×

รายงานแอมเนสตี้พบรัฐสนับสนุนความรุนแรงทางดิจิทัลต่อนักกิจกรรมหญิงและกลุ่ม LGBTQIA+ ในไทย

โดย THE STANDARD TEAM
16.05.2024
  • LOADING...
แอมเนสตี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยในรายงานฉบับใหม่วันนี้ (16 พฤษภาคม) ว่านักกิจกรรมที่เป็นผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ในประเทศไทยกำลังถูกโจมตีบนโลกดิจิทัลด้วยถ้อยคำที่เหยียดหยามและภาษาที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง ซึ่งผูกโยงอยู่กับประเด็นทางเพศและความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศรูปแบบอื่นๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยี (Technology Facilitated Gender Based Violence: TFGBV)

 

รายงานเรื่อง ‘อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง’ (Being Ourselves is Too Dangerous) ชี้ให้เห็นถึงวิธีการที่นักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกสอดส่องติดตามโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วยการเฝ้าติดตามทางดิจิทัล รวมถึงถูกพุ่งเป้าโจมตีด้วยการใช้สปายแวร์เพกาซัสและการคุกคามทางออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะปิดปากพวกเขา ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

 

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ระบุว่า ประเทศไทยวางตนเป็นผู้นำด้านความเท่าเทียมกันทางเพศมานานและให้คำมั่นสัญญาต่างๆ ในระดับนานาชาติว่าจะปกป้องสิทธิผู้หญิงและสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ความเป็นจริงก็คือผู้หญิงและ LGBTQIA+ ในประเทศจำนวนไม่น้อยยังคงต้องเผชิญกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยีอยู่

 

ด้าน นิราภร อ่อนขาว นักกิจกรรมวัย 22 ปี หนึ่งในผู้ตกเป็นเหยื่อ ‘การพุ่งเป้าสอดแนมทางดิจิทัล’ เผยว่า เธอตกใจมากหลังได้รับการแจ้งเตือนภัยคุกคามจาก Apple ว่าอุปกรณ์ของเธออาจเป็นเป้าหมายของ ‘ผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ’ ในความเป็นจริง iPhone ของเธอถูกเจาะข้อมูลสปายแวร์เพกาซัสถึง 14 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนครั้งที่สูงที่สุดในบรรดาผู้ตกเป็นเป้าหมายทั้งหมดในประเทศไทย เธอเชื่อว่าการโจมตีครั้งนี้เชื่อมโยงกับการมีส่วนร่วมของเธอในขบวนการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชนซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2563

 

ขณะที่ พัชรดนัย ระวังทรัพย์ ผู้ที่ระบุตัวตนทางเพศว่าเป็นเกย์ เขาเป็นอดีตสมาชิก ‘ทะลุฟ้า’ ซึ่งเป็นกลุ่มขับเคลื่อนเรียกร้องประชาธิปไตย และเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมหลายคนที่ได้รับการแจ้งเตือนดังกล่าว หลังจากทราบว่ากิจกรรมออนไลน์ของเขาอยู่ภายใต้การเฝ้าระวัง เขาก็กลัวว่าข้อมูลส่วนตัวจะถูกนำมาใช้เพื่อดำเนินคดี เขากล่าวว่า “ฝันร้ายที่สุดของผมคือการที่อาจจะต้องเข้าคุก สำหรับผู้ชายที่เป็นเกย์และผู้หญิงข้ามเพศ คุกไทยถือว่าเป็นสถานที่ที่โหดร้าย เพราะคุณมีโอกาสมากที่จะถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ”

 

นอกจากนี้ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า เธอถูกสร้างภาพให้คนเข้าใจผิดว่าเป็น ‘ตัวแทนจากต่างประเทศที่พยายามบ่อนทำลายรัฐบาลไทย’ โดยปฏิบัติการพุ่งเป้าใส่ร้ายป้ายสีบนโลกออนไลน์ที่มีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งน่าสงสัยว่าอาจจะริเริ่มหรือสนับสนุนโดยรัฐหรือบุคคลอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับรัฐ

 

นักกิจกรรมบางคนเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบของการจงใจเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว (Doxing) ได้แก่ การเปิดเผยเอกสารหรือรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลทางออนไลน์โดยไม่ได้รับความยินยอม

 

ความรุนแรงในโลกดิจิทัลได้สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว (Chilling Effect) ในหมู่นักกิจกรรมผู้หญิงและ LGBTQIA+ จำนวนมากที่เริ่มเซ็นเซอร์ตัวเอง และแยกตัวออกจากงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยสิ้นเชิง ในบางกรณี นักกิจกรรมบางคนยังได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจิตอย่างรุนแรง เช่น อาการหวาดระแวง ภาวะซึมเศร้า และตกอยู่ในสภาวะความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder)

 

ชนาธิปกล่าวทิ้งท้ายว่า “ประเทศไทยจะไม่มีวันเป็นสวรรค์ของความเท่าเทียมทางเพศอย่างที่กล่าวอ้างกัน เว้นแต่รัฐบาลและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยีทันที”

 

ภาพ:แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

อ้างอิง:แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X