บางทีกิจวัตรประจําวันอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายอย่างไม่ทันคาดคิด เรื่องบางเรื่องที่เราทำเป็นประจำ หากทำมันซ้ำๆ ย้ำๆ เป็นเวลานานก็อาจมีผลตามมาได้เช่นกัน
และล่าสุดมีงานวิจัยใหม่ออกมา สำหรับคนที่ชอบ ‘แคะจมูก’ อาจต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะมันอาจส่งผลต่อสมอง ทำให้เกิด ‘โรคอัลไซเมอร์’ ได้
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Griffith ของออสเตรเลีย ได้พบแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ‘Chlamydia pneumoniae’ มันสามารถเดินทางผ่านเส้นประสาทรับกลิ่นของโพรงจมูก โดยใช้เป็นเส้นทางโจมตีระบบประสาทส่วนกลางไปจนถึงสมองส่วนกลาง และเซลล์ในสมองตอบสนองต่อการโจมตี โดยฝากโปรตีนเบตาอะไมลอยด์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของโรคอัลไซเมอร์ และภาวะสมองเสื่อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ศาสตราจารย์ James St. John ผู้ร่วมวิจัย และหัวหน้ากลุ่ม Clem Jones Centre for Neurobiology and Stem Cell Research ได้ทำการศึกษาในหนู และกล่าวว่า เส้นประสาทรับกลิ่นทำหน้าที่เป็นช่องทางด่วนสำหรับแบคทีเรียในการเดินทางไปถึงสมองได้ และการวิจัยขั้นต่อไปพวกเขาจะศึกษาเส้นทางเดียวกันในมนุษย์
สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ แบคทีเรียดังกล่าวไม่เพียงแต่มีแค่ในหนูเท่านั้น แต่ในมนุษย์เองก็มี เพียงแค่พวกเขายังไม่ได้ศึกษาเส้นทางการเดินทางที่พวกมันจะไปถึงสมอง ซึ่ง St. John และทีมของเขาได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การสูญเสียกลิ่นอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์
เบื้องต้นพวกเขาอาจเริ่มศึกษาจากกลุ่มคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เริ่มรับกลิ่นได้ไม่เหมือนเดิม รวมถึงยังพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ นอกจากอายุ อย่างสภาพแวดล้อม การสัมผัส รวมไปถึงแบคทีเรีย Chlamydia pneumoniae
อ้างอิง: