×

ซูเปอร์ไซโคลนอำพัน พัดกระหน่ำชายฝั่งตะวันออกอินเดีย คร่าชีวิตอย่างน้อย 22 ราย

โดย THE STANDARD TEAM
21.05.2020
  • LOADING...

ซูเปอร์ไซโคลนอำพัน ซึ่งเป็นพายุไซโคลนที่มีความแรงมากที่สุดที่ก่อตัวในอ่าวเบงกอลในรอบกว่า 20 ปี ก่อให้เกิดฝนตกหนักและกระแสลมกระโชกแรงทั่วรัฐเบงกอลตะวันตกและรัฐโอริสสา ทางตะวันออกของอินเดีย ไปจนถึงพรมแดนบังกลาเทศที่อยู่ใกล้เคียง หลังพัดขึ้นฝั่งเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (20 พฤษภาคม) ตามเวลาท้องถิ่น

อิทธิพลพายุที่มีความแรงลมสูงสุดถึง 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลให้บ้านเรือนหลายพันหลังและสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากได้รับความเสียหายอย่างหนัก ต้นไม้และเสาไฟฟ้าหักโค่น และมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 22 ราย และมีรายงานคลื่นสูงซัดกระหน่ำชายฝั่ง โดยทางการอินเดียหวั่นวิตกว่าอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในหลายพื้นที่วันนี้ (21 พฤษภาคม)

ในรัฐเบงกอลตะวันตก มีรายงานว่า พบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 10-12 ราย ในจำนวนนี้ 1 รายเป็นเด็กหญิงที่ถูกกำแพงบ้านถล่มทับ ซึ่งที่โกลกาตา เมืองเอกของรัฐ มีรายงานความเสียหายจำนวนมากในพื้นที่ชุมชน หน้าต่างและหลังคาบ้านเรือนและร้านค้าถูกลมพัดปลิว ไฟฟ้าดับและต้นไม้หักโค่นเป็นบริเวณกว้าง และอาคารสูงสั่นไหวจากแรงลมราวกับถูกเขย่า โดย มามาตา บาเนอร์จี มุขมนตรีแห่งรัฐเบงกอลตะวันตก ระบุว่า สถานการณ์นั้นเลวร้ายยิ่งกว่าวิกฤตโควิด-19

“สถานการณ์นั้นน่ากังวลมากกว่าการระบาดของโรคโควิด-19 เราไม่รู้จะรับมือมันอย่างไร หมู่บ้านชายฝั่งของรัฐถูกทำลายแทบหมดสิ้น” บาเนอร์จี กล่าว

ส่วนในรัฐโอริสสา มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย รวมถึงทารกวัย 2 เดือนที่ถูกกำแพงถล่มทับ และอีกรายเป็นหญิงที่ถูกเสาไฟฟ้าล้มทับ นอกจากนี้ในบังกลาเทศมีรายงานยืนยันว่าพบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 8 ราย รวมถึงเด็กชายวัย 5 ขวบและชายชราวัย 75 ปีที่ถูกต้นไม้โค่นล้มทับ

หนังสือพิมพ์ The Indian Express รายงานว่า ทางการอินเดียได้อพยพประชาชนกว่า 6.5 ล้านคนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยในรัฐเบงกอลตะวันตกและรัฐโอริสสา ก่อนที่ไซโคลนอำพันจะพัดขึ้นฝั่งเมื่อวานนี้ (20 พฤษภาคม) และได้จัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราวไว้สำหรับประชาชนบางส่วนแล้ว

ส่วนในบังกลาเทศ ทางการเปิดเผยว่า ได้อพยพประชาชนกว่า 2.4 ล้านคน พร้อมทั้งเตรียมรับมือและเฝ้าระวังสถานการณ์ ซึ่งหนึ่งในจุดที่น่ากังวลคือค่ายผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่เมืองค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งมีชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่เกือบ 1 ล้านคน แต่ทางองค์กรบรรเทาความยากจนออกซ์แฟมประเมินว่า ค่ายอพยพแห่งนี้ไม่น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากพายุลูกนี้

ขณะที่ล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียคาดการณ์ว่า พายุจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน หลังเคลื่อนตัวไปทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ

สำหรับไซโคลนอำพัน ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาไทยตรงกับอัญมณีอำพัน ถือเป็นพายุที่มีความแรงที่สุดที่ก่อตัวในอ่าวเบงกอลนับตั้งแต่ปี 1999 ที่ซูเปอร์ไซโคลนพัดเข้าถล่มรัฐโอริสสา และคร่าชีวิตประชาชนไปมากกว่า 10,000 ราย 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum
 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X