×

เปิดลิ้นชักสมอง ทวงคืนความทรงจำที่หายไป

17.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เคยมีความเชื่อว่าโรคอัลไซเมอร์นั้นจะค่อยๆ ‘ลบ’ ความทรงจำของผู้ป่วยไปจนหมด ยิ่งเวลาผ่านไปผู้ป่วยจะยิ่งเลอะเลือนและไม่สามารถจำอะไรได้อีกเลย
  • ผลการทดลองที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ชี้ว่าความจริงแล้วอาการป่วยของโรคนี้แค่เพียงรบกวนระบบการเรียกคืนความทรงจำเท่านั้น ไม่ใช่การลบทิ้งแล้วหายไปเลยตลอดกาล
  • ที่น่าสนใจกว่านั้นคือมันสามารถถูกกระตุ้นและเรียกคืนกลับมาได้อีกด้วย

หลายครั้งที่เวลาไปซื้อของที่ซูเปอร์มาเก็ตผมต้องใช้เวลานานเป็นพิเศษ เหตุผลหลักๆ เลยคือเป็นคนขี้ลืม ถึงแม้ว่าพยายามจดเอาไว้ในมือถือว่าตอนนี้ที่บ้านขาดอะไรบ้าง พอไปถึงที่ซูเปอร์ฯ จริงๆ ก็ลืมเอาขึ้นมาดู (บอกแล้วนะว่าขี้ลืม)

 

การเดินดูเล่นไปเรื่อยๆ มองสินค้าต่างๆ บนชั้นเป็นการกระตุ้นความทรงจำว่า “เออ…น้ำยาล้างจานที่บ้านก็หมดนะ อ๋อแล้วก็นำ้ยาล้างขวดนมลูกด้วย นั่นๆ ถุงใส่น้ำนมก็เหมือนเหลือนิดเดียว…ฯลฯ” แล้วลิสต์รายการซื้อก็จะงอกเงยขึ้นมาเรื่อยๆ

 

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจจากประสบการณ์เหล่านี้คือความจริงแล้วผมไม่ได้ลืมหรอก ความคิดความทรงจำต่างๆ มันฝังตัวอยู่ที่ไหนสักแห่งในสมองนั่นแหละ ปัญหาคือเราต้องใช้วิธีการไหนเพื่อจะเข้าถึงมันได้เท่านั้น

 

นี่เป็นแนวคิดหนึ่งที่เหล่านักวิทยาศาสตร์พยายามพิสูจน์เกี่ยวกับอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอัลไซเมอร์ เพราะเคยมีความเชื่อที่ว่าโรคอัลไซเมอร์นั้นจะค่อยๆ ‘ลบ’ ความทรงจำของผู้ป่วยไปจนหมด ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไรผู้ป่วยก็จะยิ่งเลอะเลือนและไม่สามารถจำอะไรได้อีกเลย แม้กระทั่งชื่อตนเองหรือคนรักที่เคยเป็นทั้งชีวิต (ยกตัวอย่างหนังโรแมนติกสุดคลาสสิกอย่าง ‘The Notebook’)

 

 

ในตอนนี้ผลการทดลองในหนูที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ชี้ว่าความจริงแล้วอาการป่วยของโรคนี้แค่เพียงรบกวนระบบการเรียกคืนความทรงจำเท่านั้น ไม่ใช่การลบทิ้งแล้วหายไปเลยตลอดกาล และที่น่าสนใจกว่านั้นคือมันสามารถถูกกระตุ้นและเรียกคืนกลับมาได้อีกด้วย

 

การค้นพบครั้งนี้อาจจะเป็นการปฏิวัติวงการในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการพัฒนายาที่สามารถช่วยเรียกความทรงจำบางส่วนย้อนกลับคืนมาได้ มันคงเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนที่อยู่รอบข้างอย่างแน่นอนทีเดียว

 

เพื่อทดสอบว่าโรคอัลไซเมอร์นั้นมีผลกระทบต่อความทรงจำยังไง นักทดลองต้องหาทางแยกแยะความทรงจำแต่ละชิ้นว่าอยู่ในสมองส่วนไหนของหนูทดลองบ้าง พวกเขาเลยตัดแต่งยีนของหนูทดลองให้นิวรอนในสมองเรืองแสงสีเหลืองเมื่อเก็บความทรงจำ และถ้าเรียกคืนความทรงจำก็จะเรืองแสงสีแดง หลังจากนั้นก็แบ่งหนูทดลองนี้ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนูปกติและหนูที่ได้รับยาที่ออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

 

หลังจากนั้นหนูทั้งสองกลุ่มนี้ก็ถูกนำมาทดสอบอีกครั้ง ขั้นตอนแรกคือการฝังความทรงจำเข้าไปในสมอง โดยระหว่างที่ดมกลิ่นมะนาวก็จะถูกช็อตด้วยกระแสไฟอ่อนๆ เพื่อให้มันสะดุ้ง ตอนนี้เองที่นักทดลองต้องบันทึกว่านิวรอนในสมองส่วนไหนที่เรืองแสงเป็นสีเหลือง

 

หลังจากนั้นประมาณหนึ่งอาทิตย์ก็นำเจ้าหนูพวกนี้กลับมาทดลองอีกครั้งหนึ่ง หนูที่สุขภาพแข็งแรงดีโดยส่วนมากแล้วเมื่อได้กลิ่นมะนาวอันเดิมปุ๊บ มันจะหยุดเดินและเกร็งตัว เพราะคิดว่าตัวเองกำลังจะโดนไฟช็อต ภาพสแกนในสมองตอนนั้นส่วนที่เรืองแสงสีเหลืองกับสีแดงก็จะทับซ้อนกัน ซึ่งหมายความว่าเจ้าหนูพวกนี้เรียกความทรงจำเกี่ยวกับประสบการณ์ ‘มะนาว-โดนช็อต’ กลับคืนมาจากจุดที่เก็บไว้ได้อย่างถูกต้อง

 

แต่หนูที่มีลักษณะคล้ายผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้นมากกว่าครึ่งเมื่อได้กลิ่นมะนาว พวกมันจะหยุด แล้วสักพักก็เดินต่อ ซึ่งภาพสแกนสมองแสดงให้เห็นว่าเจ้าหนูพวกนี้เรียกความทรงจำผิดที่ เพราะส่วนเรืองแสงสีแดงไม่ได้ซ้อนทับกับจุดเรืองแสงสีเหลือง นี่เองที่เป็นหลักฐานบ่งบอกว่าที่พฤติกรรมของมันแตกต่างดูผิดปกติออกไปเพราะมันอ่านความทรงจำออกมาผิดส่วน คล้ายกับคอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาดเรียกไฟล์ A แต่กลับได้ไฟล์ B ออกมาแทน

 

จุดนี้สามารถอธิบายได้ว่าทำไมผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักให้ข้อมูลที่ผิดพลาดเวลาถูกถาม ยกตัวอย่างคำถามง่ายๆ เช่น “เช้านี้ทานข้าวกับอะไร?” ผู้ป่วยอาจจะไปดึงความทรงจำเมื่อสิบปีก่อนออกมาแล้วบอกว่า “กินกุ้งเผา” ทั้งๆ ที่เมื่อกี้เพิ่งทานข้าวผัดแหนมไปประมาณนั้น

 

การทดลองยังไม่สิ้นสุด เมื่อรู้แล้วว่าความทรงจำฝังตัวอยู่ตรงส่วนไหนของสมอง นักทดลองก็เลยทดสอบว่าจะมีวิธีไหนบ้างที่จะกระตุ้นให้หนูทดลองที่เป็นอัลไซเมอร์นั้นดึงข้อมูลตรงส่วนนั้นกลับมาได้อีก พวกเขาเลยลองใช้กระบวนการที่เรียกว่า ‘optogenetics’ ซึ่งเป็นเทคนิคทางชีวภาพที่ฉายแสงเลเซอร์สีน้ำเงินเข้าตามสายไฟเบอร์ออปติกเพื่อควบคุมและทดสอบการทำงานของเซลล์เนื้อเยื่อที่ถูกดัดแปลงทางพันธุกรรม

 

พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นก็คือพวกเขาได้ทดลองฉายแสงไปยังส่วนเก็บความทรงจำของสมองของหนูที่ป่วย ผลลัพธ์ที่ได้คือหนูจะหยุดเดินและเกร็งตัว เพราะคิดว่าตัวเองจะโดนช็อตเหมือนหนูกลุ่มที่แข็งแรงปกติเช่นกัน

 

ความทรงจำที่เราคิดว่า ‘หาย’ ที่จริงแล้วอาจจะไม่ได้หายไปไหนหรอก และนี่แสดงให้เห็นว่าเรายังมีโอกาสเรียกมันกลับคืนมาอีกด้วย แต่เทคนิคการฉายแสงแบบนี้ยังไม่ปลอดภัยมากพอที่จะใช้กับมนุษย์ได้โดยตรง แต่ในอนาคตอาจจะมีการผลิตยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะจุดเพื่อเรียกความทรงจำที่เลือนหายไปกลับคืนมาก็เป็นได้

 

ถ้าการเรียกคืนความทรงจำแบบในหนูทดลองสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในมนุษย์ได้คงเป็นประโยชน์ไม่น้อย มันอาจจะเป็นหลักฐานชิ้นใหญ่ในการเรียกคืนความทรงจำของจำเลยในคดีสำคัญๆ ในชั้นศาล (ที่ความทรงจำถูกบล็อกเนื่องจากอาการช็อก) หรือขนาดที่ว่าสามารถเรียกดูความทรงในวัยเด็กที่เราจำไม่ได้เลยว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยซ้ำ

 

ถึงตอนนี้เราอาจจะมีข้อพิสูจน์ว่าความทรงจำนั้นไม่ได้หายไปไหนหรอก มันอยู่ที่ไหนสักแห่งในสมองนี่แหละ แต่ในเมื่อเราไม่รู้ว่ามันเก็บไว้ตรงไหน การเรียกคืนให้ตรงจุด 100% ก็เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้

 

ปัญหาที่ควรต้องระวังและคิดกันให้รอบคอบคือถ้าเกิดไปเรียกคืนความทรงจำที่เราอยากลืมขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น ความทรงจำที่ดีนั้นมีคุณค่าตีเป็นเงินตราไม่ได้ก็จริง แต่ในขณะเดียวกันความความทรงจำอันเลวร้ายหากเป็นไปได้ก็ไม่มีใครอยากเรียกมันให้คืนมาเช่นเดียวกัน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X