×

แอมเนสตี้เตรียมปิดสำนักงานในฮ่องกงภายในสิ้นปีนี้ หลังเผชิญกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่จากรัฐบาลจีน

โดย THE STANDARD TEAM
26.10.2021
  • LOADING...
Amnesty International Hong Kong

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกง จะยุติการดำเนินงานในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ในขณะที่สำนักงานภูมิภาค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสำนักเลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จะปิดตัวลงภายในสิ้นปี 2021 โดยจะมีการถ่ายโอนการดำเนินงานระดับภูมิภาคให้กับสำนักงานภูมิภาคในเอเชีย-แปซิฟิกอื่นๆ แทน   

 

อันจูลา ไมอา สิงห์ พาย ประธานกรรมการสากลแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เราตัดสินใจด้วยความยากลำบาก โดยเป็นผลมาจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง ซึ่งทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงแทบไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นอิสระ และทำงานด้วยความหวาดกลัวที่จะถูกตอบโต้อย่างร้ายแรงจากรัฐบาล

 

“ที่ผ่านมาฮ่องกงเคยเป็นฐานที่มั่นระดับภูมิภาคในอุดมคติขององค์กรภาคประชาสังคม แต่การพุ่งเป้าโจมตีกลุ่มสิทธิมนุษยชนในพื้นที่และกลุ่มสหภาพแรงงาน เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเร่งทำงานของทางการที่จะกำจัดเสียงที่เห็นต่างทั้งหมดในนครแห่งนี้ ทำให้พวกเราประสบปัญหามากขึ้นในการดำเนินงาน เนื่องจากสภาพการทำงานที่ไม่มั่นคง”   

 

ปัจจุบันแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีสำนักงานสองแห่งในฮ่องกง โดยมีออฟฟิศในประเทศซึ่งเน้นการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาในเมืองแห่งนี้ และมีสำนักงานภูมิภาคซึ่งทำงานวิจัย รณรงค์ และผลักดันเชิงนโยบายสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก โดยจะมีการถ่ายโอนงานของสำนักงานภูมิภาคทั้งหมดให้กับสำนักงานในที่ใหม่ 

 

อักเนส คัลลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เรารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อสมาชิกและเจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ในฮ่องกง ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ได้ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งในและจากฮ่องกง ตั้งแต่การกดดันจนทำให้มีการยกเลิกการใช้โทษประหารทุกกรณีในฮ่องกงเมื่อปี 1993 ไปจนถึงการเปิดโปงหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการใช้กำลังจนเกินขอบเขตของตำรวจระหว่างการประท้วงในปี 2019 แอมเนสตี้ ฮ่องกงได้จุดไฟเพื่อเผยให้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางคืนวันอันมืดมน 

 

“สำหรับในระดับภูมิภาค งานวิจัยและรณรงค์ของเรามุ่งแก้ปัญหาต่างๆ รวมทั้งสิทธิเสรีภาพการแสดงออกในเกาหลีเหนือ, การไม่เข้ารับการเกณฑ์ทหารด้วยเหตุจากมโนธรรมสำนึกในเกาหลีใต้, สิทธิในที่อยู่อาศัยที่มองโกเลีย, การทารุณกรรมระหว่างสงครามที่ญี่ปุ่นกระทำต่อหญิงบำเรอ (Comfort Women) และการปราบปรามทนายความด้านสิทธิมนุษยชนในจีน   

 

“นอกจากนั้น โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษาของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกง ยังจัดงานเสวนาและเทศกาลภาพยนตร์สารคดี เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกด้านสิทธิมนุษยชน ไม่เฉพาะตามโรงเรียนต่างๆ ในเมืองแห่งนี้ แต่สำหรับสาธารณชนทั่วไปด้วย ไม่มีบุคคลใดและอำนาจใดที่จะทำลายมรดกเหล่านี้ได้”   

 

กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติถูกประกาศใช้โดยรัฐบาลกลางของจีนเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2020 มีเป้าหมายเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘การแบ่งแยกดินแดน’ ‘การโค่นล้มอำนาจรัฐ’ ‘การกระทำที่เป็นการก่อการร้าย’ และ ‘การร่วมมือกับกองกำลังในต่างประเทศหรือภายนอก เพื่อคุกคามความมั่นคงของรัฐ’

 

นิยามของคำว่า ‘ความมั่นคงของรัฐ’ ที่กว้างขวางและคลุมเครือ ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งการของทางการจีน ได้ถูกนำมาใช้โดยพลการ เพื่อเป็นเหตุผลในการจำกัดสิทธิมนุษยชนที่จะมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และการสมาคม รวมทั้งการปราบปรามเสียงที่เห็นต่างและฝ่ายค้านทางการเมือง   

 

ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 แอมเนสตี้บันทึกข้อมูลความถดถอยด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วในฮ่องกง 1 ปีหลังมีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ  

 

“สภาพแวดล้อมของการปราบปรามและความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ทำให้เราไม่อาจทราบได้เลยว่าการดำเนินงานเช่นใดจะส่งผลให้ถูกดำเนินคดีอาญาบ้าง กฎหมายนี้ได้ถูกใช้ครั้งแล้วครั้งเล่ากับบุคคลที่เป็นเป้าหมาย ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับทางการด้วยเหตุผลหลายประการ ตั้งแต่การร้องเพลงทางการเมือง ไปจนถึงการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในห้องเรียน” อันจูลา ไมอา สิงห์ พายกล่าว  

 

“การบุกตรวจค้น การจับกุม และการฟ้องคดีอย่างเป็นระบบต่อผู้ที่รัฐมองว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม เน้นให้เห็นว่าความคลุมเครือของกฎหมายนี้อาจถูกใช้ในทางที่บิดเบือน เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลใดที่รัฐกำหนดเป็นเป้าหมาย”

 

รัฐบาลมุ่งปราบปรามนักกิจกรรม นักการเมืองฝ่ายค้าน และสื่ออิสระ รวมทั้งยังขยายการปราบปรามไปยังองค์กรภาคประชาสังคม ตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายนี้ มีอย่างน้อย 35 กลุ่มที่ถูกยุบหรือเลิกการดำเนินงานไป ไม่ว่าจะเป็นสหภาพแรงงาน รวมไปถึงกลุ่มนักกิจกรรมใหญ่สุดในเมืองแห่งนี้ด้วย 

 

“นับเป็นสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ยากลำบากในอนาคตของฮ่องกง แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จะยังคงยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวฮ่องกง เราจะต่อสู้เพื่อให้มีการเคารพสิทธิของพวกเขา และจะจับตามองเพื่อตรวจสอบบุคคลที่ปฏิบัติมิชอบต่อพวกเขาต่อไป

 

“แม้การเดินทางออกจากเมืองที่เป็นบ้านของเรามาหลายทศวรรษเป็นเรื่องที่ปวดร้าวใจ แต่เราก็ภูมิใจกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา และมั่นใจว่าพลังของผู้สนับสนุนกว่า 10 ล้านคนทั่วโลกของแอมเนสตี้ จะช่วยให้เรายังสามารถยืนหยัดทำงานเพื่อยุติการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนในทุกแห่งหนต่อไป” อักเนส คัลลามาร์ดกล่าว

 

สำหรับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นขบวนการสิทธิมนุษยชนระดับโลกที่มีสมาชิก 10 ล้านคน มีสำนักงานในกว่า 70 ประเทศ เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเพื่อกดดันให้รัฐบาลทั่วโลกต้องรับผิดชอบตามมาตรฐานที่เท่าเทียมของกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ  

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกง มุ่งทำงานเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนในเมืองแห่งนี้ โดยทุนสนับสนุนส่วนใหญ่จากเงินบริจาคของประชาชนในฮ่องกง   

 

สำนักงานภูมิภาคในฮ่องกงซึ่งทำงานร่วมกับสำนักงานภูมิภาคที่กรุงเทพฯ ทำงานวิจัย รณรงค์ กดดัน และผลักดันเชิงนโยบายทั่วภูมิภาค รวมทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เกาหลีเหนือ, มองโกเลีย, เมียนมา, ไทย, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, บรูไน, สิงคโปร์, ติมอร์-เลสเต, ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์, ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะในแปซิฟิก   

 

รายได้ส่วนใหญ่ของแอมเนสตี้มาจากเงินบริจาคของประชาชนทั่วโลก การบริจาครายบุคคลและไม่ผูกพันกับองค์กร ช่วยให้ทางหน่วยงานดำเนินการโดยมีอิสระอย่างเต็มที่ ไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาล อุดมการณ์ทางการเมือง ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ หรือศาสนา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่รับเงินทุนสนับสนุนในการทำงานวิจัยหรืองานรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลหรือพรรคการเมืองใดๆ  

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising