×

วิเคราะห์วัคซีนโควิด-19 ดึงเศรษฐกิจไทยพ้นปากเหว?

20.12.2020
  • LOADING...
วิเคราะห์วัคซีนโควิด-19 ดึงเศรษฐกิจไทยพ้นปากเหว?

HIGHLIGHTS

4 mins read
  • ‘วัคซีน’ ถือเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่าน 3 ช่องทางหลัก ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก และความเชื่อมั่น
  • การมาของ ‘วัคซีน’ จะช่วยให้ไทยกล้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หนุนให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้
  • แม้ ‘วัคซีน’ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีกว่าคาด แต่ยังต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี จึงกลับมาเท่ากับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นผลจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่โควิด-19 ทิ้งร่องรอยเอาไว้
  • วัคซีนยังมีประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ทั้งจากข้อจำกัดในด้านต่างๆ และกระบวนการผลิต รวมไปถึงการกระจายสู่ประชาชนทั่วไป

เหลืออีกเพียงไม่กี่วันก็จะพ้นปี 2563 ซึ่งเป็นปีแห่งความทุลักทุเล เป็นปีที่ทุกคนบนโลกใบนี้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘สาหัสสากรรจ์’ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ ‘โควิด-19’

 

มั่นใจว่าช่วงต้นปีไม่มีใครคาดคิดว่า ‘เศรษฐกิจโลก’ รวมทั้ง ‘เศรษฐกิจไทย’ จะเดินเข้าสู่ ‘มหาวิกฤต’ เป็นวิกฤตที่เกิดจาก ‘โรคระบาด’ ซึ่งมาแบบไม่ทันตั้งตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงอย่างฉบับพลัน จากปฏิบัติการ ‘ล็อกดาวน์’ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในหลายๆ ประเทศ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจและผู้คนในวงกว้าง 

 

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครหาทางกำจัดเชื้อไวรัสดังกล่าวลงได้ มีเพียงการคิดค้น ‘วัคซีน’ ที่ออกมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งถือเป็น ‘ความหวัง’ ของคนทั้งโลก แน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยด้วย

 

สำหรับประเทศไทยแล้ว ถือเป็นประเทศที่โดนผลกระทบจาก ‘โควิด-19’ หนักสุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สาเหตุเพราะไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ผ่านการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้ง 2 ภาคส่วนนี้ คิดเป็นสัดส่วนต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 70% 

 

ที่สำคัญ ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวยังถือเป็น ‘พระเอก’ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตลอดในช่วงหลายปีก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 จนนักเศรษฐศาสตร์เรียกเศรษฐกิจไทยว่าเป็นเศรษฐกิจที่ ‘แข็งนอก อ่อนใน’ พูดให้ชัดก็คือ เป็นเศรษฐกิจที่เติบโตจากภาคต่างประเทศทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออก ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศมีความอ่อนแอเป็นทุนเดิม 

 

วิกฤตโควิด-19 ทำให้ ‘เครื่องยนต์หลัก’ ของเศรษฐกิจไทยหยุดชะงักลงอย่างฉับพลัน เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สร้างรายได้ให้ประเทศราว 12-15% ของ GDP หายไปทันที 

 

ขณะที่การส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนต่อ GDP ราว 60% ก็ได้รับผลกระทบหนักจากกำลังซื้อของคนทั้งโลกที่ลดลง ทำให้เศรษฐกิจไทย ‘หดตัวลึก’ โดยไตรมาส 2/63 GDP หดตัวถึง 12.2% หนักสุดในรอบ 22 ปีนับจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ขณะที่ ไตรมาส 3 แม้จะฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด แต่ตัวเลข GDP ก็ยังหดตัวถึง 6.4%

 

ตราบใดที่ไทยยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ เศรษฐกิจไทยก็จะ ‘ซึมตัว’ ในลักษณะนี้ต่อเนื่อง ดังนั้น ‘วัคซีนโควิด-19’ จึงกลายเป็นความหวังของคนไทยทั้งประเทศ เพียงแต่ยังมีคำถามอยู่ว่า แล้ววัคซีนจะมาเมื่อไร มาแล้วจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือไม่

 

ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH พาไปหาคำตอบในเรื่องนี้กัน!

 

‘วัคซีน’ ช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยผ่าน 3 ช่องทาง

จากการสอบถามความเห็นของกูรู ‘นักเศรษฐศาสตร์’ ในหลายๆ สำนักวิจัย ทุกคนให้คำตอบตรงกันว่า ถ้าวัคซีนมา จะพาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้แน่นอน ผ่าน 3 ช่องทางหลัก คือ การส่งออก การท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นของผู้บริโภครวมไปถึงนักธุรกิจ เพียงแต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ จะสามารถแจกจ่ายวัคซีนได้เมื่อไร รวมไปถึงคุณสมบัติและข้อจำกัดของวัคซีนก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามดู 

 

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ บอกกับ THE STANDARD WEALTH ว่า “วัคซีนที่มีประสิทธิภาพจะเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคโควิด-19 เพราะตราบใดที่ไม่มีวัคซีน โอกาสของการระบาดรอบใหม่ยังมีสูง 

 

อย่างไรก็ตาม ผลบวกของวัคซีนต่อเศรษฐกิจไทยจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาและประสิทธิภาพในการกระจายวัคซีนไปยังประชากรของโลกและไทยอย่างทั่วถึง รวมไปถึงคุณลักษณะของวัคซีนในด้านต่างๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่”

 

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ 

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ 

 

ยรรยง บอกด้วยว่า “ผลในด้านบวกจากวัคซีนจะมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยผ่าน 3 ช่องทาง 

 

  1. การส่งออก ซึ่งการกระจายของวัคซีนในเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทย จะช่วยให้เศรษฐกิจและคู่ค้าฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ความต้องการของสินค้าไทยสูงขึ้น 

 

  1. การท่องเที่ยว โดยหากวัคซีนสามารถกระจายตัวได้ทั่วถึงทั้งในต่างประเทศและในไทย จะทำให้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นไปได้เร็วขึ้น เพราะทำให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจที่จะเดินทาง และไทยก็พร้อมเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเร็วขึ้น

 

  1. ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจ ปรับตัวดีขึ้น ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายและการลงทุนให้ฟื้นตัวเร็วขึ้นด้วย

 

อย่างไรก็ตาม EIC คาดว่า กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาที่มีการผลิตวัคซีนของตัวเอง เช่น จีน จะเข้าถึงวัคซีนได้ก่อน โดยช่วงไตรมาสแรกปีหน้า จะเป็นกลุ่มประชากรเสี่ยงและเปราะบาง ได้แก่ บุคลากรด้านสาธารณสุข ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มี Pre-Condition ซึ่งกลุ่มนี้จะยังไม่ใช่กลุ่มหลักที่เดินทางระหว่างประเทศ ขณะที่การกระจายไปยังกลุ่มประชากรทั่วไปของประเทศพัฒนาแล้วจะมีมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป” 

 

สำหรับประเทศไทย ยรรยงคาดว่า จะเริ่มได้รับวัคซีนช่วงกลางปีหน้า และอาจต้องรอจนถึงปี 2565 ถึงจะเกิด Herd Immunity หรือภาวะที่คนมีภูมิคุ้มกันมากเพียงพอจนเชื้อไม่สามารถแพร่กระจายได้ 

 

นัยดังกล่าว หมายถึงช่วงครึ่งแรกของปีหน้า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่ฟื้นตัวนัก เพราะกลุ่มลูกค้าที่ได้รับวัคซีนและพร้อมท่องเที่ยวจะมีจำกัด รวมทั้งไทยอาจยังระมัดระวังการเปิดการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าเป็นหลัก

 

หวังต่างชาติมีวัคซีนใช้แพร่หลาย หนุนไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ 

 

ด้าน นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี บอกกับ THE STANDARD WEALTH ว่า “การมาของวัคซีนโควิด-19 จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างแน่นอน แม้ว่าเราจะยังไม่มีวัคซีนใช้ภายในประเทศก็ตาม 

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี

 

สาเหตุเพราะ หากทั่วโลกเริ่มมีวัคซีนใช้อย่างแพร่หลาย และทำให้ไทยสามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่มีภูมิคุ้มกันเดินทางเข้ามาในประเทศได้ ประเด็นนี้จะช่วยฟื้นภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยได้อย่างมาก โดยคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวได้มากกว่า 3.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีประเมินไว้ในปัจจุบัน

 

ยังไม่ต้องมองไปถึงว่า มีวัคซีนในไทยแล้วเป็นอย่างไร เอาแค่หากต่างชาติได้รับวัคซีน แล้วเราเปิดประเทศได้โดยที่คนมาเที่ยวไม่ต้องกักตัว 14 วัน แค่นี้ก็จะส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวไทยอย่างมาก ยิ่งถ้าเราคัดเอานักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงๆ เข้ามา ก็น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก”

 

นริศบอกว่า “ต้นทุนการกักตัวในสถานที่ทางเลือก หรือ Alternative State Quarantine (ASQ) แพ็กเกจหนึ่งสูงเกือบ 1 แสนบาท ทั้งยังต้องเสียเวลา 2 สัปดาห์อยู่แต่ในห้อง หากมีวัคซีนจะปลดล็อกในส่วนนี้ลงได้ ทำให้ต้นทุนของนักท่องเที่ยวลดลง การท่องเที่ยวก็น่าจะกลับมาได้ด้วย”

 

‘วัคซีน’ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

 

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า “หากประสิทธิภาพของวัคซีนได้ผลดี และทำให้เราสามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง เมื่อถึงเวลานั้นเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นอย่างแน่นอน 

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าคงไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะกว่าวัคซีนจะใช้กันอย่างแพร่หลาย คาดว่าคงเป็นช่วงครึ่งหลังของปีหน้าเป็นต้นไป และถึงแม้จะมีวัคซีนออกมาใช้ ก็ยังต้องรอให้คนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันก่อน ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของประเทศ คือ เราจะเปิดประเทศอย่างไรเมื่อคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้วัคซีน ซึ่งถือเป็นโจทย์ท้าทายของภาครัฐ 

 

นอกจากนี้ การส่งออกถือเป็นอีกกลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์จากวัคซีนโควิด-19 เพราะหากต่างประเทศเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็น่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนทั้งโลกกลับมาได้ ซึ่งการส่งออกนี้ ทางวิจัยกรุงศรีเชื่อว่าจะเป็นพระเอกหลักของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าด้วย”   

 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

 

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามหลังจากนี้ สมประวิณบอกว่า ต้องติดตามดูพัฒนาการของวัคซีนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่ตอบได้ยากว่าเราจะมีวัคซีนใช้ภายในประเทศเมื่อไร แต่อย่างน้อยเวลานี้ก็เริ่มเห็นแสงสว่างมากขึ้น แตกต่างจากช่วงต้นปีที่ตอนนั้นเรายืนอยู่ท่ามกลางความมืดโดยไม่เห็นแสงสว่างใดๆ เลย ขณะที่ตอนนี้แม้เรายังยืนอยู่ที่มืดแต่กำลังเดินไปสู่แสงสว่าง จึงพอจะเห็นทางออกได้บ้าง

 

เศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีก 2 ปี แม้มีวัคซีน

อย่างไรก็ตาม การมีวัคซีนใช้ไม่ได้หมายความว่าจะดึงเศรษฐกิจไทยให้พ้นจากปากเหวในทันที ซึ่ง EIC ประเมินว่า กว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ยังคงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี

 

ยรรยงกล่าวว่า “หากไทยเริ่มมีวัคซีนใช้ในช่วงกลางปี 2564 ตามที่ประเมินไว้ จะทำให้การท่องเที่ยวมีโอกาสฟื้นตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่เศรษฐกิจในประเทศจะยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังได้รับแรงกดดันจาก ‘แผลเป็น’ ทางเศรษฐกิจ

 

แผลเป็นที่ว่านี้ มีทั้งปัญหาการว่างงาน การปิดกิจการ และฐานะการเงินที่แย่ลงของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนที่ฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ”

 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความเสี่ยงจากการพัฒนาวัคซีนที่ต้องติดตามใน 2 ประเด็น สำคัญ คือ

 

  1. คุณสมบัติและข้อจำกัดของวัคซีน ซึ่งต้องติดตามดูว่าจะมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง หรือมีผลต่อสุขภาพระยะยาวหรือไม่ รวมทั้งยังไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนยังสามารถแพร่เชื้อได้อยู่หรือไม่ 

 

  1. การผลิตและการกระจายวัคซีนไปสู่ประชาชน เพราะวัคซีนของบางบริษัทยังต้องจัดเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำมาก ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายในการขนส่ง

 

โดยสรุปแล้ว ‘วัคซีน’ ถือเป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน เพียงแต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังมีวัคซีนยังต้องใช้เวลา เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจมีความเปราะบางมากขึ้นจากแผลเป็นที่เกิดขึ้น อีกทั้งพัฒนาการของวัคซีนยังมีประเด็นความเสี่ยงในบางด้านที่ต้องติดตาม 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising