วานนี้ (16 กุมภาพันธ์) ไคลด์ วอร์ด รองเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นขบวนการของคนธรรมดาที่เคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ที่มีการดำเนินงานในกว่า 70 ประเทศ มีสมาชิกและผู้สนับสนุนใน 150 ประเทศและดินแดน ไม่ว่าเป็นการดำเนินงานในที่ใด เราต่างมีภารกิจเดียวกันคือ การป้องกัน ตรวจสอบ และกระตุ้นให้รัฐ บรรษัท และหน่วยงานหรือบุคคลอื่นต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศ
“เราให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ต่อทางการเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ทำได้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของตน เราจะยังคงดำเนินงานเช่นนี้ต่อไปอย่างเป็นอิสระและไม่ลำเอียง และตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ต่อกรณีที่มีการรณรงค์ต่อต้านแอมเนสตี้ และการตรวจสอบที่เกี่ยวข้อง เราพร้อมจะตอบคำถามที่รัฐบาลมีเกี่ยวกับการทำงานของเราในประเทศไทยต่อไป
“แม้เราตระหนักว่ารัฐบาลไทยมีหน้าที่คุ้มครองความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ แต่เรายังคงต้องเน้นย้ำว่าทางการต้องปฏิบัติหน้าที่นี้ในลักษณะที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และต้องเป็นการดำเนินงานที่ได้สัดส่วน จำเป็น และตอบสนองต่อพันธกรณีของรัฐบาล เพื่อประกันและสนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ
“ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อให้ทางการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตน จัดทำขึ้นตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีการให้ความเห็นชอบในระดับสากล และประเทศไทยให้คำมั่นที่จะปฏิบัติตาม
“การรณรงค์ต่อต้านแอมเนสตี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ทางการกำลังดำเนินงานเพื่อประกาศใช้กฎหมายที่กำลังถูกจับตามอง เพื่อควบคุมกำกับหน่วยงานไม่แสวงหากำไรในประเทศ ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ฉบับนี้ อาจส่งผลอย่างร้ายแรงต่อภาคประชาสังคมทุกส่วนในประเทศไทย และที่ผ่านมาแอมเนสตี้ได้เรียกร้องในทุกโอกาสที่เป็นไปได้ เพื่อให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายนี้ และให้เปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติม การโจมตีแอมเนสตี้เกิดขึ้นพร้อมกับสภาวะที่ทางการไทยดูจะมีความอดทนต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนน้อยลง”
สำหรับประเด็นการขับไล่ สืบเนื่องมาจากในเดือนพฤศจิกายน 2564 เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เรียกร้องอย่างเปิดเผย ให้ขับไล่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกจากประเทศไทย โดยได้จัดทำการลงชื่อทางออนไลน์ สนับสนุนการรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดีย และการจัดประท้วง ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบสนองด้วยการประกาศให้มีการสอบสวนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายว่า พวกเขาเป็นขบวนการของคนธรรมดาที่มีสมาชิกมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก ที่ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมสำหรับทุกคน ประกอบด้วยสำนักเลขาธิการใหญ่ และเครือข่ายสมาชิกระหว่างประเทศและหน่วยงานที่เป็นสมาชิกระดับประเทศ รวมทั้งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แม้ว่าแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และสำนักเลขาธิการใหญ่ จะเป็นองค์กรนิติบุคคลที่แยกจากกัน แต่มีการร่วมมือทำงานอย่างใกล้ชิดภายใต้ธรรมนูญฉบับเดียวกัน
ภาพ: แฟ้มภาพ