×

รองประธานสภาแจงสั่งปิดประชุมก่อนลงมติรับรายงาน กมธ.นิรโทษกรรม เหตุผลชัดเจนอยู่แล้ว แนะอย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

โดย THE STANDARD TEAM
18.10.2024
  • LOADING...
นิรโทษกรรม

วันนี้ (18 ตุลาคม) พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ชี้แจงกรณีที่เมื่อวานนี้ (17 ตุลาคม) สั่งปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างลงมติรับหรือไม่รับรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม

 

พิเชษฐ์ระบุว่า ชัดเจนแล้วว่ามีพรรคการเมือง 2-3 พรรคที่ประกาศตัวว่าไม่เห็นด้วยกับรายงาน ขณะที่อีกฝ่ายคือพรรคประชาชนที่อยากจะให้ลงมติ ซึ่งกรรมาธิการก็อยากชี้แจงเพื่อให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยยอมรับ แต่ทุกอย่างก็ชัดเจนแล้วคือฝ่ายที่ไม่ยอมรับก็คือไม่ยอมรับ คนที่อยากให้ผ่านก็อยากจะให้ผ่าน

 

“ต่อให้ชี้แจงอีกกี่ชั่วโมงก็เหมือนเดิม กรรมาธิการชี้แจงมาเต็มที่ จะชี้แจง 2-3 รอบทำไม ทำให้ประธานในที่ประชุมต้องใช้วิจารณญาณว่าจะปล่อยให้เกิดความซ้ำซากเช่นนี้ได้อย่างไร” พิเชษฐ์กล่าว

 

พิเชษฐ์กล่าวต่อไปว่า สุดท้ายตนเองจึงถามว่าสรุปแล้วจะลงมติเลยหรือไม่ เพราะข้อมูลทั้งหลายก็ซ้ำไปซ้ำมา แต่กรรมาธิการเขาก็ยังอยากชี้แจงอยู่ ไม่อยากให้มีการลงมติและส่งชื่อมา 6-7 คน แต่ละคนจะพูดกี่นาที ต่อให้ชี้แจงอีกกี่คนก็เหมือนเดิม เพราะตัดสินใจกันไปแล้ว ซึ่งหากจะให้มีการชี้แจงอีกก็จะเป็นการตอบโต้กันไปมาและที่จริงข้อมูลก็พร้อมที่จะตัดสินใจแล้ว

 

นอกจากนี้ช่วงเวลาของวันพฤหัสบดี สส. บางคนก็เตรียมกลับบ้าน เพราะจองตั๋วเครื่องบินไว้แล้ว ลำพังเอาตามใจตัวเองบางคนบอกว่าอยู่ถึงเที่ยงคืนก็ได้ แต่เราต้องอยู่ในความพอดี

 

พิเชษฐ์ยืนยันว่าตัดสินใจถูกต้องแล้ว สัปดาห์หน้าในการประชุมสภาก็ไม่จำเป็นต้องชี้แจงแล้ว สามารถลงมติได้เลย ซึ่งหากรายงานนี้ไม่มีความขัดแย้งก็ไม่มีปัญหา และหากในสัปดาห์หน้ากรรมาธิการต้องการจะชี้แจงอีก ก็ต้องขึ้นอยู่กับประธานที่ทำหน้าที่ในขณะนั้น

 

“ในสถานการณ์เช่นนั้นอย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ตัวเองอยากได้อะไรแล้วไม่ได้เพราะมีคนขัดใจ อย่างนี้มันไม่ใช่ ผมไม่ได้เข้าข้างใคร” พิเชษฐ์กล่าว

 

ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ในสัปดาห์หน้าจะมีการเสนอญัตติด่วนขึ้นมาเพื่อยื้อเวลาลงมติในรายงานฉบับดังกล่าว พิเชษฐ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม รายงานของกรรมาธิการนิรโทษกรรมต้องต่อเนื่องอยู่แล้ว เมื่อจบวาระดังกล่าวจึงจะเสนอญัตติ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะเสนอหรือไม่ ส่วนวาระอื่นๆ ที่รออยู่นั้นและห่วงว่าจะเข้าทันหรือไม่ทัน ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของการประชุมสภาและเป็นกระบวนการ

 

“เราจะเอาของเราเป็นหลักไม่ได้ หากไม่ทันสมัยประชุมนี้ก็ไปพิจารณาต่อในสมัยประชุมหน้า เราจะทำอย่างไรได้ หากทุกคนก็ต้องการของตัวเอง” พิเชษฐ์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X