×

ชาวอเมริกันเริ่มหมดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้วิกฤตเงินเฟ้อ ขณะที่กูรูเศรษฐกิจคาด Fed จ่อขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด

14.02.2022
  • LOADING...
ชาวอเมริกันเริ่มหมดความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้วิกฤตเงินเฟ้อ ขณะที่กูรูเศรษฐกิจคาด Fed จ่อขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด

ตัวเลขเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ยืนยันได้จากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Sentiment Index) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่า ระดับความเชื่อมั่นลดลงมาอยู่ที่ 61.7 คะแนน โดยลดลงจากเดือนมกราคมก่อนหน้ามากกว่า 8% และทำสถิติเลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปี

 

สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า ชาวอเมริกันเริ่มวิตกกังวลต่อฐานะทางการเงินของครอบครัว ท่ามกลางสภาพสังคมที่ต้องเผชิญกับวิกฤตไวรัสโควิดระบาดควบคู่ไปกับปัญหาเงินเฟ้อพุ่ง

 

โทมัส ไซมอนส์ (Thomas Simons) นักเศรษฐศาสตร์แห่งตลาดการเงินของ Jefferies กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากเงินเฟ้อแล้วก็ไม่มีปัจจัยอื่นใดที่จะฉุดให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวอเมริกันปรับตัวลดลงในระดับที่ต่ำเช่นนี้ แม้ว่าจะมีสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวไปในทางบวกเพียงใดก็ตาม

 

รายงานความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีขึ้นเพียงไม่นานหลังมีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนมกราคมที่ขยับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 7.5% ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 40 ปี

 

ขณะเดียวกัน แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะออกมาให้คำมั่นในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม และรัฐบาลสหรัฐฯ เอ่ยสัญญาทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เพื่อปรับลดราคาสินค้า แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ยังขยับปรับตัวลดลง จนคาดการณ์ว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐฯ อาจไม่ให้ผลลัพธ์ใดๆ ที่น่าพึงพอใจ 

 

โดยเกือบ 6 ใน 10 ของชาวอเมริกัน ลงมติไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขณะที่ความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ นำโดยประธานาธิบดีไบเดนก็ร่วงลงหนัก โดยล่าสุดเหลืออยู่เพียง 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมีนาคม 2021 ซึ่งอยู่ที่ 30%

 

รายงาน CNN ระบุว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีผลอย่างมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขับเคลื่อนโดยกำลังการบริโภคของประชากรในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นหากผู้บริโภคไม่มั่นใจที่จะควักเงินจากกระเป๋า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ไม่อาจฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ตามที่คาดหวังไว้

 

ริชาร์ด เคอร์ติน (Richard Curtin) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง Surveys of Consumers กล่าวว่า ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขณะนี้ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ได้ว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะชะลอการใช้จ่าย ถือเป็นข่าวร้ายของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้นักเศรษฐศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งต้องออกมาปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

ขณะเดียวกัน ทีมบรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจของสถานีโทรทัศน์ CNN ยังได้เผยแพร่บทวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยระบุว่า เมื่อพิจารณาจากตัวเลขเงินเฟ้อในปัจจุบัน นักเศรษฐศาสร์ทั้งหลายเริ่มมีความมั่นใจมากว่า โอกาสที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% แทนที่จะเพิ่มขึ้นทีละนิดที่ 0.25% ตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

 

หากว่า Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% จริงจะนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2000 ที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ โดยการปรับจะมีขึ้นครั้งแรกในช่วงเดือนมีนาคม

 

นอกจากนี้ สมาชิก Fed หลายราย รวมถึง เจมส์ บูลลาร์ด ประธาน Fed สาขาเซนต์หลุยส์ ที่กล่าวถึงจุดยืนของตนเองว่าอยู่ในสายเหยี่ยว และต้องการให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบเต็มจำนวนคือ 1.0% ภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ต่อไป

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่ามีความเป็นไปได้ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าธรรมเนียมปฏิบัติที่นิยมที่ 0.25% เพราะรายงานภาวะเงินเฟ้อสูงทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยย่อมไม่อาจเกิดผลตามที่คาดกันไว้ อีกทั้ง Fed มีโอกาสที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้ง โดยธนาคารแห่งอเมริกาคาดการณ์ว่า Fed น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 7 ครั้งในปีนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอการเติบโตแบบนิ่มนวล หรือ Soft Landing ได้อย่างดี

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X