×

รวมข้อเสนอหาทางออกของประเทศในวันแห่งความขัดแย้งจากมุมมองที่หลากหลาย

โดย THE STANDARD TEAM
29.10.2020
  • LOADING...
รวมข้อเสนอหาทางออกของประเทศในวันแห่งความขัดแย้งจากมุมมองที่หลากหลาย

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • ภายใต้ความตึงเครียดของสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่มี 3 ข้อเรียกร้องของมวลชนที่นำโดยนักเรียน นักศึกษา ขณะเดียวกันยังมีการรวมตัวของกลุ่มประชาชนที่ต้องการปกป้องสถาบัน ซึ่งอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
  • ความขัดแย้งครั้งนี้นำมาสู่ข้อเสนอเพื่อหาทางออกของประเทศจากบุคคลในแวดวงที่หลากหลาย และนี่คือตัวอย่างของข้อเสนอที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ช่วงเวลาที่ผ่านมาปัญหาทางการเมืองและสังคมถูกจัดให้อยู่ในจุดที่ร้อนระอุที่สุดในรอบหลายปี ภายหลังกลุ่ม ‘คณะราษฎร’ ได้รวมตัวจัดกิจกรรมชุมนุมในหลากมิติ ควบคู่การประกาศจุดยืนและ 3 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

 

ซึ่ง 3 เรียกร้องหลัก ประกอบด้วย 

  1. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และองคาพยพ ลาออก 
  2. รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 
  3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

 

จนถึงวันนี้ (29 ตุลาคม) ปัญหาต่างๆ ยังคงคาราคาซัง ท่ามกลางการจัดชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาลอย่างต่อเนื่องรายวัน ขณะที่อีกฟากก็มีการรวมตัวของมวลชนที่ต้องการปกป้องสถาบัน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าของมวลชนสองฝั่ง นำมาสู่ข้อเสนอเพื่อหาทางออกของประเทศจากบุคคลในแวดวงที่หลากหลาย และนี่คือตัวอย่างของข้อเสนอที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

 

“กำหนดพระราชอำนาจให้กลับเป็นเหมือนรัชสมัย ร.9”

 

บรรยง พงษ์พานิช 

ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร 

 

นำเสนอทางออกของวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่าตนไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องทั้ง 10 ข้อของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถึงแม้จะเห็นด้วยในบางข้อ ขณะเดียวกันได้นำเสนอทางออกในการปฏิรูปสถาบันว่า 

 

“หลักการที่ผมขอเสนอในการปฏิรูปสถาบันสูงสุดนี้มีสั้นๆ และง่ายๆ ดังนี้นะครับ

 

“ในเมื่อเป็นที่พิสูจน์จนประจักษ์ชัดแล้วว่า ภายใต้พระราชอำนาจ และพระราชทรัพย์ที่มีอยู่ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชาผู้ทรงธรรมสามารถปกครองประเทศได้อย่างวิเศษ สร้างคุณูปการมหาศาลให้แก่พสกนิกรได้อย่างถ้วนทั่ว จนได้รับการสรรเสริญว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ เปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรมครบถ้วน ดังนั้นเราจึงควรสืบต่อระบอบแบบเดิม ธำรงรักษาไว้เพื่อความสถิตย์สถาพรของสถาบันพระมหากษัตริย์สืบต่อไป

 

“ซึ่งภายใต้หลักการที่ว่านี้ ก็หมายความว่าในระยะเริ่มต้นของรัชกาลปัจจุบัน เราไม่สมควรจะไปเปลี่ยนแปลงปฏิรูปอะไรให้วุ่นวายไป อะไรที่คณะ คสช. สนช. หรือแม้แต่รัฐบาล รัฐสภาได้ทำไปเกี่ยวกับสถาบันฯ ภายหลังจากที่เสด็จสวรรคตนั้น ก็น่าที่จะได้รับการปรับเปลี่ยนให้กลับไปเหมือนเดิม ซึ่งเป็นหลักการที่ทำให้พระมหากษัตริย์ได้ทรงปกครองพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างสงบร่มเย็น ก้าวหน้ามาเป็นที่ประจักษ์ต่อพสกนิกรตลอดเจ็ดสิบปีที่ทรงครองราชย์

 

“ถ้าเราจะย้อนกลับไปดูข้อบัญญัติอันเกี่ยวกับสถาบันฯ ในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ (รวมถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว) จะพบว่าทุกฉบับ จะมีหลักการและการกำหนดพระราชอำนาจไว้แบบเดียวกัน ในขอบเขตเดียวกันทั้งสิ้น รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ก็เป็นกฎหมายที่สามารถทำให้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชกุศลได้อย่างเหมาะสมตลอดเจ็ดสิบปี

 

“จริงอยู่ครับว่า ทุกสิ่งสามารถมีการปฏิรูปปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ตามพัฒนาการ ตามบริบทที่เปลี่ยนแปลง แต่ท่ามกลางความสับสน ความขัดแย้งยิ่งใหญ่อย่างในเวลานี้ เราจำเป็นที่จะต้องมีจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายพอรับได้เสียก่อน ก่อนที่จะเริ่มปฏิรูปต่อไป

 

“สำหรับผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันนั้น ผมเชื่อว่าข้อเสนอของผมควรจะได้รับการพิจารณาด้วยดี เพราะเป็นข้อเสนอที่เราต่างก็ร่มเย็นด้วยพระมหากรุณาธิคุณภายใต้กฎเกณฑ์นี้มาตลอดชีวิต

 

“สำหรับสถาบันฯ นั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพ และด้วยทศพิธราชธรรม ย่อมเพียงพอที่จะทรงสร้างพระบารมี พระราชทานคุณประโยชน์แก่พสกนิกรถ้วนหน้า เป็นเยี่ยงอย่างสืบไปชั่วกาลนาน อีกทั้งพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์ที่เพิ่มนั้นพระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้ทรงเรียกร้องต้องการแต่อย่างใด เป็นเพราะคณะ คสช. และรัฐบาลจัดถวายทั้งสิ้น

 

“สำหรับชาวคณะ คสช. นั้น นี่ก็จะเป็นการถอดสลักข้อขัดแย้งหลักได้อย่างสันติ

 

“ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอภายใต้หลักการง่ายๆ ของผมเพื่อให้ทุกฝ่ายได้พิจารณาเพื่อยุติข้อขัดแย้งที่เริ่มบานปลาย อันเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงที่จะนำความเสื่อมถอยมาให้ประเทศอย่างยาวนาน

 

“หวังว่าจะได้รับการพิจารณาจากทุกฝ่าย เพื่อเป็นทางเลือกในการออกจากความขัดแย้งยิ่งใหญ่ในครั้งนี้นะครับ”

 

 

“ตั้งคณะกรรมการ 7 ฝ่ายร่วมหาทางออกประเทศ”

 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 

 

ได้เสนอทางออกของประเทศผ่านการอภิปรายที่รัฐสภาในญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

โดยมีข้อเสนอต่อทางออกของประเด็นที่เกิดขึ้นคือ ให้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยให้ยึดถือหลัก 3 ข้อ ดังนี้

 

  1. สำหรับองค์ประกอบนั้น ต้องมีผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสภาไม่น้อยกว่า 7 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทนของรัฐบาล, ผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐบาล, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน, วุฒิสมาชิก, ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม, ฝ่ายที่เห็นต่างกับผู้ชุมนุม และฝ่ายอื่นๆ เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ หรืออื่นใดที่เห็นสมควร เป็นต้น 

 

  1. ให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการแสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมให้กับประเทศ อะไรที่เห็นพ้องต้องกันได้ก็ให้ผู้ที่มีหน้าที่รับข้อสรุปที่เห็นพ้องนั้นไปดำเนินการในทันทีโดยไม่ชักช้า ซึ่งตนก็คาดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นประเด็นหนึ่งที่เห็นพ้องต้องกันได้ ส่วนอะไรก็ตามที่ยังมีความเห็นที่ต่างกันอยู่ก็แขวนไว้ก่อน แล้วเร่งหารือร่วมกันเพื่อหาจุดร่วมที่อาจจะยังมีประเด็นเพิ่มเติมที่เห็นตรงกันได้ต่อไป 

 

โดยเน้นรูปแบบของการจับเข่าคุยกันอย่างสร้างสรรค์ อะไรที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอยได้ก็อาจจะต้องถอยคนละก้าวหรือคนละสองก้าวอย่างที่นายกรัฐมนตรีได้เสนอความเห็นไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถดำรงเป้าหมายที่จะมุ่งหาคำตอบ หาทางออกให้กับประเทศด้วยความปรารถนาดีให้กับบ้านเมืองให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

  1. ขอให้ดำเนินการทุกอย่างที่ว่าไว้ด้วยความรวดเร็ว

 

“ผมขอเรียกร้องไปยังวิปทั้งสามฝ่ายอีกครั้งหนึ่ง เพราะท่านคือตัวแทนของพวกเราที่เป็นสมาชิกรัฐสภา ได้หารือกันทั้งวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ซึ่งสำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้น ผมได้มอบหมายให้วิปของพรรครับความเห็นนี้ไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องมาระดับหนึ่งแล้ว 

 

“ส่วนผลการหารือหรือรูปแบบของคณะกรรมการจะตั้งชื่อว่าอย่างไร จะแตกต่างไปจากที่ผมเสนอเมื่อสักครู่มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ผมไม่ติดใจ แล้วก็ยินดีที่จะให้การสนับสนุนเพียงเพื่อให้เราได้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อร่วมกันแสวงหาทางออกให้กับประเทศ หากทำได้ ผมหวังว่าอย่างน้อยที่สุดสถานการณ์บ้านเมืองก็จะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม เพราะว่าบางเรื่อง บางประเด็น ผมทราบดีว่าอาจจะต้องใช้เวลาและต้องใช้ความจริงใจต่อกัน ที่สำคัญคือต้องตกผลึกร่วมกันจึงจะสามารถนำไปสู่การได้คำตอบที่เห็นพ้องต้องกันได้ และที่สำคัญเราประสงค์ที่จะให้มีกรรมการชุดนี้เพื่อให้คนทั้งประเทศได้เห็นแสงสว่างแห่งความหวังรำไรถูกจุดขึ้นมาตรงปลายอุโมงค์โดยรัฐสภาของเรา” 

 

 

“ยุบสภา ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่”

 

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล 

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 

เสนอทางออกของประเทศเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แบ่งเป็น 7 ข้อสรุปดังนี้

 

  1. การแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรต้องถอยเป็นก้าวแรก นั่นก็คือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการถอยไปก่อนหน้าการยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่รัฐธรรมนูญให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลผ่านการเลือก ส.ส. โดยประชาชนทุกคนมีเสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะเห็นต่างกันเพียงใด ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองไหนจะเป็นรัฐบาล จะจบที่หีบบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่ประชาชนเลือกตั้งไป คสช. ก็เป็นนายกรัฐมนตรีและสืบทอดอำนาจได้อยู่ดีเช่นนี้

 

  1. เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 คือสิ่งที่เป็นปัญหา ดังนั้นการแก้ปัญหาคือต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

 

  1. ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ 

 

  1. พล.อ. ประยุทธ์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง 

 

  1. อีกประเด็นละเอียดอ่อนประการสำคัญที่ควรต้องแก้ไขทันทีคือ พล.อ. ประยุทธ์ต้องไม่พูดหรืออ้างในทำนองให้คนเข้าใจว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบ็กให้ตนเอง

 

  1. พล.อ. ประยุทธ์ ต้องรีบแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดมาจากการสืบทอดอำนาจ คือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภา หรือลาออก ดังที่ท่านอาจจะได้เคยแนะนำอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

 

และดังที่ท่านสัญญากับประชาชนไว้ว่า ‘เราจะทำตามสัญญา ความสุขจะกลับคืนมา’ ก่อนที่สถานการณ์จะกลายไปเป็นวิกฤตการณ์จนไม่มีทางออก และประชาชนจะมีความทุกข์จากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอีกครั้งมากไปกว่านี้

 

  1. รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรง และไม่ใช้วิธีการสลายการชุมนุมอีก 

 

 

“สร้างพื้นที่ปลอดภัยร่วมหาทางออกปฏิรูปสถาบัน”

 

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ 

อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 

 

เสนอทางออกของประเทศสู่ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง 3 ข้อ ประกอบด้วย

 

  1. รัฐบาลต้องยึดหลักสากลและมาตรฐานเดียวกัน ในการรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของทุกฝ่าย
  • กฎหมายและการกระทำของรัฐบาล ‘เป็นไปตามหลักสากล’
  • การบังคับใช้กฎหมายและการกระทำของรัฐบาลต่อทุกฝ่าย อยู่บน ‘มาตรฐานเดียวกัน’

 

  1. แก้รัฐธรรมนูญรายมาตราควบคู่กับการร่างฉบับใหม่โดยเร็วที่สุด
  • ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จาก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100%
  • ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ทันที (มาตรา 272)

 

  1. สร้างพื้นที่ปลอดภัยในรัฐสภาและในสภาร่างรัฐธรรมญ เพื่อร่วมหาทางออกอย่างจริงจังเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
  • พื้นที่ปลอดภัยในรัฐสภา เสวนาวิชาการ หรือ เวทีอื่น
  • ปลดล็อก สสร. ให้พิจารณาได้ทุกหมวด ทุกมาตรา

 

 

“ราชประชาสมาสัย 2020 พระราชาอยู่ร่วมกับประชาโดยสร้างสมดุลใหม่”

 

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา 

นักคิด นักเขียน และเจ้าของสำนักพิมพ์ openbooks

 

เสนอทางออกของประเทศผ่านงานเขียน ในชื่อ ‘ราชประชาสมาสัย 2020 คิดไปข้างหน้า ไม่ใช่ย้อนเวลากลับไป’ โดยมีเนื้อหาและใจความท่อนสำคัญ ระบุว่า 

 

“‘ราชประชาสมาสัย 2020’ คือข้อเสนอในการหาสมการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ร่วมกันได้กับประชาธิปไตย หาจุดที่พระราชาอยู่ร่วมกันได้กับประชา โดยการสร้างสมดุลใหม่ หลังจากสมดุลเดิมได้สูญเสียไป 

 

“ในสมดุลใหม่ มิใช่ว่าทุกฝ่ายต้องมีอำนาจเท่ากัน หากแต่ต้องมีอำนาจถ่วงดุลที่ทุกฝ่ายพึงใจและพอยอมรับร่วมกันได้ ซึ่งเป็นคำถามที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันหาคำตอบว่า สมดุลใหม่นั้นคือจุดใด 

 

“เมื่อกำหนดเป้าหมายได้ชัด เราจึงจะออกแบบกฎ กติกา เพื่อสร้างสมดุลใหม่นั้น 

 

“ถ้าสังคมทำให้ราชและประชาอาศัยอยู่ร่วมกันได้ เราจึงจะก้าวข้ามความขัดแย้งครั้งใหญ่ในมหาวิกฤตนี้ไปได้ 

 

“แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดความบาดเจ็บ เสียหาย หรือล้มตาย สมดุลอันเหลืออยู่เพียงน้อยนิดย่อมมิอาจเพียงพอให้สังคมทรงตัวต่อไปได้ นั่นคือจุดเสี่ยงที่จะทำให้สังคมล่มสลาย จนยากต่อการเยียวยาแก้ไขกลับมา 

 

“ข้อเสนอของผมคือส่วนผสมและดุลอำนาจใหม่ คือ ‘ราชประชาสมาสัย 2020’ ซึ่งต้องฉีกตำราและแนวคิดในอดีตทิ้งไป ก่อนเราจะเริ่มออกแบบความสัมพันธ์และอนาคตใหม่ได้ 

 

“ผมจะไม่กล่าวลงไปในรายละเอียด แต่ในฐานะผู้มีประสบการณ์ตรง ผมเพียงอยากจะบอกว่า กระบวนการ วิธีคิด อคติ ของทั้งฝ่ายเหลืองสุดข้างและแดงสุดขั้วนั้น มีวิธีการทำงานแทบไม่แตกต่างกัน และอย่างแทบไม่น่าเชื่อ 

 

“การไม่มุ่งถกกันที่ประเด็น แต่ขับเน้นด้วยการทำลายในเรื่องส่วนตัว การผสมโรงโดยไม่ยั้งคิด การผลิตซ้ำความเกลียดโดยไม่ศึกษา บัดนี้ได้ก้าวเข้ามาครอบงำผู้อ้างตนเองว่าก้าวหน้า จนพาผมให้หวนคิดถึงเหตุการณ์เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา 

 

“ไม่มีอะไรเลวร้ายกว่า การกลายเป็นปีศาจที่ตัวเองกล่าวหา ไม่ว่าจะในเสื้อคลุมของเผด็จการหรือความก้าวหน้า จำนวนหนึ่งจึงสะใจที่ได้แขวนประจาน เอาเก้าอี้ฟาด และจำนวนมากยืนหัวเราะอย่างสะใจใต้ต้นมะขาม เมื่อกระบวนการทำลายล้างได้เริ่มต้นกับคนผู้หนึ่ง 

 

“จากหนึ่งจะกลายเป็นล้าน ถ้าเรายังไม่หยุดยั้งความรุนแรงในหัวใจ 

 

“สังคมไทยยังพอมีเวลาที่จะขบคิดหาทางออกที่สร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคสมัย ผมได้พยายามตั้งคำถามที่ท้าทายสังคมอย่างเต็มที่ 

 

“แน่นอน ราคาที่ต้องจ่ายทุกครั้งนั้นมี และผมก็ยินดีที่จะจ่ายราคานั้นเสมอมา เพื่อไม่ให้สังคมโดยรวมต้องจ่ายราคาที่แพงกว่า 

 

“บัดนี้ ถึงเวลาที่เราจะละวางความเกลียดชัง มองไปยังเส้นทางที่ยังพอมีแสงสว่างและความหวัง แล้วสร้างอนาคตของประเทศไทยไปสู่ยุคสมัยใหม่ร่วมกัน”

 

 

“พูดคุยด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ใช้กระบวนการทางรัฐสภาอย่างสร้างสรรค์”

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ 

ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) 

 

แนะนำ 5 ทางออกกับการแก้วิกฤตของประเทศไว้ดังนี้ 

 

  1. อย่าไปคิดว่าความขัดแย้งทุกวันนี้มาไกลจนเลยจุดที่สามารถพูดคุย หรือหาข้อตกลงร่วมกันได้แล้ว เพราะอย่างน้อยก็โชคดีที่ความขัดแย้งในประเทศไทย เป็นเรื่องอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องศาสนา หรือเรื่องเชื้อชาติ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่ามาก 

 

  1. ควรตระหนักว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาความแตกต่างทางความคิดได้ นอกจากจะพูดคุยกัน และใช้วิธีการทางประชาธิปไตยในการระงับข้อขัดแย้ง วิธีการแรกที่ควรทำคือ การใช้กระบวนการทางรัฐสภาในการถกอภิปรายกันอย่างสร้างสรรค์ โดยควรให้บทบาทหลักแก่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะตัวแทนที่ชอบธรรมของประชาชน ในการหาทางออกร่วมกันให้แก่สังคม  

 

  1. ไม่ว่ากระบวนการที่เป็นทางการข้างต้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ ควรมีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการควบคู่ไปด้วยเสมอ โดยมีบุคคลหรือคณะบุคคลที่ฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันให้การยอมรับ เป็นตัวกลางในการพูดคุย

 

  1. ข้อเสนอต่อ ทั้ง 2 ฝ่าย 
  • ฝ่ายรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ควรยับยั้งชั่งใจในการใช้อำนาจให้มากขึ้น และหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจขยายความขัดแย้งให้บานปลายออกไป และหากจะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างแท้จริง รัฐบาลควรปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหาที่มีลักษณะทางการเมืองทั้งหมดออกมา และแสดงท่าทีที่เปิดกว้างที่จะรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมอย่างแท้จริง โดยหลีกเลี่ยงการข่มขู่ทางกฎหมาย  
  • ทางฝ่ายผู้ชุมนุม ควรพยายามทำความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้ที่เห็นต่างมากขึ้น และหากจะแสดงออกในการคัดค้านรัฐบาลหรือเรียกร้องในเรื่องอะไร ควรเลือกเวลา สถานที่ ถ้อยคำและสัญลักษณ์ที่ใช้ให้เหมาะสม พยายามหลีกเลี่ยงการแสดงออกหรือการใช้สัญลักษณ์ที่ท้าทาย หรือถูกตีความได้ว่าเป็นการยั่วยุ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อาจเกิดการเผชิญหน้า  

 

  1. ไม่ว่าผลสรุปจะออกมาอย่างไร ฝ่ายที่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ก็ไม่ควรที่จะรุกไล่จนอีกฝ่ายกลายเป็นผู้แพ้ไปทั้งหมดและรู้สึกไม่ปลอดภัย ในขณะที่ฝ่ายหลังก็ควรยอมรับข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ และหากต้องการที่จะเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของสังคมอีกในอนาคต ก็ควรใช้กระบวนการทางรัฐสภาหรือการลงประชามติเป็นหลัก

 

“เพื่อนๆ ครับ ประเทศไทยกำลังอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ซึ่งหากเดินก้าวพลาดไปแล้วอาจทำให้เกิดความรุนแรงตามมา จนอาจมีประชาชนได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือถูกละเมิดเสรีภาพอย่างร้ายแรง ตลอดจนเกิดความแตกแยกร้าวฉานระหว่างคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง

 

“ในสภาวะเช่นนี้ ผมคิดว่ามีแต่ การใช้เหตุผล สติ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรืออย่างน้อยความอดกลั้นต่อความเห็นต่างและวุฒิภาวะเท่านั้น ที่จะทำให้เราสามารถก้าวเดินไปได้อย่างเหมาะสมและหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้”

 

 

“พล.อ. ประยุทธ์ ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สองฝ่ายมีส่วนร่วม”

 

อานนท์ นำภา 

ทนายความสิทธิมนุษยชน หนึ่งในแกนนำกลุ่ม ‘คณะราษฎร 2563’

 

เสนอทางออกของสังคมคือต้องทำให้คนในสังคมชนะร่วมกันและไม่มีใครแพ้ ผ่านการเปิดเผยโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ด้วยการสรุปประเด็นเป็น 3 ข้อคือ

 

  1. เอา พล.อ. ประยุทธ์ออกไป เพราะประยุทธ์เป็นตัวปัญหาทั้งในแง่ความชอบธรรมและทางสติปัญญา ผมว่าประเด็นนี้ไม่มีใครแพ้ มันแทบจะเป็นฉันทามติร่วมกัน

 

  1. เมื่อเอา พล.อ. ประยุทธ์ออกแล้วเราต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งตรงนี้อาจใช้ระยะเวลาเป็นปี ข้อนี้ก็ไม่มีใครแพ้เพราะทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งสองฝ่ายก็มีโอกาสในการทบทวนข้อผิดพลาดของตัวเอง

 

  1. ส่วนเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น ก็สามารถทำตามกระบวนการทั้งการแก้รัฐธรรมนูญและการแก้พระราชบัญญัติ 

 

โดยทุกอย่างเป็นกระบวนการที่ทั้งสองฝ่ายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ 

 

 

“ต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างมีวุฒิภาวะ”

 

ปิยบุตร แสงกนก

เลขาธิการคณะก้าวหน้า

 

ได้เสนอทางออกสังคมไทย โดยขอให้เปิดพื้นที่ปลอดภัยคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างมีวุฒิภาวะ

 

“ผมอยากฝากให้สื่อมวลชน ประชาชน และผู้นิยมเจ้าที่มีเหตุผล อย่าให้ 6 ตุลา 19 ได้ดำเนินภาคสองอีก เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์มาต่อเนื่องยาวนาน เราควรมีเพื่อเป็นศูนย์รวมใจคนทั้งชาติ เป็นมรดกตกทอดในทางประวัติศาสตร์ มิใช่เพื่อให้ใครคนใดคนหนึ่งนำมาใช้เป็นข้ออ้างรัฐประหาร ในการเข่นฆ่าประชาชนกันเอง สถาบันพระมหากษัตริย์ควรตั้งอยู่และมีเพื่อให้คนได้รักตามศรัทธา ตามวิถีทางของแต่ละคน ไม่ใช่ต้องรักเพราะถูกบังคับตามตามแบบแผนที่กำหนดกันขึ้นมาเอง 

 

“เราต้องยอมรับว่าประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์การเมืองไทยไปแล้ว นี่เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงแล้ว ว่าเราจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้อยู่กับประชาธิปไตยได้อย่างไร ท้ายที่สุดต้องยอมรับว่านักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ได้ยกประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา หลายท่านที่ไม่เห็นด้วย ไม่พอใจ ต้องขอถามกลับไปว่าท่านไม่เคยตั้งคำถามหรือมีข้อสังเกต ฉุกคิด สงสัยเรื่องอะไรเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เลยหรือ?”

 

“เราต้องยอมรับความจริง สร้างพื้นที่ให้กับการพูดคุย โดย เลขาธิการคณะก้าวหน้า มีข้อเสนอในการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตการเมืองไทย 5 ประเด็นใหญ่ๆ โดยหนึ่งในข้อเสนอนั้นคือ ต้องมีความพยายามช่วยกันเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการอภิปราย ถกเถียง พูดคุยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างจริงใจและตรงไปตรงมา เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่ประชาธิปไตย เปิดพื้นที่ให้นักเรียนเยาวชนแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา มีวุฒิภาวะ ว่าจะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร

 

“มีแต่วิธีเหล่านี้เท่านั้นที่จะสามารถเป็นทางออกให้กับประเทศไทยได้ ท่านย่อมรู้ว่าเด็กสมัยนี้ ยิ่งท่านกด ยิ่งท่านห้าม ยิ่งปราบ พวกเขาก็จะยิ่งลุกขึ้นสู้ ทำไมไม่สร้างพื้นที่ปลอดภัยพูดคุยกัน ทุกวันนี้มีแต่การราดน้ำมันเข้าไปในกองไฟเพิ่มขึ้น วันหนึ่งจะเดินทางไปสู่จุดที่ไม่มีวันถอยกลับอีกแล้ว แล้วท่านจะเสียใจว่าทำไมไม่พูดคุยตั้งแต่ตอนนี้ บ้านเมืองของเราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ยังพอมีโอกาสที่จะแก้ไขได้ ถ้าร่วมมือกัน หยุดรัฐประหารผ่านการประกาศสถานกาณณ์ฉุกเฉิน หยุดระบอบ คสช. สืบทอดอำนาจ ทำรัฐธรรมนูญใหม่ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เพื่อคนไทยทั้งผองจะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising