×

บทสรุปข้อพิพาทที่ดิน ส.ป.ก. จับตาฉากต่อ หรือซ้ำรอยล้มรัฐบาล

โดย THE STANDARD TEAM
01.03.2024
  • LOADING...
ที่ดิน ส.ป.ก.

แม้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเคยเป็นตัวกลางในการสงบศึกของ 2 กระทรวง ที่เกี่ยวพันกับ 3 หน่วยงาน อันได้แก่ กรมป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อกรณีการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ทับในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บริเวณบ้านเหวปลากั้ง ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 

 

ที่มี ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร องครักษ์พิทักษ์ป่า ในฐานะผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ออกหน้าชนกับ ส.ป.ก. ไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งยังได้กล่าวอ้างว่า นโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ทำให้เริ่มมี ส.ป.ก. ที่ผิดปกติเข้ามาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในหลายพื้นที่และหลายจังหวัด ไม่ใช่แค่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เท่านั้น 

 

อย่างไรก็ตาม นโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตรนั้น เป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ของพรรคพลังประชารัฐ ที่มี ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค นั่งเป็นเจ้ากระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่มีการเผยแพร่ระเบียบฯ

 

ในระเบียบดังกล่าวมีสาระสำคัญ เช่น เพิ่มบทนิยามคำว่า ‘โฉนดเพื่อการเกษตร’ และให้เกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมาแล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถนำเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ของตนเอง ไปยื่นขอเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรได้ โดย ส.ป.ก. จะต้องพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และหากไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ให้ ส.ป.ก. ขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน

 

ไทม์ไลน์พิพาทที่ดิน ส.ป.ก. รุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์

 

THE STANDARD ชวนผู้ติดตามเรียงไทม์ไลน์ รวมถึงสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ ณ เวลานี้ยังไม่สามารถหาทางลงได้ 

 

วันที่ 30 กรกฎาคม 2566

 

พบการบุกรุกพื้นที่ โดยใช้เครื่องจักรซึ่งเป็นพื้นที่ติดถนนแนวเขตอุทยานแห่งชาติ และพบป้ายแสดงเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระวาง ส.ป.ก. ที่ 523814808 โดยไม่พบบุคคลใดในพื้นที่บุกรุก จำนวน 3-3-93 ไร่ 

 

วันที่ 6 สิงหาคม 2566 

 

มีการไถปรับพื้นที่และดันต้นไม้ออกจากแปลงตรวจยึดเดิม ตามที่ได้พบเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พร้อมจับกุมตัว สหรัฐ ทศกระโทก กับพวกรวม 2 คน ด้วยหลักฐานรถแทรกเตอร์ 2 คัน พร้อมอุปกรณ์หยอดข้าวโพดและอุปกรณ์พรวนดิน 

 

วันที่ 10 ตุลาคม 2566 

 

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ประกาศกรณีเฉพาะราย เรื่อง ผลการคัดเลือกและอนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา (ประเภทแปลงเกษตรกรรม) หากผู้ใดประสงค์คัดค้านให้ยื่นคำร้องที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา ภายในกำหนด 30 วัน 

 

วันที่ 18 ตุลาคม 2566 

 

เจ้าหน้าที่อาสาพัฒนาชุมชนเขาใหญ่ ร่วมกับ ส.ป.ก.นครราชสีมา กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ตรวจสอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ท้องที่บ้านเหวปลากั้ง หมู่ที่ 10 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง พบมีการปักหมุด ส.ป.ก. เข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติ จำนวน 5 หมุด ระยะทางประมาณ 300 เมตร

 

จากนั้นได้ส่งหนังสือถึง อัครเดช เรียนหิน ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เพื่อขอทราบตำแหน่งแปลงที่ดิน และรูปแปลงของบุคคล 3 ราย ตามที่ ส.ป.ก.นครราชสีมาออกประกาศ เนื่องจากรายชื่อตามบัญชีไม่ใช่ราษฎรในพื้นที่ของตน

 

วันที่ 20 ตุลาคม 2566 

 

เจ้าหน้าที่อาสาพัฒนาชุมชนเขาใหญ่ ขอให้ ส.ป.ก.นครราชสีมา รื้อถอนหลักหมุดทั้ง 5 หมุดออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ

 

วันที่ 31 ตุลาคม 2566

 

เจ้าหน้าที่อาสาพัฒนาชุมชนเขาใหญ่ คัดค้านการปักหลักหมุด ส.ป.ก. ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา รวม 3 ราย 3 แปลง เนื้อที่ประมาณ 73-0-37 ไร่

 

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 

 

ส.ป.ก.นครราชสีมา ออกเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 แปลงเลขที่ 9 ให้ พนวรรฒห์ ศิริธนธิปชัยกูร อยู่บ้านเลขที่ 57 หมู่ที่ 5 ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ โดยที่อุทยานแห่งชาติและผู้ใหญ่บ้านไม่ทราบเรื่อง 

 

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 

 

เจ้าหน้าที่อาสาพัฒนาชุมชนเขาใหญ่ ตรวจยึดพื้นที่บุกรุกเนื้อที่ประมาณ 1-2-80 ไร่ มีการปักหลักหมุด ส.ป.ก. เข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติ จำนวน 5 หมุด ระยะทางยาวประมาณ 300 เมตร 

 

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 

 

ส.ป.ก.นครราชสีมา ออกประกาศผลการคัดเลือกในพื้นที่หมู่ 10 บ้านเหวปลากั้ง ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปรากฏรายชื่อรวม 5 ราย 5 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 72-2-27 ไร่ จากนั้น ส.ป.ก.นครราชสีมาแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านปิดประกาศผลการคัดเลือกและอนุญาต

 

วันที่ 26 ธันวาคม 2566 

 

ส.ป.ก.นครราชสีมา แจ้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ว่า จากการตรวจสอบค่าพิกัด 5 หมุด พบว่าแปลงที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และอำเภอปากช่อง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน 2534 โดยแปลงที่ดินตั้งอยู่ในโครงการที่จำแนกป่าเขาใหญ่

 

วันที่ 6 มกราคม 2567 

 

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ตรวจยึดพื้นที่บุกรุกแผ้วถางป่า ปรับพื้นที่ทำการปลูกต้นมะม่วง โดยมีการตรวจยึดพื้นที่ เนื้อที่ 3 ไร่ และตรวจพบหลักหมุด ส.ป.ก. จำนวน 3 หมุด ในพื้นที่

 

วันที่ 9 มกราคม 2567 

 

เจ้าหน้าที่ได้รับสัญญาณภาพจากกล้อง Network Centric Anti – Poaching System (NCAPS) ที่ติดตั้งไว้ในพื้นที่บุกรุกแผ้วถางป่า พบผู้กระทำผิด จำนวน 5 ราย กำลังรดน้ำต้นมะม่วง จึงได้เข้าทำการจับกุม พร้อมทั้งตรวจยึดรถยนต์ จำนวน 1 คัน

 

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ในเว็บไซต์ของสำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน มีการกำหนดพื้นที่สำหรับการปฏิรูปที่ดินเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จำนวน 2,933 ไร่ 

 

ชัยวัฒน์ยังกล่าวอีกว่า มีการกำหนดรูปแปลงเพื่อออกเอกสารสิทธิ จำนวน 42 แปลง เนื้อที่ประมาณ 972 ไร่ และจากการตรวจสอบข้อมูลรายชื่อบุคคลผู้ได้รับคัดเลือกให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) พบว่า ไม่ใช่ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกร

 

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 

 

อุทยานแห่งชาติได้รายงานข้อมูลดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตรวจสอบ และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ในการรังวัดและกำหนดรูปแปลง ส.ป.ก. 4-01ในเว็บไซต์ของสำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน การฝังหลักหมุด ส.ป.ก. และออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

 

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 

 

เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้ใหญ่บ้านเหวปลากั้ง ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพป่าดิบแล้งอุดมสมบูรณ์ และพบร่องรอยการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่า เช่น เก้ง ช้าง กระทิง 

 

พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ติดกับถนนป่าไม้ลำลองซึ่งเป็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ในท้องที่บ้านเหวปลากั้ง คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันรื้อถอนหลักหมุดเขต ส.ป.ก. ที่ตรวจพบทั้งสิ้น 27 หมุด เสาหลักเขต 5 ต้น รื้อถอนต้นมะม่วงที่ปลูกเพื่อยึดครองพื้นที่ จำนวน 20 ต้น และรื้อถอนป้ายประกาศที่แสดงการได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 1 ป้าย

 

พร้อมทั้งได้ร้องขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมี อัครเดช เรียนหิน ส.ป.ก.นครราชสีมา ผู้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สนับสนุนให้เกิดการกระทำผิด

 

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 

 

ส.ป.ก., กรมแผนที่ทหาร และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยกรมแผนที่ทหารจะเข้าดำเนินการสำรวจเส้นแนวเขตของทั้งสองหน่วยงานให้มีความถูกต้อง ชัดเจน ใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ และให้ ส.ป.ก.นครราชสีมา ยุติการปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว จนกว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องเส้นแนวเขตที่ชัดเจน

 

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567

 

พล.ต.อ. พัชรวาท​ วงษ์สุวรรณ​ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือกับ ร.อ. ธรรมนัส​ ถึงกรณีข้อพิพาทต่อการออกเอกสารสิทธิที่ดิน​ ส.ป.ก. เขาใหญ่ดังกล่าว 

 

ร.อ. ธรรมนัสให้สัมภาษณ์หลังการหารือว่า ไม่ควรจัดสรรพื้นที่มีความเสี่ยงที่รุกล้ำพื้นที่ของเขตอุทยานให้ชาวบ้าน ซึ่งทั้ง 2 กระทรวงเห็นตรงกันให้รอกรมแผนที่ทหารมาชี้ขาด ถ้าพิสูจน์ทราบว่าเป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. จะทำเป็นป่าชุมชน ไม่จัดสรรให้ทำกิน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงด้วย

 

ในวันเดียวกันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีคำสั่งย้ายด่วน ส.ป.ก.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา รวม 6 คน ไปประจำการที่สำนักงานส่วนกลาง เพื่อเปิดทางการสืบสวนข้อเท็จจริง

 

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567

 

นายกรัฐมนตรีเรียก ร.อ. ธรรมนัส พร้อมด้วย เลขาธิการ ส.ป.ก., ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้ากรมแผนที่ทหาร มาหารือเพื่อเฟ้นหาทางออกกรณีปัญหาที่ดินทับซ้อน

 

เบื้องต้นหน่วยงานทหารจะเข้าไปสำรวจและจัดทำแผนที่ที่เป็นมาตรฐานของรัฐแผนที่เดียวเพื่อให้ยุติข้อพิพาท ใช้เวลาสำรวจประมาณ 3 สัปดาห์ ส่วนกรมอุทยานแห่งชาติ และเลขาธิการ ส.ป.ก. จะทำบันทึกข้อตกลงให้มีความร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับที่ดินของรัฐทุกประเภทในการเข้าทำการสำรวจพื้นที่พิพาทร่วมกัน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะประกาศยกเลิกไม่ให้มีการแบ่งที่ดินในแนวเขตกันชน (พื้นที่คาบเกี่ยว) ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ และ ส.ป.ก. เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว

 

จากนั้น ชัยวัฒน์ พร้อมชุดพญาเสือ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินแปลงพิพาท ส.ป.ก. 4-01 หลังจากจับกุมผู้ต้องหานำรถแบ็กโฮเข้ามาปรับไถบริเวณสวนป่าปางอโศก ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และพบหลักหมุด ส.ป.ก. ที่ยังมีสภาพใหม่อยู่ในแนวรั้วใกล้เขาใหญ่

 

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า กรมแผนที่ทหารสำรวจเสร็จแล้ว และได้ข้อสรุปแล้วว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะยึดหลักการและประกาศว่า จะไม่มีการนำที่ดินตามแนวเขตกันชน และพื้นที่คาบเกี่ยวมาใช้แบ่งที่ดิน เพื่อเป็นที่ ส.ป.ก. รวมทั้งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้การปลูกป่าในพื้นที่ดังกล่าว และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกป่าด้วย

 

ขณะเดียวกัน ร.อ. ธรรมนัส ได้แถลงที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาลว่า หนังสือที่เจ้ากรมแผนที่ทหารนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีนั้น มีการระบุชัดเจนพื้นที่ที่ ส.ป.ก. ไปปักหมุดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยไม่ได้อยู่ในเขตอุทยาน แต่พื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เห็นว่าควรกันเป็นพื้นที่กันชน โดยได้หารือกับ พล.ต.อ. พัชรวาท และปลัดทั้ง 2 กระทรวงแล้ว เห็นพ้องว่าต้องแก้ปัญหา โดยไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องทะเลาะกัน แต่ไม่โทษใคร เพราะต่างฝ่ายถือแผนที่คนละฉบับ รวมถึงต่างฝ่ายก็ต่างทำหน้าที่ของตัวเองเช่นกัน

 

ในวันเดียวกัน สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากถือแผนที่คนละฉบับ ซึ่งเป็นปัญหาทั่วประเทศ หลายกระทรวง ทบวง กรมก็เกิดปัญหา โดยแนวทางแก้ไขคือต้องทำ One Map 

 

สำหรับ One Map (การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4,000) ริเริ่มในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยย้อนไปเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ได้สั่งการให้กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนที่ดิจิทัล มาตราส่วน 1:4,000 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อระบุแนวเขตที่ชัดเจนระหว่างพื้นที่ป่ากับพื้นที่ทำกินของประชาชน อันเป็นการลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน 

 

จากนั้นในวันที่ 22 กันยายน 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทาง One Map รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการดำเนินการ พร้อมจัดทำคู่มือหลักเกณฑ์ 13 ข้อ สำหรับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ร่วมกัน

 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 

 

คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกทั้ง 2 หน่วยงานหารือ ซึ่งยังโต้เถียงกันเรื่องแนวเขต

 

อภิชาติ ศิริสุนทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ส.ป.ก. จังหวัดได้ให้การเองว่า กระบวนการตรวจสอบสิทธิเป็นไปโดยมิชอบ รวมถึงจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อสอบสวน โดยมีกรอบเวลาดำเนินการ 30 วัน 

 

ขณะที่ ชัยวัฒน์ กล่าวยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นของเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 100% และหากนายกรัฐมนตรีให้โอกาสก็พร้อมเข้าไปชี้แจง

 

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567

 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และพันธมิตร ได้จัดงานเสวนา ‘จากทับลานถึงเขาใหญ่ พื้นที่ป่าถูกเฉือน?’ ชัยวัฒน์ร่วมงานดังกล่าวด้วย โดยกล่าวถึงความรู้สึกว่า กรณีที่เกิดขึ้น ‘เป็นความเจ็บปวด’ ในหัวใจของผู้พิทักษ์ป่า กรณีนี้กระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์ และไม่ได้เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรก แต่เกิดมานานแล้ว ทั้งในรูปแบบการบุกรุกและการล่าสัตว์ป่า รวมถึงการทับซ้อนของพื้นที่ 

 

ชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า มีหน่วยงานของรัฐบางหน่วยนำเอกสารที่ไม่ทราบที่มาที่ไป มาอ้างสิทธิถือครองพื้นที่ในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นการใช้วิธีการและเทคนิคในการออกระเบียบจนได้มาเป็น ส.ป.ก. ซึ่งเป็นการได้มาด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมและผิดกฎหมาย 

 

ในส่วนการออก One Map นั้น ชัยวัฒน์มองว่ากรมแผนที่ทหารไม่ได้มีสิทธิในการชี้วัดแนวเขต และทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการตามสภาพพื้นที่ป่า ตามแนวทางพระราชกฤษฎีกาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2505 ซึ่งกฎหมายเหล่านี้เกิดก่อนกฎหมายของ ส.ป.ก. 

 

เตรียมไปฟ้องศาลปกครองฯ ว่าการออกระเบียบฯ ตั้งแต่ปี 2564-2566 โดยไม่มีการแจ้งกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และยืนหยัดว่าจะเดินหน้าดำเนินคดีทางกฎหมาย 

 

ชัยวัฒน์กล่าวว่า ออกมาท้าชนเพื่อความถูกต้อง หาก ส.ป.ก. รู้ว่ารุกล้ำพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ก็ขอให้คืนพื้นที่มา ทุกอย่างมีเหตุและมีผล ไม่ได้มีปัญหากับการจัดสรรที่ดินทำกินแก่คนที่ยากไร้ แต่ต้องเอานายทุนออกจากที่ดิน ส.ป.ก. 

 

“ผมไม่มีเบื้องหน้า ไม่มีเบื้องหลัง ไม่มีผลประโยชน์ซ้อนทับ ผมมีหน้าที่ปกป้อง ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของผมเท่านั้น ผมอยู่ในบ้านผม แต่วันนี้ ส.ป.ก. เข้ามาเหยียบเท้าผมถึงในบ้าน ผมอยู่กับลูกน้องที่เดินพิทักษ์ป่า เดินแบกข้าวของหนักเพื่ออยู่พิทักษ์ป่าเป็นเวลานาน 5-10 วัน แต่หันหลังแป๊บเดียว ส.ป.ก. มาปักหมุดในพื้นที่เขตอุทยานฯ และให้กรมแผนที่ทหารไปขีดเส้น และให้จบอย่างหล่อๆ แบบนี้ไม่ได้ ก็สู้ต่อไป” ชัยวัฒน์กล่าว

 

ขณะที่ ธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะตัวแทนของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากช่องโหว่บางประการ ซึ่งรัฐมนตรีได้มีคำสั่งดำเนินคดีกับผู้ที่ทุจริตอย่างเด็ดขาด แล้วจะสร้างบรรทัดฐานเรื่องการปราบปรามนายทุน และปราบปรามบุคคลที่ไม่ได้เป็นเกษตรกร ยืนยันว่าสำนัก ส.ป.ก. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีความหวงแหนผืนป่าอนุรักษ์เฉกเช่นเดียวกับทุกคน 

 

“อย่ามอง ส.ป.ก. เป็นจำเลยครับ คนทำชั่ว 4-5 คน ไม่ได้หมายความว่าคนอีก 1,900 คนจะชั่วด้วย ผมขอร้องในฐานะน้อง ขอร้องในฐานะผู้บริหาร ให้เกิดความเป็นธรรมกับข้าราชการใน ส.ป.ก. ด้วย” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว 

 

คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) จะตั้งอนุกรรมาธิการขึ้น พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันหารือเพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด ในระยะยาวต้องไม่มีการจัดสรรที่ดินที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนแก่ประชาชนอีก พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบการซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. ที่มีนายทุนเข้ามาถือครองแทนเกษตรกรในสัปดาห์หน้า 

 

วันที่ 1 มีนาคม 2567 

 

เวลา 08.30 น. ชัยวัฒน์นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ป.ป.ช., เลขาธิการ ส.ป.ก., ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) รวมทั้งฝ่ายปกครองทั้งหมด รวมถึงคณะอนุกรรมการของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุดนี้ ลงพื้นที่ดูแนวเขตอุทยานว่ามีตรงไหนบ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ลุแก่อำนาจ

 

นโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนด เคยล้มรัฐบาลมาแล้ว 

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2535 ภายหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล และมี ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้ดำเนินการนโยบายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อมอบให้เกษตรกร และมอบหมายให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ดูแล 

 

ในปี 2537 การมอบที่ดินที่จังหวัดภูเก็ตได้เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากสังคมได้สงสัยถึงความเหมาะสมว่าผิดเจตนารมณ์ รวมถึงเข้าข่ายการมีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากหนึ่งในนั้นมีชื่อ ทศพร เทพบุตร สามีของอัญชลี วานิช เทพบุตร เลขานุการของสุเทพด้วย 

 

จากนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. 4-01 พบปัญหา 2 ประการ คือ 1. พื้นที่บางจุดเป็นป่าค่อนข้างสมบูรณ์ และ 2. ปัญหาในการพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรที่จะสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 

 

ขณะนั้น ฝ่ายค้านที่มีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำ และ สส. กลุ่ม 16 นำโดย เนวิน ชิดชอบ ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ทั้ง นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกระทรวงต้นสังกัด

 

ในช่วงปลายปี 2537 หลังการผ่านพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ นิพนธ์และสุเทพลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี พร้อมยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ ชวน หลีกภัย ตัดสินใจยุบสภา ก่อนที่จะมีการลงมติ และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2538 ทำให้เกิดการปฏิรูประเบียบและกฎหมายเกี่ยวกับการแจกจ่ายที่ดินให้ประชาชนเป็นไปอย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วข้อพิพาทครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร จบหล่อๆ ด้วยการหาข้อตกลงร่วมกันได้ หรือจบที่ศาลปกครองมีการฟ้องร้องดำเนินคดีที่อาจลามไปถึงการล้มรัฐบาลเฉกเช่นในสมัยที่ ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นสิ่งที่นับจากนี้สังคมไม่อาจละสายตาได้ ติดตามทุกความเคลื่อนไหวได้ที่ THE STANDARD 

  

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X