×

ครม. รับหลักการแก้ กม.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สธ. สั่งศึกษาความต้องการผ่อนปรน 1 สัปดาห์ ปัดตก 3 ร่าง ฉบับเท่าพิภพ-ปชช.

โดย THE STANDARD TEAM
03.03.2024
  • LOADING...

วันนี้ (3 มีนาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงผลการประชุม ครม.ว่าที่ประชุม ครม. มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันคือ ฉบับ พ.ศ. 2551 จนถึงตอนนี้ผ่านมา 16 ปีแล้ว ซึ่งตามหลักการกฎหมายทุกฉบับเมื่อบังคับใช้ผ่านไป 5 ปีแล้วต้องมาทบทวนว่า เมื่อเทียบกับสถานการณ์ยังใช้ได้ดีอยู่หรือไม่ 

 

กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่ายังมีบางประเด็น บางแง่มุมที่ไม่มีความชัดเจน บทบัญญัติไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเสนอร่างฯ ใหม่เข้ามาโดยกำหนดนิยามคำว่า ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ‘ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ และ ‘สื่อสารการตลาด’ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอดีตกฎหมายไม่ได้ระบุว่าปริมาณแอลกอฮอล์เท่าไร ไม่เกินเท่าไร ทำให้อยู่ที่การตีความ ดังนั้นในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จะระบุชัดว่า หากแอลกอฮอล์ไม่เกิน 0.5% ไม่ถือว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

 

นอกจากนี้ยังบัญญัติให้เพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการชุดต่างๆ และให้อำนาจหน้าที่รัฐมนตรีที่รักษาการตาม พ.ร.บ. ในการกำหนดไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ขายหรือสถานบริการ รวมทั้งเพิ่มโทษหากละเมิดดื่มในจุดที่ห้ามขาย ปรับไม่เกิน 10,000 บาท 

 

ชัยกล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่านโยบายของรัฐบาลต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงต้องคำนึงถึงมิติทางด้านเศรษฐกิจ ต้องมีการผ่อนปรนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมิติด้านสุขภาพ เรื่องความปลอดภัยจากการดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ครม. จึงเห็นชอบว่า ร่าง พ.ร.บ. ต้องยกร่างใหม่ โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะทำงานไปศึกษาว่า ในด้านการท่องเที่ยว การกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการการผ่อนปรนด้านใดบ้าง และนำกลับมาเสนอให้ ครม. พิจารณาภายใน 1 สัปดาห์ หาก ครม. เห็นชอบก็ส่งให้กฤษฎีกาเพื่อนำไปประมวลให้เนื้อหาร่างออกมามีความสมดุลทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ

 

ไม่รับหลักการ 3 ร่าง ฉบับเท่าพิภพ-ฉบับประชาชน

 

ขณะเดียวกัน ชัยกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์อีก 3 ฉบับ โดยที่สำนักงานกฤษฎีกาได้นำเสนอความเห็นหลังนำทั้ง 3 ร่างไปพิจารณาว่า ฉบับของ เจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 19,042 คน และ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะ มีมาตรการควบคุมในระดับผ่อนปรนมาก และมีหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยในหลักการคือ สธ., กทม. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ขณะที่ฉบับของ ธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชน มีหลักการที่เข้มงวดเกินไป 

 

สำนักงานกฤษฎีกาจึงได้ตั้งข้อสังเกตของกฤษฎีกาว่าไม่ควรรับหลักการ ดังนั้น ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบข้อสังเกตของสำนักงานกฤษฎีกา และยังไม่เห็นชอบร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ แต่จะนำข้อสังเกตบางส่วนไปประกอบกับร่างกฎหมายฉบับ สธ. พร้อมส่งคืนสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 มีนาคมตามกำหนด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X