สำนักข่าวต่างประเทศรายงานตรงกันว่า Amazon ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซสัญชาติสหรัฐฯ เตรียมประกาศแผนปลดพนักงานครั้งใหญ่ราว 10,000 คน โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป
การประกาศเลิกจ้างพนักงานครั้งนี้ใหญ่ที่สุดของ Amazon นับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งบริษัทมา โดยหลักๆ จะกระทบต่อพนักงานฝ่ายบริการเครื่องมือบริการจัดการของ Amazon ฝ่ายค้าปลีก และฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นหลัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เชือดไก่ให้ลิงดู? ‘อีลอน มัสก์’ เจ้าของคนใหม่ Twitter ลงดาบไล่ออก ‘พารัก อักราวาล’ ผู้รั้งตำแหน่งซีอีโอ แต่คาดจะได้รับเงินชดเชยมากถึง 1.6 พันล้านบาท
- วิศวกรซอฟต์แวร์รายหนึ่งเขียนระบาย ถูก Facebook ‘เลิกจ้าง’ หลังย้ายจากอินเดียมาแคนาดาได้เพียง 2 วัน
- นักเศรษฐศาสตร์เตือน จะเกิด ‘การเลิกจ้างครั้งใหญ่’ ในมนุษย์เงินเดือนกลุ่มเทคโนโลยี-การเงิน-อสังหา อันเกิดจาก ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอย’
แม้จะเป็นจำนวนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่สัดส่วนการปลดพนักงานดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่า 1% ของพนักงาน Amazon ทั่วโลก และไม่ถึง 3% ของพนักงานระดับองค์กรของ Amazon
ทั้งนี้ ตามรายงานของ Amazon พบว่า จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2021 บริษัทมีพนักเต็มเวลาและพาร์ตไทม์ รวมทั้งสิ้น 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 102% อย่างไรก็ตาม The New York Times ระบุว่า จำนวนการเลิกจ้างทั้งหมดยังไม่ตายตัว และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
การตัดสินใจของ Amazon ครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสปลดพนักงานของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในสหรัฐฯ หลายแห่ง เช่น Meta บริษัทแม่ของ Facebook ได้ออกมาประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 11,000 คน หรือราว 13% ของพนักงานทั้งหมดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่วน Twitter เองก็มีคำสั่งเลิกจ้างพนักงานประมาณครึ่งหนึ่งของบริษัทในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ตามแนวทางลดค่าใช้จ่ายของ อีลอน มัสก์ เจ้าของคนใหม่ ที่รื้อปรับโครงสร้างองค์กรชุดใหญ่หลังจากทุ่มซื้อกิจการด้วยมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จากทาง Amazon
ด้านนักวิเคราะห์พากันตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินใจปลดคนงานของ Amazon ในครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเทศกาลช้อปปิ้งส่งท้ายปี ซึ่งมักเป็นช่วงที่ Amazon ประกาศรับแรงงานเพิ่มเติมมากกว่าจะปรับลด เนื่องจากเป็นช่วงที่วุ่นวายที่สุดของปี แต่ก็สอดคล้องกับแนวทางของ แอนดี้ แจสซี ซีอีโอ Amazon คนใหม่ ที่ขึ้นมาบริหารบริษัทต่อจาก เจฟฟ์ เบโซส์ เมื่อปี 2021 ซึ่งมุ่งตัดลดค่าใช้จ่าย หวังเก็บเงินสดเพื่อรักษาสภาพคล่องของบริษัท ท่ามกลางยอดขายที่ลดลงและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ก่อนหน้านี้ทาง Amazon เคยส่งสัญญาณรัดเข็มขัดด้วยการประกาศแผนการระงับการจ้างงานสำหรับบทบาทองค์กรในธุรกิจค้าปลีกแล้ว ขณะที่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา Amazon ได้สั่งปิดบริการ Telehealth เลิกใช้โปรเจกเตอร์วิดีโอคอลสำหรับเด็ก ปิดศูนย์บริการทางโทรศัพท์ ยกเว้นในสหรัฐอเมริกา เลิกใช้หุ่นยนต์ส่งของสัญจร ปิดร้านสาขาที่มีผลงานต่ำ และกำลังจะปิด ยกเลิก หรือเลื่อนตำแหน่งคลังสินค้าใหม่บางแห่ง
ก่อนหน้านี้ไม่นานทาง Amazon เพิ่งจะเปิดเผยรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งค่อนข้างน่าผิดหวัง ส่งผลให้นักลงทุนตื่นตระหนกและเทขายหุ้นจนราคาร่วงมากกว่า 13% เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 ที่มูลค่าตามราคาตลาดของ Amazon ลดลงต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ และรายงานฉบับนี้เป็นรายงานฉบับที่สองของปีนี้ที่ทำให้มีการเทขายหุ้น Amazon เป็นตัวเลขสองหลัก การเทขายยังคงดำเนินต่อไปหลายวันหลังจากรายงาน และทำสถิติมากกว่าหุ้นในตลาดที่ลดลงในช่วงไวรัสโควิดระบาดเกือบทั้งหมด
ขณะที่รายได้ในไตรมาส 4 ทาง Amazon ได้ออกมาคาดการณ์ว่า จะสามารถเพิ่มขึ้น 2-8% แตะระดับ 1.40-1.48 แสนล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.55 แสนล้านดอลลาร์
โดยทันทีที่มีรายงานปลดพนักงาน หุ้นของ Amazon เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 พฤศจิกายน) ปรับตัวลดลงราว 2.5% ทำให้ตลอดทั้งปี 2022 หุ้นของ Amazon ปรับตัวลดลงไปแล้วประมาณ 41% มากกว่าดัชนี S&P 500 ที่ลดลง 14% และยังเป็นปีที่แย่ที่สุดของ Amazon นับตั้งแต่ปี 2008
ด้านบรรยากาศตลาดหุ้น Wall Street โดยรวมเมื่อวานนี้ (14 พฤศจิกายน) เปิดตลาดรับสัปดาห์ใหม่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ไม่ค่อยสดใสเท่าไรนัก โดยดัชนีทั้งสามตลาดปรับตัวลดลง หลังจากที่เพิ่งจะปรับตัวอยู่ในแดนบวกสองวันติดต่อกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยคาดว่าน่าจะเป็นผลจากการที่บรรดานักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อดูทิศทางความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจ และพิจารณารายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ของบรรดาบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ที่ทยอยเปิดเผยออกมา
ทั้งนี้ ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ปรับลดลง 0.6% หรือ 211.16 จุด มาอยู่ที่ 33,536.70 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 0.89% มาอยู่ที่ 3,957.25 จุด และดัชนี Nasdaq Composite ลดลง 1.12% ปิดที่ 11,196.22 จุด ซึ่งการซื้อขายมีความผันผวนตลอดทั้งวัน เหตุตลาดกำลังดิ้นรนหาทิศทางตลอดช่วงเซสชันก่อนปิดตัวในแดนลบ
คริส ฮัสซีย์ จาก Goldman Sachs กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์นี้เป็นช่วงที่มีการชะลอตัวเพื่อศึกษาข้อมูล หลังผ่านฤดูกาลทำกำไรในช่วงไตรมาส 3 มาแล้ว โดยเหลือเพียง 7 สัปดาห์ ก่อนจะถึงปี 2023
สัปดาห์ที่แล้ว ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 5.9% นับเป็นผลประกอบการประจำสัปดาห์ที่ดีที่สุดของดัชนี S&P 500 นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยได้แรงหนุนจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ดีเกินคาด ทำให้หลายฝ่ายคาดหวังว่าธนาคากลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มชะลอขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อในไม่ช้า
ในส่วนของสัปดาห์นี้ บริษัทหลายแห่งยังคงเดินหน้าประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่มบริษัทค้าปลีก เช่น Walmart, Home Depot, Target, Lowe’s, Macy’s และ Kohl’s เป็นต้น
อ้างอิง: