วันที่ 14 กันยายน 1983 คือวันที่ เอมี ไวน์เฮาส์ นักร้องหญิงที่เกิดมาพร้อมเสียงที่เหมือนได้รับมาจากสวรรค์ ก่อนที่จะเธอจะค่อยๆ เติบโต และนำพาเสียงที่เป็นดั่งพรจากสวรรค์นั้นใส่ลงไปแนวเพลงแจ๊สและโซลที่สั่นสะเทือนวงการดนตรีและโลกใบนี้ตั้งแต่อายุ 20 ปี
และแม้วันนี้จะไม่มีเสียงใหม่ๆ บทเพลงชิ้นใหม่ๆ ของเธอเกิดขึ้นอีกแล้ว หลังจากเอมีได้จากไป และนำเสียงโซลอันโดดเด่นของเธอกลับคืนสู่สวรรค์อีกครั้ง… แต่เชื่อเถอะว่า ในวันครบรอบวันเกิดปีที่ 36 (หากว่ายังมีลมหายใจ) แฟนๆ จะร่วมร้องเพลง Rehab ให้กับเธอ
I didn’t get a lot in class.
But I know we don’t come in a shot glass.
They tried to make me go to rehab.
I said, “no, no, no”
– Rehab
โอเคแหละ บทเพลงที่เธอแต่งนั้นอาจจะได้อารมณ์ดื่มด่ำ ร่วมรำลึก แต่ร้องจบแล้ว ถ้ายังว่าง ก็คิดว่าลองหา Amy (2015) ภาพยนตร์สารคดีที่จะพาคุณไปรู้จักกับอีกหนึ่งศิลปินหญิงที่เกิดมาพร้อมสวรรค์ และจากไปด้วยวัยเพียง 27 ปี หลังจากถูกโลกและชื่อเสียงที่ถาโถมรุมทำร้าย (ส่วนหนึ่งเธอก็เลือกจะทำร้ายตัวเองด้วยเช่นกัน)
เอมี ไวน์เฮาส์ เกิดในครอบครัวชาวยิว ณ เมืองแอนฟิลด์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในวัยเด็ก เธอได้แรงบันดาลใจในการร้องเพลงมาจากผู้คนรอบข้าง โดยเฉพาะคุณย่าและพ่อของเธอ ซึ่งมักร้องเพลงของ แฟรงก์ ซินาตรา ให้เอมีฟังบ่อยๆ เธอเริ่มต้นแต่งเพลงตั้งแต่อายุ 15 ปี หลังซื้อกีตาร์ตัวแรกด้วยตัวเอง ก่อนที่งานอดิเรกจะกลายเป็นแพสชันและช่องทางหาเงิน จนต้นยุค 2000 นักร้องและเพื่อนสนิทของเอมีอย่าง ไทเลอร์ เจมส์ ได้ส่งเดโมเพลงของเธอไปตามที่ต่างๆ ก่อนจะทำให้นักร้องสาวได้เซ็นสัญญากับค่าย Island Records/Universal ตามมาด้วยเดบิวต์อัลบั้มอย่าง Frank (2003) ที่ถือเป็นการแจ้งเกิดในวงการเพลง และยิ่งโด่งดังมากยิ่งขึ้นนับแต่นั้น
แรกเริ่มเดิมทีเธอเป็นสาวน้อยที่หลงใหลในการร้องเพลงและบอกเล่าเรื่องราวที่เธอรู้สึกออกมาให้โลกได้รับรู้ เธอเคยพูดเอาไว้ว่า “ฉันไม่คิดว่าจะรับมือกับการมีชื่อเสียงโด่งดังได้ ฉันต้องเสียสติและเป็นบ้าไปแน่ๆ ฉันแค่อยากร้องเพลง และให้คนจดจำเพลงที่ทำออกมาเท่านั้นเอง” แต่เมื่อโลกได้รู้จักกับเอมี นักร้องสาวเจ้าของรางวัลแกรมมี่ ปี 2007 จากเพลง Rehab แน่นอนว่า เขาไม่ได้อยากรู้จักเฉพาะเสียงที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์ แต่มันหมายถึงทุกมุมในชีวิต! ทั้งด้านสว่าง ด้านมืด ความรัก ความอ่อนแอ และความเปราะบาง ซึ่งในเวลาต่อมา สิ่งต่างๆ เหล่านี้เหมือนจะขยี้เธอจนเสียสติแบบที่เธอเคยบอกไว้จริงๆ
ทุกครั้งที่แสงไฟสาดส่องเข้าใส่ มันได้นำพาเรื่องราวมากมายผ่านเข้ามาในชีวิต เธอได้เรียนรู้ที่จะมีความรักและผิดหวังกับมันไปพร้อมๆ กัน การถูกรังควานจากสื่อและปาปารัซซีที่พร้อมจะรุมขย้ำเธอด้วยแสงแฟลชทุกครั้งที่ปรากฏตัว รวมทั้งกลายเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ชนิดที่ลืมไปแล้วว่า นอกจากเสียงที่ไพเราะแล้ว เธอเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ควรต้องมาเจอเรื่องอะไรแบบนี้
แต่เมื่อไม่สามารถรับมือกับสิ่งที่ตามมาพร้อมกับ ‘ชื่อเสียง’ ลงท้าย เอมีก็พาตัวเองไปหลบอยู่หลังแก้วเหล้าและควันสีเทาของยาเสพติดนานาชนิด เพราะเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้จะช่วยพยุงหัวจิตหัวใจของเธอให้ยังทรงตัวอยู่ได้บนโลกที่ตัวเองพบเจอ แต่ไม่เลย นับวันเธอยิ่งถลำลึกไปพร้อมกับสภาพจิตใจที่ค่อยๆ เสื่อมสลาย
เธอพยายามบอกความรู้สึก ความเจ็บปวด สิ่งที่เธอต้องเผชิญผ่านบทเพลงของตัวเอง แน่นอนว่า ทุกคนชื่นชมในผลงานเพลงของเธอ แต่จะมีสักกี่คนที่มองเห็นและเข้าใจความเจ็บปวดของเธอจากหัวใจได้จริงๆ
เมื่อไม่มีมือหรือแรงอันใดจะฉุดเธอขึ้นมา ดวงดาวที่เคยจรัสแสงก็ค่อยๆ หรี่แสงลง เหลือแต่ความมืดมิดเหมือนกับเพลง Back to Black เพลงแรกๆ ที่เธอแต่งขึ้นมา
Black, black, black, black
Black, black, black
I go back to
I go back to…
เราไม่อาจรู้ว่า ในวันนั้นเธอเขียนเนื้อเพลงนี้ออกมาด้วยความรู้สึกแบบไหน หรือเธอรู้สึกอย่างไรกันแน่ในวันที่ต้องร้องคำว่า ‘Black’ ซ้ำไปซ้ำมา
แต่สุดท้ายแล้ว เธอก็ได้กลับไปสู่ความมืดมิดแบบที่ได้บอกเอาไว้จริงๆ
เรียบเรียงจากบทความ ‘ลาแล้วไม่ลาลับ’ 5 หนังจากชีวิตจริงที่ได้ฝากบางสิ่งไว้ให้โลกจดจำ
คลิกอ่าน thestandard.co/5-movies-from-real-life/
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล