×

แอมเนสตี้ เปิดตัวอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุมและบันทึกข้อมูลตามหลักสิทธิมนุษยชน

โดย THE STANDARD TEAM
16.08.2020
  • LOADING...

วันนี้ (16 สิงหาคม) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดตัว ‘อาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุม’ เพื่อสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมสาธารณะ โดยใช้หลักการที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยประกาศเริ่มงานในเดือนสิงหาคม 2563 พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ (Mob Data Thailand) ซึ่งได้พัฒนาร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เพื่อเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างฐานข้อมูลการชุมนุมภาคประชาชน

 

อาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คืออาสาสมัครที่สนใจและให้ความสำคัญในประเด็นสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดผ่านการฝึกอบรม แลกเปลี่ยนความรู้และทักษะการเฝ้าสังเกตการณ์และการบันทึกการชุมนุมสาธารณะอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล ซึ่งเนื้อหาหลักสูตรการอบรมบางส่วนมาจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย และผ่านการอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธี นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้เรียนรู้ทักษะการสังเกตการณ์และการบันทึกการชุมนุม รวมไปถึงการเตรียมตัวด้านความปลอดภัยในการรับมือกับสถานการณ์รูปแบบต่างๆ

 

ด้าน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่าการรวมตัวกันของอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุมมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวและความชอบธรรมของผู้สังเกตการณ์ว่ามิได้เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุม ต้องการบันทึกข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยอิงจากตัวชี้วัดด้านสิทธิมนุษยชน และเสริมทักษะการเฝ้าสังเกตการณ์การชุมนุมอย่างมืออาชีพ

 

“หลักการสำคัญคือผู้สังเกตการณ์จะต้องไม่แสดงความคิดเห็นถึงการชุมนุมสาธารณะ ไม่ส่งเสริมหรือทำลายขวัญกำลังใจของผู้ที่ประสงค์จะมาร่วมชุมนุม และที่สำคัญคือผู้สังเกตการณ์จะต้องไม่มีส่วนร่วมหรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ ต่อการชุมนุม การดำเนินกิจกรรมจะทำโดยเข้าไปสังเกตการณ์ จดบันทึก และรวบรวมข้อมูลที่บันทึกได้จัดทำเป็นเอกสารสำหรับรายงานต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”

 

ปิยนุชยังกล่าวเสริมว่าสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การรวมตัวและสมาคมด้วย ซึ่งรัฐบาลของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยต้องไม่จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ เพราะสิทธิเหล่านี้ได้รับการรับรองภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

 

โดยทางเครือข่ายแจ้งว่าการสังเกตการณ์การชุมนุมครั้งแรกจะมีขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ โดยอาสาสมัครสังเกตการณ์ชุมนุมจะมีการแขวนป้ายซึ่งมีคำว่า ‘ผู้สังเกตการณ์’ ระบุไว้อย่างชัดเจน เพื่อแยกว่าผู้สังเกตการณ์มิได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ชุมนุม

 

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ยังได้ร่วมกันพัฒนาเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ (Mobdatathailand.org) เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเริ่มบันทึกข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 และเปิดให้ทดลองใช้งานตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2563 โดยเว็บไซต์นี้จะเป็นอีกพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการรายงานสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นได้ 

 

นอกจากนี้ได้ยังร่วมมือกับองค์กรที่มีภารกิจเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมอย่างศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ประชาไท และ Law Long Beach โดยหากมีชุดข้อมูลที่มีนัยสำคัญที่สามารถนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย จะได้ถูกนำเสนอต่อภาครัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพในการชุมนุมที่ดีขึ้นในประเทศไทย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising