หลังเที่ยงคืนวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่กฎกระทรวง เรื่องกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 โดยระบุอัตราภาษีสินค้าสุราและยาสูบ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป
ล่าสุดวันนี้ (16 กันยายน) เวลา 10.00 น. กรมสรรพสามิตตั้งโต๊ะชี้แจงถึงอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ โดยนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิตชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ครั้งนี้อยู่บนหลักการที่จะไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้กับประชาชนจนเกินไป ในภาพรวมจะทำให้เม็ดเงินมูลค่าภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 2% ของจำนวนภาษีเดิมที่เคยเสียอยู่ คิดเป็นประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งคิดจากราคาขายปลีกเดิม
แต่ในความเป็นจริงสินค้าต่างๆ มีการแข่งขันกันสูง ดังนั้นจึงมั่นใจว่า เมื่อกฎหมายฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว ไม่เชื่อว่าจะมีการเพิ่มราคาขายปลีกมากนัก
จากอัตราภาษีที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา กรมสรรพสามิตยังคำนวณออกมาเป็นมูลค่าภาษีที่อาจมีการปรับเพิ่มหรือลดลงดังนี้
- เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และไม่มีน้ำตาล ลดลง 25-36 สตางค์
- เครื่องดื่มน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เพิ่มขึ้น 13-50 สตางค์
- เครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เพิ่มขึ้น 32-90 สตางค์
- น้ำพืชผักผลไม้ เพิ่มขึ้น 6-54 สตางค์
- ชาเขียว เพิ่มขึ้น 1.13-2.05 บาท
- กาแฟ เพิ่มขึ้น 1.35 บาท
- เบียร์ เพิ่มขึ้น 50 สตางค์ ถึง 2.60 บาท ส่วนเบียร์ที่มีราคาแพงภาษีจะลดลงตั้งแต่ 90 สตางค์ ถึง 2 บาท
- สุราขาว เพิ่มขึ้น 84 สตางค์ ถึง 3.50 บาท
- ไวน์นำเข้าราคาเกิน 1,000 เพิ่มขึ้น 110 บาท ต่ำกว่า 1,000 จะลงตั้งแต่ 25 บาทขึ้นไป
- สุราสีในประเทศ เพิ่มขึ้น 8-30 บาท
- สุราสีนำเข้าลดลง 2-20 บาท
- บุหรี่ราคาถูกกว่า 60 บาท เพิ่มขึ้น 4-15 บาทต่อซอง
- บุหรี่ราคาแพงกว่า 60 บาท เพิ่มขึ้น 2-10 บาทต่อซอง
ทั้งนี้แหล่งข่าวจากบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ขณะนี้บริษัทบุหรี่เอกชนกำลังรอดูสถานการณ์ก่อนที่จะประกาศราคาขายอีกครั้ง ซึ่งระหว่างนี้จะยังขายในราคาเดิมไปก่อนอีกประมาณ 2-3 วัน
“สุดท้ายคงต้องดูว่าภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นจะมากแค่ไหน ในมุมมองของผู้ประกอบการคงจะต้องพิจารณาตามสถานการณ์อีกครั้งว่าจะเป็นฝ่ายแบกรับภาษีไว้เพื่อคงราคาขายเดิม หรือผลักภาระให้กับผู้บริโภค ซึ่งหากผลักภาระให้ผู้บริโภคทั้งหมด ราคาขายคงจะสูงกว่าเดิมค่อนข้างมาก”
อ้างอิง: