×

Alternative Data: ตัวช่วยปลดล็อก SMEs รายย่อยเข้าสู่ระบบสินเชื่อได้มากขึ้น

08.02.2023
  • LOADING...

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาคึกคักหลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ บ่งบอกถึงสัญญาณบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต่อเนื่องในปี 2566 อย่างไรก็ดี สำหรับธุรกิจภาคอุตสาหกรรมยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวแต่ยังไม่ครอบคลุมในทุกขนาดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ SMEs รายย่อยที่ยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนยังอยู่ในระดับต่ำ การช่วยให้ SMEs รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ ล่าสุดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่ากำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำข้อมูลการชำระหนี้สาธารณูปโภค ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน Alternative Data มาใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อ ในบทความนี้จะอธิบายที่มาของ Alternative Data ที่สามารถครอบคลุมถึงข้อมูลอะไรได้บ้าง และที่สำคัญช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้อย่างไร 

 

ปัจจุบันความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ไทยยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากข้อมูลยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs ของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 22% ของสินเชื่อรวม ลดลงจากปี 2560-2562 อยู่ที่ 37% ซึ่งสอดคล้องกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่าการปล่อยสินเชื่อให้กับ SMEs ในประเทศไทยมีเพียง 10% เท่านั้นที่สามารถผ่านการประเมินและกู้ยืมได้ ซึ่งมีการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันโดยเฉลี่ยสูงกว่าวงเงินที่ขอสินเชื่อถึง 5 เท่า อีกทั้งมีเพียง 10% ของธุรกิจ SMEs ที่ผ่านการประเมินจากสถาบันการเงิน 


บทความที่เกี่ยวข้อง


ซึ่งสาเหตุหลักที่สถาบันการเงินไม่สามารถปล่อยกู้ให้กับ SMEs คือ 

 

  1. มีสินทรัพย์ค้ำประกันที่ไม่เพียงพอ 
  2. มีปัญหาเรื่องการจัดทำแผนธุรกิจ 
  3. ขาดประสบการณ์การทำธุรกิจ ซึ่งเหตุผลนี้หากเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ ถึงแม้จะทำโครงการที่น่าสนใจก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 
  4. คะแนนเครดิตที่สถาบันการเงินประเมินออกมาต่ำ  

 

นอกจากนี้ จากการสำรวจของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยหลังสถานการณ์โควิด พบว่าภาพรวมผู้ประกอบการ SMEs ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อประมาณ 70% หรือ 2.6-2.7 ล้านราย โดยเฉพาะ SMEs รายย่อย (ตามนิยามของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่าเป็นกิจการที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี) ทำให้ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากกว่า และมีสถานะไม่ต่างจากบุคคลธรรมดาที่ขาดหลักประกันในการเข้าถึงบริการทางการเงิน 

 

Alternative Data คือข้อมูลที่สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางเพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อ โดยหลักปฏิบัติทั่วไปการวิเคราะห์สินเชื่อจะพิจารณาจากข้อมูลทางการเงินของผู้กู้ที่บ่งชี้ถึงความสามารถในการชำระหนี้เป็นพื้นฐาน สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้แก่ SMEs นั้น สถาบันการเงินและ Non-Bank ยังคงให้ความสำคัญกับข้อมูลทางการเงิน (Financial Data) ของผู้ประกอบการด้วย ดังจะเห็นได้จากเกือบทุกสถาบันมีการขอเอกสารแสดงรายได้ 6 เดือนย้อนหลัง, สำเนางบการเงินย้อนหลัง 3 ปี, สำเนาใบเสร็จการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้และมีผลกำไรจากการดำเนินกิจการล่าสุดติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี 

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาบางสถาบันการเงินได้กำหนดเงื่อนไขด้านข้อมูลที่ไม่ใช่การเงิน (Non-Financial Data) เพิ่มเข้ามา ได้แก่ หลักฐานการมีตัวตนของผู้กู้, ระยะเวลาการประกอบกิจการ, ผู้ถือหุ้นหลัก, แผนการดำเนินธุรกิจ, ข้อมูลด้านการตลาด และข้อมูลด้านการผลิตสินค้า 

 

นอกจากนี้ Non-Bank มีการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ‘พฤติกรรมการใช้ชีวิต’ เช่น ทัศนคติและพฤติกรรมผู้กู้ในชีวิตประจำวัน การใช้ข้อมูลโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน แต่แท้ที่จริงอาจสามารถใช้ประเมินความน่าจะเป็นในการชำระหนี้ได้ ดังตัวอย่างบริษัทฟินเทครายหนึ่งใช้ข้อมูลการใช้แอปพลิเคชันเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียเป็นแนวทางในการบ่งบอกความน่าจะเป็นในการชำระหนี้ เช่น ถ้ามีแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย (เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ) มากกว่า 23 แอปบนมือถือ ความน่าจะเป็นในการชำระหนี้ก็จะลดลง 20%  

 

ดังนั้น ข้อมูลด้านต่างๆ ที่ใช้บ่งบอกหรือสามารถเชื่อมโยงถึงความสามารถของผู้ประกอบการหรือผู้กู้ในการชำระหนี้ได้ถือว่าเป็น Alternative Data ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือข้อมูลที่ไม่ใช่การเงิน ปัจจุบันสถาบันการเงินบางแห่งรวบรวมและนำข้อมูลที่แตกต่างหลากหลายมาใส่ในแบบจำลองการวิเคราะห์สินเชื่อร่วมกับข้อมูลทางการเงิน จากข้อมูลการศึกษาของ สสว. พบว่าการดำเนินงานด้านสินเชื่อในต่างประเทศมีการพิจารณานำข้อมูลด้านที่ไม่ใช่การเงิน (Non-Financial Data) มาประกอบการพิจารณาสินเชื่อให้แก่ SMEs โดยเฉพาะรายที่มีขนาดเล็กหรือเริ่มธุรกิจใหม่ ในสัดส่วนประมาณ 60-70%   

 

หลากหลายข้อมูลที่สามารถใช้เป็น Alternative Data สำหรับ SMEs รายย่อย ซึ่งในที่นี้ หากมององค์ประกอบด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางการเงินแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือรายรับและรายจ่าย โดยในด้านรายรับซึ่งเรียกว่า Traditional Data ปกติใช้ข้อมูลหลักๆ จากงบการเงิน, ใบสั่งซื้อสินค้า สามารถใช้ข้อมูลทางเลือกเพิ่มเติม ได้แก่ การจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), รายได้จากออนไลน์เดลิเวอรี หรือในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการรัฐก็อาจใช้รายรับผ่านโครงการรัฐ เช่น คนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน สำหรับด้านรายจ่าย จากเดิมที่ใช้ข้อมูลงบการเงินเป็นหลักเช่นกัน ก็อาจใช้ข้อมูลทางเลือกเพิ่ม ได้แก่ การจ่ายเงินสมทบประกันสังคม, การจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, บิลชำระค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้อาจใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ การถือครองที่ดิน, การจดทะเบียนรถยนต์, การจ่ายภาษีรถยนต์, ระดับการศึกษา เป็นต้น

 

การใช้ Alternative Data คาดว่าจะทำให้ SMEs รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น จากการที่สถาบันการเงินมีความยืดหยุ่นปรับใช้ Alternative Data หลากหลายด้านใส่ในโมเดลการวิเคราะห์สินเชื่อ ทำให้คะแนนเรตติ้งหรือการจัดอันดับความสามารถของผู้กู้สะท้อนตัวตนของผู้กู้ได้สมบูรณ์มากขึ้น จากเดิมหาก SMEs รายย่อยไม่มีประวัติทางการเงินกับสถาบันการเงิน เนื่องจากไม่เคยใช้สินเชื่อในระบบ คะแนนเครดิตจะออกมาต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งธนาคารพาณิชย์อาจไม่มั่นใจ เพราะผู้ประกอบการไม่มีประวัติการชำระหนี้หรือประวัติด้านเครดิต ทำให้ความเป็นไปได้ในการได้รับสินเชื่อจากธนาคารยิ่งห่างไกลออกไปอีก  

 

ทำอย่างไรให้เข้าถึง Alternative Data จากข้อมูลทางเลือกด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลการใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภคในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวอยู่ภายใต้การครอบครองโดยหน่วยงานภาครัฐ เช่น การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เหล่านี้การได้มาซึ่งข้อมูลต้องได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากหน่วยงานดังกล่าว รวมทั้งการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ต้องคำนึงถึง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA ด้วยเช่นกัน 

 

จะเห็นได้ว่าการเข้าถึงข้อมูลทางเลือกเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ก็มีแนวโน้มที่สามารถทำได้ หากมีการประสานความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสถาบันการเงิน โดยพิจารณาขอข้อมูลในนามหน่วยงานกลาง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลประกอบการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อให้ SMEs รายย่อยเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินมากขึ้น เช่น ข่าวล่าสุดของกระทรวงการคลังที่มีการหารือร่วมกันกับหน่วยงานหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและข้อมูลการชำระค่าไฟฟ้ามาประกอบการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs ในต่างจังหวัด สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและสภาพคล่องในระบบได้ 

 

การนำ Alternative Data มาพิจารณาจัดอันดับความสามารถของผู้กู้เพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อ คาดว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยทำให้ SMEs รายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้มากขึ้น และสถาบันการเงินเองก็จะสามารถลดต้นทุนได้ โดยการใช้ประโยชน์ของข้อมูลทางเลือกเพื่อช่วยตัดสินใจในการวิเคราะห์สินเชื่อได้อย่างถูกต้องมากขึ้น ทำให้สามารถให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมได้มากขึ้น 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising