ข่าวการปลดพนักงานจำนวนมากของอุตสาหกรรมการบินซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 ยังคงมีมาต่อเนื่อง ล่าสุด American Airlines ได้ออกมาเปิดเผยว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงานจำนวน 19,000 คนโดยไม่สมัครใจตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เว้นแต่อุตสาหกรรมการบินจะได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากสภาคองเกรส
สายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีพนักงาน 133,700 คน กล่าวว่าจะต้องลดจำนวนพนักงานลง ‘อย่างน้อย’ 40,000 คน เพื่อประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงมรสุมนี้ไปให้ได้ ในจำนวนนี้ 12,500 คนได้ตกลงที่จะออกจากบริษัทด้วยการเกษียณอายุก่อนกำหนด ซึ่งเกิดขึ้นไปแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม และยังมีอีก 11,000 คนตกลงที่จะลาออกโดยสมัครใจในเดือนตุลาคม
“แม้จะมีการเสียสละของสมาชิกในทีมไปแล้วก็ตาม แต่ยังจะมีพนักงานอีก 19,000 คนที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่งโดยไม่สมัครใจในวันที่ 1 ตุลาคม เว้นแต่จะมีการขยายความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง” หนึ่งในข้อความที่ซีอีโอของ American Airlines ส่งถึงพนักงานชาวอเมริกัน
ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย CARES Act ซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่อุตสาหกรรมการบินของสหรัฐฯ มากถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท สายการบินไม่สามารถปลดพนักงานหรือปลดพนักงานโดยไม่สมัครใจได้จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม
“ปัญหาเดียวของกฎหมายนี้คือเมื่อมีการบังคับใช้ในเดือนมีนาคม สันนิษฐานว่าภายในวันที่ 30 กันยายน ไวรัสจะอยู่ภายใต้การควบคุม และความต้องการในการเดินทางทางอากาศจะกลับมา” จดหมายฉบับนี้กล่าว
แต่ที่สุดแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ American Airlines คาดว่าความต้องการบินของชาวอเมริกันจะกลับมาในสัดส่วนเพียง 50% เท่านั้นในไตรมาสที่ 4 และสำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศหนักกว่านั้น เพราะประเมินแล้วว่าความต้องการบินจะลดลงเหลือ 25% เมื่อเทียบกับปี 2019 ดังนั้นกลุ่มสายการบินขนาดใหญ่จึงเรียกร้องให้มีการเจรจาความช่วยเหลือเพิ่มเติมกับรัฐบาลกลาง แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ข้อตกลง
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก American Airlines แล้ว สายการบินขนาดใหญ่อื่นๆ ก็ได้ออกมาเตือนที่จะต้องปลดพนักงานจำนวนมาก เนื่องจากความต้องการเดินทางทางอากาศลดน้อยลง โดย United Airlines ออกมาเตือนว่ามีงานมากถึง 36,000 ตำแหน่งที่ตกอยู่ในความเสี่ยง ส่วน Lufthansa อาจลดจำนวนพนักงาน 20,000 ตำแหน่ง ขณะที่ British Airways จะลดตำแหน่งงาน 12,000 ตำแหน่งด้วยกัน
การลดลงเกิดขึ้นท่ามกลางคำเตือนว่าผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 จะทำให้สายการบินสูญเสียมากกว่า 8.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.6 ล้านล้านบาททั่วโลกในปีนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: