×

แอมเนสตี้เปิดรายงานประจำปี 2563/64 ไทยมีเยาวชนต่ำกว่า 18 ปีคนแรกถูกคดี ม.112-ใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินยับยั้งชุมนุม

โดย THE STANDARD TEAM
07.04.2021
  • LOADING...
แอมเนสตี้เปิดรายงานประจำปี-2563_64

วันนี้ (7 เมษายน) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2563/64 รวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2563 โดยให้ภาพรวมของ 5 ภูมิภาค และข้อมูลของแต่ละประเทศทั้งหมด 149 ประเทศ รวมทั้งระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและในประเทศไทยด้วย 

 

รายงานชี้ให้เห็นว่าการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มแข็งในทุกมุมโลก สำหรับประเทศไทยมีหลายประเด็นที่น่าห่วงใย เช่น การบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย การปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐ เสรีภาพในการแสดงออก นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และผู้อพยพ

 

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อธิบายสถานการณ์ภาพรวมของโลก โดยแบ่งอออกเป็น 3 ประเด็นหลักคือ ผลกระทบจากโควิด-19 และผลกระทบต่อสังคม ความรุนแรงเกี่ยวกับเพศและการปราบปรามผู้เห็นต่าง และการแสดงออกทางความคิดเห็น ว่าที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และเผยให้เห็นสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมของแต่ละสังคม กลุ่มแรกที่ต้องพบเจอการเลือกปฏิบัติคือกลุ่มที่ทำงานด้านสาธารณสุข เนื่องจากทำให้ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวและไม่ได้รับการคุ้มครองจากหลายๆ รัฐบาล ทั้งยังมีการใช้เครื่องมือออนไลน์สืบสวนโรคและการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาโดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบ และยังมีผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยที่เดิมก็เข้าถึงทรัพยากรได้อย่างยากลำบากอยู่แล้ว รวมไปถึงจะเห็นมาตรการทางสุขภาพหลายๆ อย่างที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างที่นำมาปฏิบัติต่อคนที่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติศาสนา

 

“แม้จะเห็นความพยายามจากความร่วมมือของหลายประเทศทั่วโลกในการจัดหาวัคซีนเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเข้าถึงทางสาธารณสุข แต่ก็มีมาตรการของรัฐหลายประการที่ทำให้เกิดการกักตุนทางการแพทย์ มีหลายประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือกับมาตรการเหล่านี้ โดยเราตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวมาตรการความร่วมมือในระดับพหุภาคีเหล่านี้ว่าควรจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ฐิติรัตน์กล่าว

 

ฐิติรัตน์กล่าวเสริมอีกว่า การระบาดของโรคโควิด-19 สืบเนื่องมาจนถึงเรื่องความรุนแรงทางเพศ ทำให้ผู้หญิงที่เป็นบุคลากรทางสาธารณสุขถูกเลือกปฏิบัติจากคนในครอบครัว สภาพการล็อกดาวน์ทำให้ผู้หญิงหลายๆ คนที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวอยู่แล้วต้องเจอความรุนแรงมากขึ้นไปอีก กระนั้นแล้วก็ยังเห็นพัฒนาการในทางบวก คือเรามีกฎหมายที่ต่อต้านการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กเกิดใหม่ในหลายๆ ประเทศ รวมถึงการสู้คดีในหลายๆ ประเทศก็มีพัฒนาการในเชิงบวก รวมไปถึงพัฒนาการด้านการผ่านกฎหมายที่ยกเลิกโทษอาญาของการทำแท้งในหลายๆ ประเทศ โดยประเทศไทยเองก็มีกฎหมายใหม่ที่ดูแลเรื่องการทำแท้งแล้วเช่นกันนี้

 

ประเด็นสุดท้ายในระดับโลกที่เป็นประเด็นหนักหน่วงที่สุด คือเรื่องการปราบปรามผู้เห็นต่าง ส่วนนี้จะได้เห็นการเคลื่อนไหวการชุมนุมประท้วงมากมายในโลก ส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนโดยเยาวชน และได้เห็นการปฏิบัติโดยมาตรการของรัฐที่ใช้อาวุธเกือบตลอดเวลา และได้เห็นความพยายามของรัฐในการพยายามฟ้องคดีผู้ที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงสื่อมวลชนที่รายงานข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆ ประเทศเช่นกัน


“ประเด็นที่น่าจะเห็นได้ชัดที่สุดในภูมิภาคนี้คือเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากโควิด-19 เช่นกัน เช่น มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวของโควิด-19 และได้เห็นสื่อมวลชนและบุคคลธรรมดาถูกจับ ถูกลงโทษ เชื่อมโยงกับโรคระบาดโควิด-19 สถานการณ์โรคระบาดมันเน้นย้ำให้เสรีภาพทางการแสดงออกถูกละเมิดและถูกจำกัดเข้าไปอีก ตลอดจนสถานการณ์โรคระบาดถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างของความมั่นคงในหลายๆ ประเทศ” ฐิติรัตน์กล่าว

 

ด้าน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วทำให้โลกเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งนี้ในเมียนมาและในไทยก็มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้น ก้าวต่อไปในอนาคตของภูมิภาคนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเช่นกัน ในเมียนมา ความขัดแย้ง อาวุธ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และกองทัพเมียนมาก็ยังมีอยู่ องค์กรด้านมนุษยธรรมก็ยังถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าช่วยเหลือ ซ้ำยังมีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมยังถูกจำกัดอยู่ ทั้งยังมีบรรษัทหรือภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาส่งผลให้สถานการณ์ต่างๆ แย่ลง ซ้ำร้ายกฎหมายที่ยังคงสร้างความไม่เท่าเทียมเรื่องเพศก็ยังมีอยู่ แม้จะยังไม่มีคดีใดๆ เกิดขึ้นแต่ก็สร้างความหวาดกลัวให้ผู้เกี่ยวข้อง เมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆ มีองค์กรระหว่างประเทศที่แสดงเจตจำนงจะให้ความช่วยเหลือก็โดนปิดกั้น ทั้งยังมีผู้เสียชีวิตซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นเลย

 

โดยปิยนุชยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงวิกฤตเสรีภาพการแสดงออกของเมียนมา จากการที่ประชาชนแสดงละครพื้นบ้านล้อเลียนการเมืองแล้วโดนจับกุมคุมขัง รวมทั้งกวีที่ไปติดป้ายสถานที่ต่างๆ ก็โดนคดี บางพื้นที่โดนจำกัดไม่ให้เข้าถึงข้อมูล เว็บไซต์หลายแห่งก็ต้องปิดตัวลงจากการควบคุมของภาครัฐ

 

“เช่นวันที่ 13 กุมภาพันธ์ คือวันเด็กแห่งชาติของเมียนมา มีปืนใหญ่ตกลงในโรงเรียนจนมีนักเรียนได้รับบาดเจ็บ และยังมีความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กซึ่งกองทัพยอมรับเองว่ามีการข่มขืนกลุ่มโรฮีนจา ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้วและเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบต่อกลุ่มชาติพันธุ์จนเกิดการฟ้องร้องกันขึ้น” ปิยนุชกล่าว

 

ด้านรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อธิบายว่า

 

“สำหรับประเทศไทย เรายังมีประเด็นเรื่องการอุ้มหาย เรื่องเสรีภาพการแสดงออก และผู้ลี้ภัย ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่ามีการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองอยู่มากถึง 779 ครั้ง และมีบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่า 200 ครั้ง จะเห็นถึงความพยายามของประชาชนในการใช้สิทธิต่างๆ และมี พ.ร.ก. ฉุกเฉินเกิดขึ้น ซึ่งดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้นับเป็นเวลา 1 ปี มีการปราบปรามผู้เห็นต่างด้วยกฎหมายมากมาย ถึงแม้จะมีช่วงหนึ่งที่มีการล็อกดาวน์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ก็มีกรณี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหาย จนเยาวชนและผู้คนลงท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐดำเนินการหาความจริง จนกรณีของวันเฉลิมเป็นกระบอกเสียงให้กรณีการอุ้มหายอื่นๆ” ปิยนุชกล่าว

 

ปิยนุชกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่เข้ามาจัดการผู้ชุมนุม ที่ผ่านมาแม้จะพยายามชุมนุมอย่างสงบก็โดนจับกุมด้วยคดีต่างๆ เมื่อล่วงเข้าเดือนตุลาคม ก็เกิดเหตุการณ์ที่มีคนถูกตั้งข้อหา ม.110 ซึ่งมีเยาวชนอยู่ด้วย โดยในปี 2563 เป็นปีแรกที่มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีโดนคดี ม.112

 

นอกจากนี้ยังมีกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินมาอย่างยาวนาน ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยขอเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างมีอิสระ ต้องเข้าถึงทนายความอย่างเหมาะสม และให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปตรวจสอบ และยืนยันว่าอยากให้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายผ่านและเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงต้องการให้สืบค้นกรณีบุคคลสูญหายทุกกรณีอย่างมีประสิทธิภาพ อิสระ และเป็นธรรม

 

“ขอให้ยกเลิกคำสั่งต่างๆ ต่อคนที่เห็นต่างจากรัฐ เพราะประเทศไทยมีคำมั่นสัญญาต่อประชาคมโลกด้านนี้หลายข้อ อยากให้คำนึงถึงประเด็นนี้ด้วย รวมถึงการจับกุมคุมขังโดยพลการ โดยไม่อยากให้ใช้ศาลทหารกับพลเรือนด้วย” ปิยนุชกล่าว 

 

ปิยนุชยังกล่าวอีกด้วยว่า ขอเรียกร้องเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาท อยากให้มีการพิจารณาว่าไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือในการจัดการเรื่องทางการเมือง ทั้งนี้ต้องทำให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น อยากให้แก้ไขข้อกำหนดที่ว่าให้บุคคลใดๆ สามารถฟ้อง ม.112 ต่อบุคลอื่นได้ รวมทั้งยกเลิกการตราโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด และขอให้ถอนข้อกล่าวหาใดๆ ต่อผู้ถูกจับกุมอยู่ในเวลานี้เพียงเพราะมีการแสดงออก และให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมจากกรณีนี้ในทันที

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising