×

พูดคุยกับ Alex Poots ซีอีโอของ The Shed สถาบันศิลปะการแสดงแห่งใหม่ของนิวยอร์กที่ Björk, Steve McQueen และ Sia มาร่วมงานแล้ว

29.07.2019
  • LOADING...

ตั้งแต่แรกเริ่ม หนึ่งในเสน่ห์ของมหานครนิวยอร์กคือการเป็นศูนย์รวมสำคัญเชิงวัฒนธรรมและศิลปะทุกรูปแบบ ซึ่งได้ช่วยกำเนิด บุกเบิก และผลักดันกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนสังคมและโลกของเราอย่างไม่รู้จบจนถึงนาทีนี้ โดยในนิวยอร์กมีสถาบันศิลปะมากมาย เช่น Carnegie Hall, Park Avenue Armory, Brooklyn Academy of Music และ Lincoln Center for the Performing Arts ซึ่งเหมือนในหนังหรือซีรีส์ เด็กหลายคนที่อยากเป็นศิลปินไม่ว่าจะมาจากวิสคอนซินหรือกรุงเทพฯ ต่างก็แบกความฝันมาที่นี่ 

 

โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นิวยอร์กก็มีสถาบันศิลปะการแสดงแห่งใหม่ชื่อ The Shed เกิดขึ้น และกลายเป็นกระแสทันทีกับงบประมาณการสร้างอาคารเคลื่อนไหวได้สูงถึง 475 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับการที่หลายคนต่างตั้งคำถามว่า “นิวยอร์กจำเป็นต้องมีสถาบันศิลปะการแสดงแห่งใหม่อีกหรือ” 

 

แต่กว่า 4 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ The Shed เปิดอย่างเป็นทางการ สถาบันศิลปะการแสดงแห่งนี้ก็ได้สะท้อนความหวังใหม่ให้กับโลกศิลปะและการแสดง พร้อมผลงานต่างๆ ที่เป็นแบบ Multidisciplinary ผสมผสานหลากหลายศาสตร์เข้าด้วยกันอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตสุดล้ำของ Björk’s Cornucopia หรือละครเวทีมิวสิคัลสไตล์กังฟูกำลังภายในชื่อ Dragon Spring Phoenix Rise ที่นักร้องสาวอย่าง เซีย มาทำเพลงประกอบให้ 

 

ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ The Shed ก็คือ อเล็กซ์ พุตส์ อาร์ตไดเรกเตอร์และซีอีโอชาวอังกฤษ ซึ่งเขาเคยได้รับเหรียญเกียรติยศ Order of the British Empire จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาแล้ว โดยล่าสุด THE STANDARD ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับเขาที่ The Shed ในนิวยอร์ก ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ช่วงเวลาเดียวกับที่เขากำลังยุ่งกับการลงดีเทลสุดท้ายของคอนเสิร์ต Björk’s Cornucopia ที่จะเปิดการแสดงในค่ำคืนนั้นเป็นครั้งแรก

โจทย์ในการทำงานของพวกเขาก็คือการสร้างบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เหมือนที่อื่นในนิวยอร์ก และต้องเป็นบางสิ่งที่จะทำให้นิวยอร์กมีความล้ำสมัย ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ The Shed ที่เราเห็นกันอยู่ในตอนนี้

alex-poots-the-shed-ceo

อเล็กซ์ พุตส์

 

alex-poots-the-shed-ceo

อาคาร The Shed หากเดินมาจากทางไฮไลน์

 

คุณเริ่มต้นเส้นทางอาชีพในสายดนตรี แต่อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันมาทำงานด้านการเป็นผู้จัดการแสดง

ผมเคยเล่นทรัมเป็ตและแต่งเพลง และในตอนที่ผมเล่นดนตรีอยู่ ผมก็มักจะสนใจในการจัดวางรูปแบบของโชว์นั้นๆ เช่น วิธีจัดรูปแบบเวทีคอนเสิร์ต คนดูจะนั่งตรงไหน และคุณจะจัดอย่างไรให้มันแตกต่างออกไป มันก็เริ่มต้นจากตรงนั้น หลังจากนั้นผมก็เริ่มรู้ตัวว่ามีความสนใจด้านการจัดการแสดงมากขึ้น ผมรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง และเริ่มมั่นใจว่าทำตรงนี้ได้ดีกว่าการเล่นดนตรี มันจึงกลายเป็นการเปลี่ยนอาชีพที่เกิดขึ้นโดยปริยาย

 

แล้วจุดเปลี่ยนจากการเป็นผู้จัดการแสดงสู่การเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์และซีอีโอของ The Shed ในทุกวันนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ส่วนใหญ่ผมจะได้รับตำแหน่งอาร์ตไดเรกเตอร์ หรือเป็นทั้งอาร์ตไดเรกเตอร์และซีอีโอ ดังนั้นในช่วง 14 ปีที่ผ่านมาผมก็ทำงานในตำแหน่งอาร์ตไดเรกเตอร์และซีอีโอมาโดยตลอด ผมชอบที่ได้เข้ามาดูแลทั้งในการกำหนดทิศทางศิลป์ ทางด้านธุรกิจ และการควบคุมดูแลเรื่องเงิน ผมว่ามันเป็นเรื่องดีที่เราจะสนใจทั้งสองด้าน

 

ตลอด 4 ปีครึ่งที่ผ่านมามีคนมาทาบทามให้ผมลองสมัครงานกับ The Shed แต่ผมไม่ค่อยสนใจเท่าไร เพราะกลัวพลาด โดยเฉพาะเมื่อผมทำงานในตำแหน่งอาร์ตไดเรกเตอร์และซีอีโออยู่แล้ว ผมไม่อยากกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จที่หนึ่ง แต่ไปล้มเหลวในอีกที่หนึ่ง ดังนั้นผมจึงไม่ได้สนใจสักเท่าไร แต่พวกเขาก็ยังคงมาทาบทามเรื่อยๆ ผมจึงบอกไปว่าเอาอย่างนี้แล้วกัน พวกคุณก็เรียกสัมภาษณ์คนอื่นๆ ไป แต่เรามาคุยกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้างที่เราทำร่วมกันได้ ที่ตรงกับความต้องการของพวกเราทั้งสองฝ่าย แล้วผมก็ตกหลุมรักไอเดียของ The Shed และไอเดียที่ว่ามันตั้งอยู่ในนิวยอร์ก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดใจผมเอามากๆ เลย

 

คุณตั้งเป้าหมายอะไรกับการมาทำงานที่ The Shed

งานชิ้นแรกของอาร์ตไดเรกเตอร์และซีอีโอคือการวางภารกิจหลักขององค์กร นั่นคือสิ่งที่พวกเราคุยกันก่อนที่ผมจะเข้ามารับงานที่นี่ เราคุยกันว่าภารกิจหลักของเราคืออะไร และผมอยากให้ภารกิจของเราเป็นการช่วยส่งเสริมผลงานศิลปะที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ ดังนั้นเราจึงมีการสนับสนุนเงินทุนให้กับศิลปะหลากหลายแขนง ทั้งศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ และป๊อปคัลเจอร์ ทั้งหมดในที่นี่ที่เดียว เราทำตั้งแต่การสนับสนุนเงินทุน การสร้างผลงาน ไปจนถึงการจัดแสดง เพราะสุดท้ายแล้วหากคุณมีโปรแกรมที่หลากหลาย คุณก็จะมีกลุ่มผู้ชมที่หลากหลายเช่นกัน ซึ่งนั่นก็คือเป้าหมายสูงสุดของเรา

เมืองใหญ่ๆ ทุกแห่งในโลกมี Hudson Yards ในรูปแบบของตนเอง นั่นคือความก้าวหน้า ไม่ว่าคุณจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม

alex-poots-the-shed-ceo

ล็อบบี้ของ The Shed โดยที่ขอบเพดานจะเขียนชื่อของบุคคลและครอบครัวที่บริจาคเงินเพื่อสมทบทุนสร้าง

 

alex-poots-the-shed-ceo

ห้องจัดนิทรรศการศิลปะ

 

นิวยอร์กเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยแพลตฟอร์มศิลปะ และ The Shed ก็เป็นหนึ่งในสถานที่ใหม่ที่เกิดขึ้น คุณมีแผนระยะยาวในการบริหารมันในเมืองที่เต็มไปด้วยแพลตฟอร์มศิลปะอื่นๆ หรือไม่

มันไม่มีแพลตฟอร์มไหนในนิวยอร์กที่สนับสนุนและว่าจ้างศิลปะจากทุกแขนง ผมอยากจะแย้งว่าจริงๆ แล้ว The Shed เป็นสถานที่ที่ตอบโจทย์กับนิวยอร์กเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่มีที่ไหนที่เหมือนเรา สิ่งหนึ่งที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับนิวยอร์กคือมันเป็นเมืองที่เปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เสมอ จริงๆ แล้วในแง่หนึ่ง The Shed ถูกสร้างขึ้นด้วยจิตวิญญาณของนิวยอร์กในยุคบุกเบิก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นิวยอร์กกลายเป็นหนึ่งในเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของโลก เพราะเมืองทั้งหมดในยุโรปและสถานที่อื่นๆ ยังคงได้รับความเสียหายจากสงคราม ต่างจากนิวยอร์กซึ่งกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์และนวัตกรรม ในแง่หนึ่ง The Shed จึงถูกสร้างขึ้นบนรากฐานของจิตวิญญาณนั้น

 

คุณได้มีโอกาสทำงานกับสถาปนิกของโครงการตั้งแต่ต้น ช่วยแนะนำ The Shed ให้กับผู้อ่านของเราหน่อยได้ไหม

จริงๆ แล้วโครงการทั้งหมดนี้เริ่มต้นภายใต้การดูแลของนายกเทศมนตรี ไมเคิล บลูมเบิร์ก และรองนายกเทศมนตรี แดน ด๊อกเตอรอฟฟ์ ซึ่งเป็นประธานบริษัทของเรา พวกเขาอยากให้ The Shed เป็นองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไรและสร้างขึ้นบนที่ดินสาธารณะ ประธานบริษัทของเราได้ร่วมงานกับ ลิซ ดิลเลอร์ และเดวิก ร็อกเวลล์ ผู้ร่วมงานของเธอ โดยโจทย์ในการทำงานของพวกเขาก็คือการสร้างบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เหมือนที่อื่นในนิวยอร์ก และต้องเป็นบางสิ่งที่จะทำให้นิวยอร์กมีความล้ำสมัย ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ The Shed ที่เราเห็นกันอยู่ในตอนนี้ จุดเริ่มต้นของมันจริงๆ ก็เกิดจากกลุ่มบุคคลที่ผมได้กล่าวมา หากไม่มีพวกเขาก็จะไม่มีเราที่นี่

 

alex-poots-the-shed-ceo

โซนโรงละคร The Kenneth C. Griffin Theater

 

alex-poots-the-shed-ceo

โซน The Tisch Skylights and Lab


ใครเป็นคนตั้งชื่อ The Shed และมีที่มาที่ไปอย่างไร

ในตอนแรกเราจะใช้ชื่อว่า Culture Shed และผมก็คิดว่าคนจะต้องย่อมันเหลือแค่ The Shed เหมือนกับสิ่งอื่นๆ ในนิวยอร์กอย่างแน่นอน เช่น The Metropolitan Museum ก็กลายเป็น MET และ Brooklyn Academy of Music ก็กลายเป็น BAM ดังนั้นผมเลยคิดว่าเราน่าจะตัดปัญหาการรีแบรนด์ใหม่ในอีก 4 ปีข้างหน้า และเรียกมันว่า The Shed ตั้งแต่แรกเสียเลย และผมคิดว่าชื่อ The Shed ฟังดูเข้าถึงง่ายสำหรับคนในวงกว้างมากกว่า

 

เพื่อนคนหนึ่งของผมพูดว่าคุณไม่จำเป็นต้องอธิบายว่ามันคืออะไรโดยการย้ำว่ามันคือ Culture Shed หรอกนะ เพื่อนผมคนนั้นคือ มารินา อบราโมวิช เธอพูดว่า คุณรู้ไหม เมื่อพวกเขาก่อตั้ง Apple พวกเขาไม่ได้เรียกมันว่า Apple Computer สักหน่อย จริงๆ แล้วพวกเขาเรียกมันว่า Apple Computer แต่ก็เปลี่ยนมาเป็น Apple อย่างรวดเร็ว โชคดีที่บอร์ดผู้บริหารเห็นด้วยกับความคิดนี้ เราเลยเลือกใช้ชื่อ The Shed ตั้งแต่ต้น

 

คนส่วนใหญ่ในตอนนี้ใช้ชีวิตออนไลน์และเสพสื่อต่างๆ ผ่านมือถือ คุณคิดว่า The Shed จะช่วยเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มาสัมผัสกับศิลปะแบบนอกจอและชมการแสดงสดได้หรือไม่

ผลงานที่เราจัดแสดงส่วนใหญ่มักเป็นการแสดงสด แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม หากคุณได้ลองไปดูโชว์ของบียอร์ก คุณก็จะเห็นว่ามันมีองค์ประกอบที่ใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลอยู่เยอะมาก ดังนั้นผมจึงคิดว่ามันเป็นเรื่องของการผสมผสานเข้าด้วยกันมากกว่า

 

เรามีโชว์ที่กำลังจะจัดแสดงของ นอรา ข่าน ซึ่งเธอเป็นคนวางแผนเองทั้งหมด โดยเป็นผลงานที่แสดงถึงจุดตัดของศิลปะและเทคโนโลยี/วิทยาศาสตร์ ผมสนใจว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับอะไรบ้าง เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วผมได้ไปดูโชว์ของ โซแลง โนวส์ ซึ่งกลุ่มคนที่ไปดูโชว์นั้นค่อนข้างอายุน้อยและเป็นกลุ่มอย่างที่คุณพูดถึง แต่พวกเขากลับกลายเป็นกลุ่มผู้ชมที่ตั้งใจดูโชว์มากที่สุดที่ผมเคยเห็นมาในรอบหลายเดือน และผมมั่นใจว่าพวกเขาก็เป็นกลุ่มที่เล่นโซเชียลมีเดียทั้งก่อนและหลังโชว์อย่างแน่นอน ผมว่ามันเป็นเรื่องดีที่เรามีความชื่นชอบสิ่งต่างๆ หลากหลายรูปแบบ        

 

alex-poots-the-shed-ceo

วิวของ The Vessel จาก The Shed

 

 

อีกหนึ่งไฮไลต์ของที่นี่คือตัวอาคารที่เคลื่อนไหวได้

ผมว่าจริงๆ แล้วไฮไลต์ของอาคารนี้อยู่ที่ความยืดหยุ่นในแง่การใช้งานของมันมากกว่า ซึ่งการที่อาคารเคลื่อนไหวได้ก็เป็นส่วนหนึ่งของไฮไลต์นั้น ผมคิดว่ามันเป็นสถานที่แรกจริงๆ ที่ให้งบสนับสนุนศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ และป๊อปคัลเจอร์ในที่เดียว และตอนนี้ศิลปะทุกรูปแบบ ศิลปินทุกประเภท และผู้ชมทุกคนก็ยินดีต้อนรับที่นี่ การที่อาคารสามารถเคลื่อนไหวได้หมายความถึงศิลปินที่ไม่ชอบแสดงผลงานภายในตัวอาคาร เพราะชิ้นงานของเขาให้ประสบการณ์ที่ดีที่สุดกลางแจ้ง เราก็สามารถปรับโฉม The Shed และสร้างพื้นที่นอกอาคารให้กับผลงานของศิลปินได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่โชคดีมากๆ ที่เรามีพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นสูงอย่าง The Shed

 

บนโลกนี้มีอาคารเพียงไม่กี่แห่งที่เคลื่อนไหวได้ คุณมีทีมที่คอยดูแลบำรุงรักษาอาคารล้ำสมัยอย่าง The Shed หรือเปล่า

เรามีทีมงานฝ่ายดูแลอาคารที่มีประสบการณ์สูง ซึ่งพวกเขาตื่นเต้นมากว่าจะเป็นอย่างไรที่จะได้เข้ามาดูแลอาคารแห่งนี้ เราอยู่ที่นี่มาประมาณ 3 สัปดาห์ครึ่ง และยังอยู่ในช่วงเรียนรู้ว่าปุ่มต่างๆ อยู่ที่ไหนและต้องกดปุ่มอะไรบ้าง เพราะเรามีเวลาน้อยมากในการย้ายเข้ามาที่นี่ ตอนเราขนของเข้ามา เจ้าหน้าที่ก่อสร้างก็ยังทำงานอยู่เลย ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่เรายังคงต้องศึกษาต่อไป

 

Hudson Yards เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเอกชนที่แพงที่สุดในสหรัฐอเมริกา และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากผู้คน The Shed ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะเดียวกันหรือไม่ และคุณมีความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

เมืองใหญ่ๆ ทุกแห่งในโลกมี Hudson Yards ในรูปแบบของตนเอง นั่นคือความก้าวหน้า ไม่ว่าคุณจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม Hudson Yards ไม่ได้รับอนุญาตในการก่อสร้างหากไม่อุทิศส่วนใดส่วนหนึ่งของพื้นที่ใหม่ให้กับศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจริงๆ แล้ว The Shed ถูกสร้างขึ้นบนที่ดินสาธารณะ มันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ไม่ได้เป็นของเอกชน เราได้ประโยชน์จากการลงทุนและจากธุรกิจที่เข้ามาใน Hudson Yards พวกเขาลงทุนให้กับ The Shed ดังนั้นเราจึงรู้สึกซาบซึ้งในการสนับสนุนของพวกเขาเป็นอย่างมาก เพราะ The Shed จะไม่เกิดขึ้นหากเราไม่ได้เงินลงทุนจากพวกเขา เราอาศัยอยู่ในระบบทุนนิยม มันไม่มีเงินอุดหนุนสาธารณะในประเทศนี้ และผมนึกไม่ออกว่าจะมีวิธีหรือระบบอื่นๆ ที่ทำให้เราสามารถสร้างสิ่งที่มีคุณค่าและพิเศษอย่าง The Shed ได้ มันเป็นระบบรูปแบบหนึ่ง และคุณก็แค่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน  

 

alex-poots-the-shed-ceo

alex-poots-the-shed-ceo

คอนเสิร์ต Björk’s Cornucopia ที่แสดงในโรงละคร The McCourt ของ The Shed

Photo: Santiago Felipe / Getty Images

 

หนึ่งในอีเวนต์หลักแรกของคุณก็คือคอนเสิร์ตของบียอร์ก ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร

บียอร์กพูดเองว่ามันเป็นคอนเสิร์ตที่พิถีพิถันและซับซ้อนที่สุดที่เธอเคยทำมา โดยเป็นการร่วมงานระหว่างเธอและผู้กำกับ ลูเครเซีย มาร์เทล แต่ก่อนหน้านี้ผมก็ได้มีโอกาสทำงานกับบียอร์กมาประมาณ 10 ปีแล้วกับผลงาน 2 ชิ้นของเธอ โดยชิ้นที่สำคัญมากสำหรับผมก็คือผลงานชุด Biophilia เพราะเราได้เข้าไปช่วยสร้างผลงานชิ้นนั้นให้กับเธออย่างจริงจัง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง Manchester International Festival ที่ผมเป็นคนก่อตั้ง ตอนนั้นเป็นช่วงที่ทำให้ผมได้รู้จักกับบียอร์กแบบจริงๆ และได้สัมผัสกับความคิดสร้างสรรค์และความกล้าเสี่ยงของเธอ     

 

เธอเป็นศิลปินที่เยี่ยมยอดมาก เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วผมก็ได้เจอเธออีกครั้ง และเธอเข้ามาคุยถึงเรื่องการทำอัลบั้มใหม่ชื่อ Utopia ผมก็เลยถามเธอว่าผมจะช่วยอะไรได้บ้าง หลังจากนั้นเราก็เริ่มพูดคุยและถกไอเดียกันว่าเราจะทำให้คอนเสิร์ตของเธอเป็นมากกว่าคอนเสิร์ตทั่วไปได้อย่างไร และเธอรู้สึกตื่นเต้นกับไอเดียนี้มาก

 

ในอนาคตจะมีศิลปินหน้าใหม่ที่คุณอยากจะร่วมงานด้วยหรือเปล่า

แน่นอน เราเพิ่งร่วมงานกับศิลปินหน้าใหม่ 25 คนในโปรเจกต์ Soundtrack of America กำกับโดย สตีฟ แม็กควีน ซึ่งศิลปินทั้งหมดเป็นนักร้อง นักดนตรี และนักแต่งเพลงหน้าใหม่ มันเป็นโปรเจกต์ที่วิเศษมาก เป็นการพูดถึงดนตรีแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบศิลปะที่ทรงอิทธิพลที่สุดในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เราได้เชิญนักวิชาการมาเพื่อวาดแผนภูมิต้นไม้ของดนตรีแอฟริกัน-อเมริกัน หลังจากนั้นศิลปินทั้ง 25 คนก็ใช้แผนภูมินั้นในการค้นหาเส้นทางที่เชื่อมโยงมาสู่พวกเขา และพวกเขาก็จะนำเสนอเส้นทางของตนเองออกมาผ่านการแสดง โดยจะสลับกันไปในแต่ละคืน เราให้ความสนใจทั้งศิลปินหน้าใหม่และศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้ว เราไม่อยากที่จะต้องเลือก เราชอบศิลปินทุกรูปแบบ

 

นอกจากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว คุณคิดว่า The Shed จะกลายเป็นอะไรได้บ้างในอนาคต

เหล่าศิลปินน่าจะเป็นคนที่ตอบคำถามนั้นได้ดีที่สุด ทุกครั้งที่ผมเจอศิลปินที่มีฝีมือ พวกเขามักคิดว่าจะทำอะไรกับที่นี่ได้บ้าง พวกเขาจะดึงศักยภาพของอาคารออกมาได้อย่างไร และขีดความสามารถของตัวอาคารอยู่ที่ไหน

INPARTNERSHIP Qatar Airways

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X