วันนี้ (5 พฤศจิกายน) วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงกรณีที่ นิกร จำนง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ออกมาระบุว่า การจัดทำประชามติไม่ทันการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568 ว่า การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังถือเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคเห็นตรงกัน ซึ่งนิกรเข้าร่วมการประชุมโดยตลอด และทำให้เห็นชัดเจนว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่น ปี 2568 จะไม่ทันทำประชามติ ส่งผลให้การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2570 อาจใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ทัน
วราวุธกล่าวว่า การทำงานเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น หัวใจสำคัญคือการเร่งจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และอายุของ สสร. ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวาระสภาชุดนี้ที่จะหมดในวันที่ 13 พฤษภาคม 2570 ขณะที่การตั้ง สสร. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2540 ในสมัยของรัฐบาล บรรหาร ศิลปอาชา ก็ไม่ได้ประกาศใช้สมัยรัฐบาลของบรรหาร แต่ก็ยังได้รับเครดิตการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ขออย่าเพิ่งหมดหวัง รัฐบาลจะเร่งทำงานเต็มที่เพื่อให้เกิด สสร. และจะมีกลไกรับฟังความคิดเห็นในทุกพื้นที่ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ส่วนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งใหม่นั้นขออย่ากังวลว่าเราจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะกฎหมายเลือกตั้งเป็นกฎหมายที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เรายังมีสภาผู้แทนราษฎรที่สามารถแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งได้ ยกเว้นเรื่องบัตร 1 ใบหรือ 2 ใบ ซึ่งเป็นกติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยแก้เกมตัดตอนในเรื่องการทำประชามติให้เหลือแค่ 2 ครั้งนั้น วราวุธกล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีแนวทางมาก็ค่อนข้างชัดเจน การแก้ไขมาตรา 256 จำเป็นต้องทำประชามติ และเมื่อมี สสร. แล้ว จะต้องทำประชามติครั้งหนึ่ง ส่วนจะ 2 ครั้งหรือ 3 ครั้ง ขอให้ช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงามจะดีกว่า เพราะหากมีการลัดขั้นตอนไปแล้วเกิดปัญหาขึ้นมา 2-3 ปีที่ผ่านมาจะกลับไปที่ศูนย์ แต่หากเพิ่มเวลาอีกนิดและทำประชามติตามขั้นตอนสุดท้าย ก็จะคุ้มค่าที่เราดำเนินการไป พร้อมย้ำว่า เครดิตของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้หมายความว่ารัฐธรรมนูญต้องประกาศใช้ในรัฐบาลนี้ แต่การให้เกิด สสร. คือหัวใจสำคัญ
ด้าน เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลวานนี้ (4 พฤศจิกายน) ว่า มีการพูดคุยกัน 2 เรื่อง คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยังได้รับคำยืนยันว่า ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะไม่มีการแตะมาตรา 112 ซึ่งเป็นจุดยืนหลักของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด เราจะไม่สังฆกรรม ไม่สนับสนุน และพร้อมขัดขวางทุกวิถีทาง ในการแก้ไขมาตรา 112 รวมไปถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ต้องไม่นับรวมเรื่องมาตรา 112