการระบาดระลอกใหม่ และมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนในหลายด้าน ได้แก่
- ประสิทธิผลของวัคซีนต่อการกลายพันธุ์เชื้อโควิด-19
- ความเสี่ยงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
- อุปทานหลายด้านยังมีอุปสรรค เช่น การส่งออกเจอผลกระทบตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ขาดชิปที่ประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือการท่องเที่ยว ต้องติดตามความพร้อมของโรงแรม และสายการบิน ฯลฯ
- ด้านการเมืองที่ยังเปราะบางและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดหลังโควิด-19
ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ (2564-2566) หากการขยายตัว GDP ยังไม่มาก และเงินเฟ้อยังติดลบ
อย่างไรก็ตาม ทิศทางค่าเงินบาทปีนี้มองว่าช่วงกลางปีจะอยู่ในทิศทางอ่อนค่าถึง 31.5 บาทต่อดอลลาร์ และมองว่าเงินบาทจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงครั้งปีหลังถึงสิ้นปี 2564 สู่ระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยคาดว่าการไหลเวียนของเม็ดเงินทั่วโลกยังจะให้ความสนใจไปที่สหรัฐฯ ที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนกว่าช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดในเอเชีย ซึ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น รวมถึงหากไตรมาส 4/64 สถานการณ์ท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นดีขึ้น จะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล