นักดื่มชาวอเมริกันยังลำบากในยุคเงินเฟ้อ-รายได้ไม่พอรายจ่าย เริ่มต้านบริษัทสุราราคาแพง หันไปดื่มเบียร์และค็อกเทลกระป๋องที่มีราคาถูกกว่า กระทบผู้ผลิตสุราหลายแห่งต้องแบกรับสินค้าเต็มคลัง
ถึงวันนี้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ของโลกเผชิญความท้าทายอย่างหนัก ทั้งภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคให้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงโดยเริ่มต่อต้านสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทำให้บริษัท Rémy Cointreau และ Pernod Ricard ผู้ผลิตวอดก้าแบรนด์ Absolut และบริษัท Proximo Spirits ผู้ผลิตเตกีลา Jose Cuervo รวมถึงบริษัทเบียร์ Anheuser-Busch มีปริมาณการขายหรือยอดขายลดลง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ปริมาณการขายโดยรวมลดลง 3% ซึ่งมากกว่าที่บริษัทเหล่านี้คาดการณ์เอาไว้
สอดรับกับที่บริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม IWSR รายงานว่า ในช่วงแรกๆ ที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง อุตสาหกรรมสุรากลับมาฟื้นตัวและทำยอดขายเพิ่มขึ้นมหาศาล
แต่เมื่อเจอกับภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงทำธุรกิจสุราชะลอตัวลง ทำให้ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตสุราหลายแห่งต้องเผชิญกับสินค้าคงคลังที่มากเกินไป เพราะลูกค้าลดปริมาณการซื้อ
Luca Marotta ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Rémy Cointreau Group กล่าวในระหว่างการประชุมรายงานผลประกอบการล่าสุดว่า ปัจจัยทั้งหมดทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัท Rémy Cointreau Group ลดลง 50% ในปีนี้ และยอดขายในอเมริกาลดลงอย่างมากถึง 22.8% โดยแบรนด์ของคอนญักทำยอดขายได้น้อยสุด ถ้าเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ในกลุ่ม ทำให้ต้องปรับลดเป้าหมายรายได้ทั้งปีลง
ไม่เว้นแม้แต่ Pernod Ricard ผู้ผลิตแบรนด์ Jameson และ Kahlúa ก็มีความเห็นในทิศทางเดียวกัน ในไตรมาสล่าสุดยอดขายในตลาดอเมริกาลดลง 10% เนื่องจากร้านค้าปลีกยังคงบริหารระดับสต็อกอย่างเข้มงวด หรือเรียกง่ายๆ ว่าไม่สต็อกสินค้าเพิ่ม พร้อมกับจัดโปรโมชันดึงลูกค้าอย่างหนัก
ไม่เพียงแต่กลุ่มสุราเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังรวมถึงเตกีลา, วิสกี้อเมริกัน, เบียร์ และไวน์ ที่ยอดขายลดลงไปตามๆ กัน ซึ่งสวนทางกับกลุ่มเครื่องดื่มหมวดค็อกเทลกระป๋องเท่านั้นที่ยังคงเติบโตเล็กน้อยอยู่ที่ 2%
ด้าน Marten Lodewijks ประธานของ IWSR ในอเมริกา กล่าวต่อไปว่า รายได้ที่ลดลง ถือเป็นการกลับสู่ภาวะปกติของอุตสาหกรรม ปัจจัยของอัตราเงินเฟ้อทำให้ผู้บริโภค ลดการใช้จ่ายกับกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทสุราลง เพราะราคาสุราต่อขวด สูงขึ้น รวมทั้งเริ่มหันไปดื่มเบียร์และค็อกเทลกระป๋องพร้อมดื่มมากขึ้น เพราะมีราคาถูกกว่า
อีกทั้งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อเปลี่ยนพฤติกรรมไปซื้อสินค้าในร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มราคาคุ้มค่าอย่างร้าน ALDI ที่มีจุดขายของการจำหน่ายค็อกเทล, เครื่องดื่มพร้อมดื่ม, ไวน์ และเบียร์ ด้วยราคาขายส่ง จึงได้รับอานิสงส์ยอดขายเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันเปิดให้บริการ 2,000 สาขาทั่วอเมริกา
Arlin Zajmi ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อของ ALDI กล่าวว่า ครัวเรือนในสหรัฐฯ กว่า 1 ใน 4 นิยมซื้อสินค้าที่ ALDI ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สินค้าของ ALDI มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลัก ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มอุตสาหกรรมโดยรวมที่ลดลง
อ้างอิง: