×

ปิดตำนานบิดาแห่งวงการเพลงร็อกรัสเซีย อเล็กซานเดอร์ กราดสกี้ เสียชีวิตแล้วในวัย 72 ปี

29.11.2021
  • LOADING...
Alexander Gradsky

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ภาพชายสูงวัยผมยาวใส่แว่นตากรอบใหญ่นั่งเก้าอี้สีแดงเป็นกรรมการตัดสินรายการโทรทัศน์ ГОЛОС (โกลัส – The Voice) เป็นภาพที่ชินตาของผู้ชมนับล้านทั่วรัสเซีย
  • ด้วยความสามารถที่หลากหลายดุจสวรรค์ประทานพรมา อเล็กซานเดอร์มีความสามารถในการแสดงพลังเสียงตั้งแต่การร้องเพลงร็อกไปจนถึงการร้องเพลงโอเปรา ยังไม่นับความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีได้อย่างหลากหลาย รวมไปถึงการประพันธ์เพลงต่างๆ
  • อเล็กซานเดอร์เป็นหนึ่งในผู้เปิดโลกเพลงร็อกให้กับชาวรัสเซีย และมีผลงานต่างๆ มากมายตลอด 40 ปีที่อยู่ในวงการ จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นศิลปินแห่งชาติของรัสเซียในปี 2000
  • ภายหลังจากการป่วยโควิด อเล็กซานเดอร์เผชิญกับภาวะลองโควิด (Long COVID) บั่นทอนสุขภาพให้ทรุดโทรมลง จนกระทั่งเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตก (Stroke) และจากไปในเดือนเกิดตนเองด้วยวัย 72 ปี

ข่าว อเล็กซานเดอร์ กราดสกี้ (Alexander Gradsky) ตำนานแห่งวงการเพลงร็อกของรัสเซียปิดฉากลง สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับแฟนๆ ชาวรัสเซียทั่วประเทศ สื่อทุกสำนัก ไม่ว่าจะเป็นบรรดาสื่อฟากรัฐบาล หรือสื่อที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาลรัสเซียอย่าง BBC Russia ยังร่วมใจกันแสดงความเสียใจ ไม่เว้นแม้แต่ผู้นำประเทศอย่างประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เองที่ยังออกมาแสดงความเสียใจเป็นการส่วนตัวกับครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดของอเล็กซานเดอร์ ในฐานะศิลปินแห่งชาติ

 

บิดาแห่งวงการเพลงร็อกรัสเซียมีชื่อเดิมว่า อเล็กซานเดอร์ บอริโซวิช ฟราดกิ้น (Alexander Borisovich Fradkin) ก่อนที่จะเปลี่ยนนามสกุลมาเป็น กราดสกี้ (Градский – Gradsky) ที่เป็นนามสกุลของแม่ เพื่อเป็นที่ระลึกหลังแม่เสียชีวิตลง อเล็กซานเดอร์เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 1949 ที่เมืองคาเปย์สก์ (Копейск – Kopeysk) จังหวัดชีเลียบินสก์ (Челябинская Область – Chelyabinskaya Oblast’) ในภูมิภาคอูราลของสหภาพโซเวียต โดยครอบครัวของอเล็กซานเดอร์อพยพหนีภัยสงครามโลกครั้งที่สองมาอยู่ที่ภูมิภาคดังกล่าว ก่อนที่ทั้งครอบครัวจะย้ายไปกรุงมอสโกในปี 1957

 

ความสนใจ พรแสวง และแรงผลักดันด้านความเป็นศิลปินถูกถ่ายทอดส่งต่อมาจากคุณแม่ทามารา กราดสกายา (Тамара Градская – Tamara Gradskaya) ผู้ซึ่งเป็นบัณฑิตจากสถาบันศิลปะการละครแห่งชาติรัสเซียกิติส (Российский институт драматического искусства ГИТИС – Russian Institute of Dramatic Art GITIS) รวมไปถึงบรรดาผลงานของศิลปินระดับโลกทั้งหลายอย่าง เอลวิส เพรสลีย์ หรือ The Beatles ต่างก็เป็นแรงบันดาลใจให้อเล็กซานเดอร์เดินตามความฝันในเส้นทางดนตรี

 

อเล็กซานเดอร์ใช้นามสกุลฟราดกิ้นมาจนถึงอายุ 14 ปี จึงเปลี่ยนมาถือนามสกุลกราดสกี้ของทางฝั่งคุณแม่เพื่อเป็นอนุสรณ์หลังจากที่คุณแม่เสียชีวิตลง ในช่วงทศวรรษที่ 60 ต่อ 70 อเล็กซานเดอร์ที่ยังอยู่ในวัยรุ่นได้มีโอกาสเข้าร่วมในการแสดงความสามารถทางดนตรี ไม่ว่าจะเป็นมือกีตาร์หรือโวคัลลิสต์บนเวทีต่างๆ อาทิ การร่วมก่อตั้งวงดนตรีร็อกโซเวียต ‘สลาเวียเนีย’ ซึ่งเป็นวงดนตรีร็อกที่ร้องเป็นภาษาอังกฤษวงแรกๆ ของโซเวียต รวมไปถึงวงสคามาโรฆี (Скоморохи – Skomorokhi) ของกลุ่มเด็กนักเรียนชาวมอสโกวัย 16 ที่พาให้กราดสกี้เป็นที่รู้จักมากที่สุดในฐานะนักกีตาร์มือฉมัง

 

ชะตาชีวิตพัดพาให้กราดสกี้มาร่วมงานในฐานะศิลปินรับเชิญร่วมกับ ดาวิด ตุฆมานอฟ (Давид Тухманов – David Tukhmanov) ศิลปินโซเวียตยุค 60-70 เจ้าของโปรเจกต์อัลบัม Как прекрасен мир – Kak Prekrasen Mir (How beautiful The World is) ที่โด่งดังเป็นพลุแตก และกลายเป็นเพลงที่มีฟังกันทุกบ้าน รวมไปถึงวลีของเพลงที่ถูกนำไปปรับใช้กับสปอตโฆษณาสินค้าและบริการต่างๆ ทั่วรัสเซียจนถึงปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น ในทศวรรษที่ 70 อเล็กซานเดอร์ได้เริ่มขยับขยายไปสร้างผลงานในวงการภาพยนตร์ด้วยจากการทาบทามของอันเดรย์ คอนชาลอฟสกี้ (Андрей Кончаловский – Andrey Konchalovsky) ในผลงานภาพยนตร์เรื่อง Романс о влюбленных – Romans o vlyublyonnykh (Romance about The Lovers) ที่ไม่เพียงจะแต่งเพลงเท่านั้น แต่ยังได้แสดงลูกคอเพลงที่ตนเองแต่งในภาพยนตร์อีกด้วย ซึ่งหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกฉายในปี 1974 ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงและนำชื่อเสียงมาสู่ อเล็กซานเดอร์ กราดสกี้ ในฐานะผู้แต่งและผู้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ จนถึงขนาดที่นิตยสาร Billboard ได้ประกาศให้กราดสกี้เป็นดาวแห่งปี 1974 (The Star of the 1974 year) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่กราดสกี้สำเร็จการศึกษาจากคณะวิชาการร้องเพลงแห่งสถาบันการดนตรีแห่งชาติรัสเซียกเนซิน (Российская академия музыки имени Гнесиных – Russian State Musical College named after Gnesin) และต่อด้วยการศึกษาการคอมโพสิชันในคลาสของ ทิฆอน เฆรียนนิคอฟ (Тихон Хренников) ซึ่งเป็นบรมครูของชาวคอมโพสิเตอร์เบอร์หนึ่งของสหภาพโซเวียตอีก 2 ปี

 

ในช่วงทศวรรษที่ 80 ได้มีโอกาสร่วมงานใหญ่ๆ ทั้งในและนอกสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มโปรเจกต์ร็อกโอเปราที่จะดำเนินต่อไปอีกนับสิบปี และมีซูเปอร์สตาร์ดิว่าดาวค้างฟ้าอย่าง อัลล่า ปูกาโชว่า (Алла Пугачева – Alla Pugachyova) รวมไปถึง โยซิฟ โคบโซน (Иосиф Кобсон – Yosif Kobson) เยเลนา คัมบูโรวา (Елена Камбурова – Yelena Kamburova) อันเดรย์ มาคาเรวิช (Andrey Makarevich) อันเดรย์ มิโรนอฟ (Андрей Миронов – Andrey Mironov) มิฆาอิล โบยาร์สกี้ (Михаил Боярский – Mikhail Boyarsky) และอื่นๆ อีกมากมายซึ่งจะขยายงอกเงยออกมาเป็นการแสดงร็อกบัลเลต์ครั้งแรกในสหภาพโซเวียตอีกด้วย รวมไปถึงการเข้าร่วมคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อสมทบทุนช่วยเหลือนักกู้ภัยในอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดในปี 1986

 

จากนโยบายการเปิดประเทศอันเป็นผลจากแนวคิดกลาสนัสท์ (Гласность – Glasnost’) และปีรีสโตรยก้า (Перестройка – Perestroyka) ของผู้นำโซเวียตอย่าง มิฆาอิล กอร์บาโชฟ (Михаил Горбачев – Mikhail Gorbachyov) ในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 ต่อต้นทศวรรษที่ 90 อเล็กซานเดอร์ กราดสกี้ จึงได้มีโอกาสบินไปต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เพื่อร่วมงานกับศิลปินชื่อดังอย่าง Liza Minnelli, John Denver, Kris Kristofferson, Dionne Warwick, Sammy Davis Jr. วง Grateful Dead รวมไปถึงการเซ็นสัญญากับทำผลงานใน CD ภายใต้แบรนด์ Metamorphoses และ The Fruits From The Cemetery และการจัดคอนเสิร์ตในญี่ปุ่น เป็นต้น

 

ตลอดระยะเวลาบนเส้นทางศิลปิน อเล็กซานเดอร์ กราดสกี้ รังสรรค์ผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ไม่ต่ำกว่า 40 เรื่อง รวมไปถึงภาพยนตร์สารคดีและภาพยนตร์การ์ตูนรวมแล้วนับสิบๆ เรื่อง ชอนเนอร์ (Genres) ดนตรีมีทั้งผลงาน Rock and Roll, Blues Rock, Progressive Rock, Rock Opera, Opera, Romance Blue, Folk Song, Soul และผ่านเครื่องดนตรีอย่างกีตาร์ เบสกีตาร์ กลอง ไวโอลิน และเบลเปียโน โดยรวมแล้วถ้าจะเรียกสมญานามว่าอัจฉริยะศิลปินคงไม่เกินจากความจริงไปนัก

 

เมื่อมีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาอย่างต่อเนื่องนับสิบๆ ปี เส้นทางชีวิตของกราดสกี้จึงขึ้นจุดสูงสุดเมื่อได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งศิลปินแห่งชาติรัสเซียในปี 2000 และได้รับมอบเหรียญเกียรติยศศิลปินแห่งชาติจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินในเดือนเมษายน 2000

 

หลังประสบความสำเร็จในชีวิตสูงสุด อเล็กซานเดอร์ กราดสกี้ มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานบันเทิงให้กับชาวรัสเซียอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงโอเปรา การเข้าร่วมในรายการโทรทัศน์ต่างๆ รวมไปถึงการมีบทบาทเป็นผู้อำนวยการโรงละครกราดสกี้ (Градский Холл Театр – Gradsky Hall Theatre) โดยเฉพาะผลงานล่าสุดที่กำลังได้รับความนิยมมากที่สุด นั่นก็คือการเป็นกรรมการตัดสินในรายการ Голос (โกลัส) หรือ The Voice ของประเทศรัสเซียนั่นเอง ทั้งซีซัน 2012-2014, 2015, 2017 และ 2021

 

ชีวิตส่วนตัวของกราดสกี้ ผ่านการสมรสและหย่ามา 3 ครั้ง ครั้งแรกกับ นาตาเลีย กราดสกายา (Наталья Градская – Natalia Gradskaya) ครั้งที่สองในปี 1976-1980 กับนักแสดง อนาสตาเซีย เวียร์ตินสกายา (Анастасия Вертинская – Anastasia Vertinskaya) ครั้งที่สามในปี 1980-2001 กับ โอลก้า กราดสกายา (Ольга Градская – Olga Gradskaya) มีบุตรด้วยกันสองคนคือ ดานิลและมาเรีย เกิดในปี 1981 และ 1986 ตามลำดับ ส่วนภรรยาคนล่าสุดคือนักแสดงสาว มารีนา โคตาเชนโก (Марина Коташенко – Marina Kotashenko) ไม่ได้สมรส แต่อยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยาโดยพฤตินัย และมีบุตรด้วยกันสองคนคืออเล็กซานเดอร์และอิวาน เกิดในปี 2014 และ 2018 ตามลำดับ

 

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา อเล็กซานเดอร์ กราดสกี้ ได้ติดเชื้อและป่วยด้วยโรคโควิด ถึงแม้ว่าจะหายจากโรคแล้ว แต่ร่างกายก็ทรุดโทรมลงตามลำดับ จนกระทั่งในวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการนำร่างของกราดสกี้ที่กำลังหมดสติจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตกนำส่งโรงพยาบาล และในที่สุดคืนวันที่ 28 พฤศจิกายน ช่วงเวลาตีสองตามเวลลามอสโก อเล็กซานเดอร์ บอริโซวิช กราดสกี้ ก็ได้เดินทางกลับไปสู่อ้อมกอดของพระเจ้าอีกครั้งหนึ่งด้วยสาเหตุโรคหลอดเลือดสมอง

 

ปิดฉากตำนานผู้เปิดโลกเพลงร็อกให้กับรัสเซีย

 

ภาพ: Meloman.ru

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising