“มาที่นี่ได้เจอเพื่อนต่างชาติ เหมือนเราเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเลยครับ” หนึ่งในตัวแทนเยาวชนไทยคนหนึ่งบอกกับเราไว้เช่นนั้น
จากการคัดเลือกเยาวชนไม่จำกัดเพศในช่วงอายุ 14-16 ปี ทั่วประเทศไทยจำนวนหลายพันคนโดย อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ที่ผ่านทั้งหยาดเหงื่อแห่งความมุมานะ หยดน้ำตาความผิดหวัง และความสำเร็จที่กลั่นรวมกันเป็นลิตรๆ ในที่สุดเราก็ได้ 4 ตัวแทนเยาวชนไทยบินลัดฟ้าไปร่วมโครงการอลิอันซ์ เอ็กซ์โพลเรอร์ แคมป์ (Allianz Explorer Camp) ถึงเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม ถึง 2 กันยายนที่ผ่านมา
อลิอันซ์ เอ็กซ์โพลเรอร์ แคมป์ หรืออลิอันซ์ จูเนียร์ ฟุตบอล แคมป์ (Allianz Junior Football Camp: AJFC 2018) คือโครงการที่จัดขึ้นต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 10 โดยอลิอันซ์และสโมสรบาเยิร์น มิวนิก ซึ่งปีนี้ 4 เยาวชนตัวแทนจากไทย ประกอบไปด้วย นาย-วรรุจน์ นามเวช, ฟิล์ม-พัชรพล พงศ์ปัญญา, บอย-เกียรติศักดิ์ สนิทขำ และโต้ง-ศักดา นนท์ภักดี
ตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ของ 4 เยาวชนไทยวัย 16 ปี พวกเขาได้เรียนรู้ทั้งทักษะวิชาลูกหนังจากโค้ชเยาวชนบาเยิร์น มิวนิก, เข้าชมเกมนัดเทสติโมเนียล แมตช์อำลาสนามของบาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ ที่อลิอันซ์ อารีนา, ชมการฝึกซ้อมและพบปะนักฟุตบอลระดับโลกของทีมเสือใต้แบบใกล้ชิด และได้ยิงจุดโทษต่อหน้าโอลิเวอร์ คาห์น พร้อมรับคำสอนของตำนานนักฟุตบอลรุ่นพี่ที่แสนล้ำค่า
ที่พิเศษไปกว่านั้นคือแคมป์อลิอันซ์ไม่ได้สอนแค่ทักษะลูกหนังเท่านั้น แต่ยังเปิด ‘ประสบการณ์ชีวิต’ ถ่ายทอดบทเรียนที่พวกเขาหาไม่ได้จากห้องเรียนที่ไหน แถมเปิดประตูปูพรมให้ทั้ง 4 คนได้เจอเพื่อนอีก 54 คนในกว่า 23 ประเทศ ที่แม้จะต่างชาติพันธ์ุ กายภาพ ศาสนา ความเชื่อ และภูมิหลัง แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ดีต่อกัน หรือการเล่นกีฬาฟุตบอลที่ทุกคนหลงใหลร่วมกันเลยแม้แต่น้อย
THE STANDARD มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้ในฐานะสื่อ แม้จะน่าเสียดายอยู่บ้างที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลและภาพบางส่วนด้วยข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์ แต่เราก็ยังเก็บเกี่ยวความทรงจำดีๆ ตลอด 4 วันที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอลิอันซ์ เอ็กซ์โพลเรอร์ แคมป์ แล้วถักทอร้อยเรียงเป็นบทเรียนเก็บกลับเอามาฝากกัน
บทเรียนที่ 1 ความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร
เยาวชนตัวแทนประเทศไทยในอลิอันซ์ เอ็กซ์โพลเรอร์ แคมป์ ครั้งนี้อายุ 16 ปีทุกคน นั่นหมายความว่าปีนี้คือโอกาสสุดท้ายแล้วที่พวกเขาจะได้เข้าร่วมคัดเลือก และทุกคนก็ไม่พลาดคว้าตั๋วรถไฟขบวนสุดท้ายนี้ไว้ได้อยู่มือ
ที่น่าสนใจคือ 2 ใน 4 เป็นเยาวชนที่เคยล้มเหลวจากการคัดตัวเมื่อปี 2560 เหมือนกันทั้งสิ้น แต่เส้นทางที่พวกเขาเลือกเดินคือการไม่ยอมแพ้ ฝึกฝนตัวเอง ลบช่องโหว่ผ่านการนำคำแนะนำจากโค้ชเพื่อกลับมาทดสอบอีกครั้ง
พัชรพล พงศ์ปัญญา ตัวแทนเยาวชนไทยจากเชียงใหม่ เล่าให้เราฟังว่าเขาเริ่มเล่นฟุตบอลตอน 7 ขวบ แต่เพราะชอบความรู้สึกเวลาได้ยิงประตู บวกกับเห็นข่าวการซื้อขายตัวนักฟุตบอลในโทรทัศน์ด้วยมูลค่าที่สูงลิ่ว จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากต่อยอดไปเป็นนักฟุตบอลอาชีพเพื่อช่วยหาเลี้ยงครอบครัว
“พออายุ 11 ปี ผมก็เริ่มมาจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ยิ่งเห็นข่าวการซื้อขายตัวนักฟุตบอลในโทรทัศน์ที่ค่าตัวสูงกันมากๆ เลยเกิดแรงบันดาลใจอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ จะได้มีเงินเดือนช่วยทำให้ครอบครัวสบาย มีธุรกิจเป็นของตัวเอง
“จนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมได้รู้จักกับอลิอันซ์ จูเนียร์ ฟุตบอล แคมป์ และเห็นว่าเป็นโครงการที่ให้ทุนนักฟุตบอลได้ไปเยี่ยมชมและซ้อมฟุตบอลที่ต่างประเทศ ก็เลยตัดสินใจลองมาสมัครคัดเลือกดูเมื่อปีที่แล้วตอนที่อายุครบ 15 ปี ปรากฏว่าผมตกรอบแรก วันนั้นเสียใจมาก เลยคิดว่าปีหน้า (2561) อยากกลับมาลองอีกครั้ง เพราะเป็นปีสุดท้ายของผมแล้ว”
พัชรพลบอกเหตุผลที่ทำให้เขากลับมาลองสู้อีกครั้งว่าเป็นเพราะว่าปีที่ตกรอบเขารู้ตัวเองว่ามีข้อเสียในจุดใด จึงนำคำแนะนำจากโค้ชกลับมาปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นก่อนที่โอกาสดังกล่าวจะหลุดลอยไป ไม่ต่างจาก วรรุจน์ นามเวช ผู้รักษาประตูดาวรุ่งจากจันทบุรีที่ตกรอบคัดเลือกโครงการของอลิอันซ์ปี 2560 เพราะถูกติงว่า ‘ช้า’ เกินไป ซึ่งเขาก็กลับไปฝึกซ้อมให้หนักจนผ่านการคัดเลือกปี 2561 ในที่สุด
ด้าน เกียรติศักดิ์ สนิทขำ อีกหนึ่งตัวแทนจากระยองที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาในปีนี้บอกว่าการคัดเลือกที่ไทยค่อนข้างยากและกดดันมาก แต่เมื่อผ่านมันมาได้ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจและความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งในชีวิต
“การตกรอบเป็นเรื่องธรรมดาครับ ก็ต้องผ่านมันไปให้ได้แล้วพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ก่อนหน้านี้ผมก็เคยคัดตัวไม่ผ่านมาก่อน มันก็มีทั้งสมหวังและไม่สมหวังบ้างเป็นเรื่องปกติ”
ไม่ใช่แค่เยาวชน 3 คนนี้เท่านั้นที่เป็นสัญลักษณ์ของความตรากตรำพยายาม เพราะแม้แต่สตาร์ระดับโลกอย่างลิโอเนล เมสซี และคริสเตียโน โรนัลโด ก็เคยต้องต่อสู้กับข้อบกพร่องทางร่างกาย เสียงโห่ร้อง และคำวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วเช่นกัน ก่อนจะก้าวขึ้นมายืนหยัดเป็นนักกีฬาที่สมบูรณ์แบบระดับโลกในวันนี้ได้อย่างน่าชื่นชม
ไม่มีใครการันตีได้ว่า 4 เยาวชนไทยจากอลิอันซ์ เอ็กซ์โพลเรอร์ จะประสบความสำเร็จติดทีมชาติได้ตามที่ฝัน หรือเป็นยอดนักฟุตบอลเหมือนเมสซีและโรนัลโดได้หรือไม่ แต่สิ่งที่ 4 คนนี้มั่นใจได้เลยคือความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร และตราบใดที่คุณไม่หยุดพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน ผลลัพธ์ที่ดีก็ย่อมเกิดกับตัวคุณเอง
บทเรียนที่ 2 ประสบการณ์ที่มากกว่าแค่ ‘ทักษะฟุตบอล’
สิ่งที่เราสัมผัสได้จากการพูดคุยกับน้องๆ ทั้ง 4 คนคือทุกคนรักฟุตบอลมากชนิดหายใจเข้าออกเป็นกลิ่นลูกหนังก็ไม่ปาน ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาคาดหวังจากแคมป์จึงเป็นการเพิ่มพูนทักษะทางลูกหนังของตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะการได้รับถ่ายทอดคัมภีร์วิชาจากโค้ชเยาวชนสโมสรบาเยิร์น มิวนิก โดยตรง
ซึ่งตามตารางกิจกรรมของอลิอันซ์ เอ็กซ์โพลเรอร์ แคมป์ ทุกๆ เช้าทั้ง 4 คนและเพื่อนๆ จะได้ซ้อมฟุตบอลต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน วันละประมาณ 2 ชั่วโมง ที่เหลือหลังจากนั้นจะเป็นการทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกัน เช่น เตะจุดโทษโดยมีโอลิเวอร์ คาห์น ยืนให้คำแนะนำอยู่ไม่ห่าง, เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สโมสรเพื่อซึมซับประวัติศาสตร์ยอดทีมดังจากบาวาเรีย, ทำกิจกรรมต่อหุ่นยนต์กับวาเลเรีย คายีนา หญิงสาววัย 17 ปีจากอิตาลีที่หลงรักการสร้างหุ่นยนต์มาตั้งแต่เด็ก และก่อตั้งโรงเรียนหุ่นยนต์เป็นของตัวเอง หรือฟังบรรยายจากเจอร์ฮาร์ด ธิล นักบินอวกาศชาวเยอรมัน
จะเห็นว่ากิจกรรมโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นแค่ฟุตบอลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยังสอดแทรกการทำกิจกรรมเข้าไปด้วยเพื่อให้น้องๆ รู้จักการใช้ชีวิตกับเพื่อนๆ ทั่วโลก ได้แลกเปลี่ยนมุมมอง เปิดรับความเห็นและวัฒนธรรมการใช้ชีวิตระหว่างกัน ไปจนถึงรู้จักทัศนคติการทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สำคัญสำหรับการทำงานกับคนหมู่มากและการเล่นฟุตบอลอาชีพในอนาคต
แม้ ‘ภาษา’ จะเป็นอุปสรรคด้านการสื่อสารอยู่บ้าง แต่เยาวชนไทยทุกคนต่างก็กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้กิจกรรมใหม่ๆ เสมอ ถึงขนาดที่บางคนบอกกับเราว่ากลับประเทศไทยครั้งนี้จะตั้งใจกลับไปเรียนภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น เพราะเห็นชัดเลยว่าเป็นสมบัติติดตัวที่สำคัญมากๆ
การไปอลิอันซ์ เอ็กซ์โพลเรอร์ แคมป์ จึงไม่ได้แค่ไปเพื่อเพิ่มความเก่งให้ตัวเองอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจรอให้ทุกคนเข้าไปสัมผัสด้วยตัวเอง
พัชรพลบอกกับ THE STANDARD ว่า “ผมไม่เคยมาต่างประเทศเลยครับ” ก่อนจะเล่าถึงความตั้งใจในช่วง 4 วันที่เหลือของการทำกิจกรรมว่า “ผมอยากจะเก็บเกี่ยวภาพทุกอย่างไว้ในความทรงจำ นำเอาทักษะที่ได้จากการใช้ชีวิตในต่างประเทศกลับมาใช้ที่ไทย ตอนนี้ยังไม่อยากกลับเลยครับ สนุกมาก ได้เจอเพื่อนต่างชาติ เหมือนเราเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน”
บทเรียนที่ 3 ‘ตั้งเป้าหมายส่วนตัวแล้วบรรลุมัน’ เคล็ดลับสร้างความมั่นใจในตัวเองจากตำนานผู้รักษาประตูเยอรมนี
‘คิงคาห์น’ โอลิเวอร์ คาห์น คือหนึ่งในบุคลากรของบาเยิร์น มิวนิก ที่เซอร์ไพรส์เรามาก เพราะภาพจำที่เรามีต่อตำนานผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมนี วัย 49 ปี ผู้นี้ในสมัยที่ยังคงค้าแข้งคือความเกรี้ยวกราด ความเด็ดขาด และความดุดัน
แต่เมื่อคาห์นต้องมาเป็นเมนเทอร์สอนเด็กๆ 38 คนในหัวข้อ ‘ความมั่นใจ’ (Confidence) ท่าทีของเขากลับต่างจากที่เราเคยเห็นผ่านจอโทรทัศน์ไปโดยสิ้นเชิง ใบหน้าที่เคยเดือดแดงยามตะโกนเรียกสติเพื่อนร่วมทีมกลับเต็มไปด้วยรอยยิ้มแสนอบอุ่นเป็นกันเอง เมื่อเจ้าตัวคอยกระเซ้าเย้าแหย่ แซวเด็กๆ ระหว่างที่ต่อแถวเรียงคิวยิงลูกจุดโทษ
คำชม คำสอน และการให้กำลังใจหลั่งไหลมาจากคิงคาห์นเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย แถมยังใส่ใจทุกคนถึงขนาดที่ใครฟังภาษาอังกฤษไม่ออกก็จะคอยเรียกล่ามให้มาช่วยถอดความแปลภาษาให้เด็กๆ เข้าใจอีกที
“เฮ้ หยุดก่อน” คาห์นตะโกนแซวเด็กน้อยคนหนึ่งที่กำลังง้างเท้ายิงจุดโทษ ก่อนถามต่อว่า “พรุ่งนี้นายคิดไว้หรือยังว่าจะทำอะไร” แม้เพชฌฆาตสังหารจุดโทษดูจะไม่สนใจอดีตนายทวารเจ้าของรางวัลผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมบุนเดสลีกา 7 สมัยสักเท่าไร แต่เราดูออกว่าคำหยอกล้อยียวนของคาห์นมีจุดประสงค์เพื่ออะไร
ตอนหนึ่งของช่วงบรรยายที่หอประชุมอลิอันซ์ คาห์นเล่าว่าเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดของเขาในสมัยที่ยังเป็นเด็กและเริ่มต้นเล่นฟุตบอลได้ไม่นานคือการเป็นผู้รักษาประตูที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งการมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่นับเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับเขา แต่นอกเหนือจากนี้เราทุกคนก็ต้องรู้ด้วยว่าทำไมตัวเองถึงต้องบรรลุเป้าหมายนั้น เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างความมั่นใจในตัวเอง
“เรื่องความมั่นใจ ถ้าคุณไม่มั่นใจในตัวเอง คุณจะไปสร้างความมั่นใจให้กับเพื่อนร่วมงาน (ทีม) คนอื่นๆ ได้อย่างไร ตัวผมเกิดมาพร้อมๆ กับความมั่นใจตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งการสร้างความมั่นใจจะเกิดขึ้นได้ด้วยการลองตั้งเป้าหมายในแต่ละวันและเป้าหมายในชีวิต แล้วบรรลุมันให้ได้ หลังจากนั้นความมั่นใจในตัวเองก็จะเกิดขึ้น และเมื่อมีความมั่นใจ คุณก็จะส่งต่อมันไปยังคนอื่นได้เพื่อช่วยให้เขาแข็งแรง”
โอลิเวอร์ คาห์น ยังบอกอีกด้วยว่าถ้าใครสักคนมีความมั่นใจในตัวเอง การส่งต่อพลังบวกเหล่านั้นให้กับเพื่อนร่วมทีมหรือลูกน้องที่กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ก็ย่อมช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นผ่านพ้นมันมาได้อย่างสวยงาม
“สมัยที่ผมเล่นภายใต้การคุมทีมของจิโอวานนี ตราปัตโตนี (บาเยิร์น มิวนิก: 1994-1995, 1996-1998) เราลงเล่นกับบีเลฟิลด์ในนัดชี้ชะตาคว้าแชมป์บุนเดสลีกา ซึ่งเราควรจะชนะมัน แต่เกมกลับจบลงด้วยสกอร์ 4-4 แล้วผมก็เล่นได้แย่มากๆ หลังจากนั้นเราพลาดแชมป์ (ไกเซอร์สเลาเทิร์นคว้าแชมป์ในฤดูกาลดังกล่าว)
“จำได้เลยว่านัดปิดฤดูกาลปีนั้นผมนั่งในห้องแต่งตัวคนเดียว ทันใดนั้นตราปัตโตนีก็เดินปรี่เข้ามานั่งกับผมแล้วเปิดอกพูดว่า ‘โอลิเวอร์ นั่นไม่ใช่ปัญหาเลยนะที่นายล้มเหลว นายอยากจะเป็นผู้รักษาประตูที่ดีที่สุดในโลกไม่ใช่เหรอ นี่ไม่ใช่ปัญหาเลยจริงๆ เกมหน้านายแค่ต้องเล่นให้ดีขึ้นก็แค่นั้น’ ผมบอกเลยว่าผมไม่เคยลืมช่วงเวลานั้นจริงๆ การได้รับทัศนคติที่เยี่ยมจากโค้ชของผมในช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดทำให้ผมเข้มแข็งขึ้นและก้าวขึ้นมาอยู่ในแนวหน้าได้จนถึงทุกวันนี้”
คาห์นยังบอกอีกด้วยว่าสมัยที่เขายังค้าแข้ง เขาเกลียดการเสียประตูมาก เพราะสิ่งสำคัญคือการไม่เสียประตูในเกมนั้นแล้วรักษาคลีนชีตให้ได้ “ทีมของผมเคยชนะด้วยสกอร์ 6-1 แต่ผมโมโหกับผลการแข่งขันนี้มากๆ ผมไม่มีความสุขเลย คิดอยู่เสมอว่าทำไมเรายิงคู่แข่งได้ 6 ลูก แต่กลับเสีย 1 ประตู จนเมื่ออายุมากขึ้น สุขุมขึ้น ผมก็เข้าใจว่านี่คือการเล่นกันเป็นทีม ไม่ได้เล่นกันแค่คนเดียว ถ้าทีมชนะไม่ว่ามากกว่า 2 หรือ 3 ลูกแล้วเสียประตู มันก็ไม่สำคัญเลย
เขาทิ้งท้ายไว้ว่าไม่ว่าผลการแข่งขันแต่ละเกมของคุณจะแพ้หรือชนะ จะผิดพลาดหรือประสบความสำเร็จ อย่ายอมให้สิ่งเหล่านั้นมาบั่นทอนความมั่นใจของตัวคุณ เพราะทุกคนล้วนแล้วเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่พานพบกับความพ่ายแพ้ได้ในบางครั้งบางคราว สิ่งสำคัญคือต้องยืนหยัดรักษาบุคลิกนิสัยส่วนตัวและทัศนคติที่ดีเอาไว้เสมอ อย่าสูญเสียมันไป
บทเรียนที่เราได้รับตลอด 4 วันของการเฝ้าสังเกตการณ์และเป็นส่วนหนึ่งของอลิอันซ์ เอ็กซ์โพลเรอร์ แคมป์ คือการเข้าใจว่าสิ่งสวยงามของเกมฟุตบอลมีมากกว่าแค่ผลสกอร์แพ้-ชนะ ไม่ว่าจะการใส่ใจรายละเอียดริมทางอื่นๆ รู้จักรับมือกับความล้มเหลวเพื่อพัฒนาไปสู่ความสำเร็จ รู้จักสร้างทีมเวิร์กกับเพื่อนร่วมงานที่ดี และเรียนรู้ว่าจะส่งต่อทัศนคติเชิงบวกให้กับคนอื่นๆ ได้อย่างไร
อลิอันซ์ เอ็กซ์โพลเรอร์ แคมป์ จึงเปรียบได้กับห้องเรียนบนสนามฟุตบอลขนาดยักษ์ที่มอบทั้งความรู้และบทเรียนการใช้ชีวิตที่แสนล้ำค่ารอให้เด็กๆ ทุกคนเก็บเกี่ยวกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเองเพื่อเติบโตเป็นเมล็ดพันธุ์ที่กล้าแกร่งในวันข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์