หลังการประกาศอนุญาตให้จำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวานนี้ (3 พฤษภาคม) พบว่าช่วง 11.00-14.00 น. ที่เริ่มมีการอนุญาตขายรอบแรก มีประชาชนต่างพากันซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ เป็นจำนวนมาก 7 องค์กรตัวแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำโดยชมรมผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายคราฟท์เบียร์ ชมรมผู้ประกอบการร้านคราฟท์เบียร์ จึงมีมติเห็นควรให้จัดตั้งสมาพันธ์สนับสนุนการดื่มที่บ้าน ในชื่อย่อ สสบ. ภายใต้โลโก้คนชูแก้วใต้ชายคา เพื่อสนับสนุนการทำงานของกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ตามแคมเปญ #สัญญาว่าจะอยู่บ้าน โดยทางกลุ่มถือเป็นกระบอกเสียงจากคนที่เข้าใจความหวังดีของภาครัฐและเข้าใจสิทธิและเสรีภาพของผู้ดื่ม จึงต้องการสื่อสารผ่านภาษาของคนหัวอกเดียวกัน โดยคาดว่าจะได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ สื่อมวลชน และภาคประชาชน ในการรณรงค์แคมเปญที่สร้างสรรค์นี้
อาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ ตัวแทนจากชมรมผู้นำเข้าและจำหน่ายคราฟท์เบียร์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของสมาพันธ์สนับสนุนการดื่มที่บ้าน หรือ สสบ. ว่า “วัตถุประสงค์ของสมาพันธ์สนับสนุนการดื่มที่บ้านคือ การรณรงค์สร้างทัศนคติในการดื่มอย่างมีสติและความรับผิดชอบ ดื่มเพื่อความสุนทรีย์มากกว่าเพื่อเมา ซึ่งเป็นการรณรงค์ที่ต่างจากที่เคยมีมาตลอด เราจะชูนโยบายการดื่มที่ไม่สร้างปัญหากับสังคมหรือสร้างความเสี่ยงให้กับบุคคลอื่นในสังคม โดยแคมเปญที่ทำจะมุ่งเน้นให้กลุ่มผู้ดื่มต้องรับผิดชอบตัวเองและรับผิดชอบต่อสังคม โดยหากผู้ดื่มให้ความร่วมมือกับแคมเปญจนส่งผลให้เห็นถึงความแตกต่างในเชิงสถิติแบบวัดผลได้แล้ว ก็เชื่อว่าจะสามารถสร้างความเชื่อใจและการให้เกียรติ รวมถึงการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันต่อกลุ่มคนที่คิดต่างหรือคนที่ต่อต้านการดื่มได้
ทางกลุ่มคาดหวังว่าอยากให้สังคมรับรู้การมีอยู่ของกลุ่มคนดื่มที่ไม่ได้ก่อปัญหาให้สังคม ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะถูกตราหน้าเหมารวมว่าเป็นคนบาป แต่ก็อยากให้ทุกคนให้เกียรติกัน และมองถึงสิทธิและเสรีภาพเฉพาะบุคคล เพราะในขณะเดียวกันหากมองในแง่เศรษฐกิจ ภาครัฐก็ได้เงินนำส่งภาษีจากภาคธุรกิจนี้ไปปีละกว่าหลายแสนล้านบาท”
ในฝั่งตัวเลขของผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มร้านอาหารกึ่งผับบาร์ พบว่ามีการกลับมาเปิดอย่างไม่เต็มรูปแบบประมาณ 45% ของร้านที่หยุดกิจการในช่วงที่ผ่านมา โดยเริ่มระบายสินค้าที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่วันแรก
ด้าน นิติพันธุ์ ครุธทิน ตัวแทนจากชมรมผู้ประกอบการร้านคราฟท์เบียร์ กล่าวถึงตัวเลขการกลับมาเปิดกิจการของผู้ประกอบการร้านคราฟท์เบียร์ว่า “จากการได้สอบถามกันเองในชมรมผู้ประกอบการร้านคราฟท์เบียร์ที่มีสมาชิกรวมกันประมาณ 600 ร้านจากทั่วประเทศ พบว่ามีการกลับมาเปิดแบบเต็มรูปแบบ โดยดำเนินการตามนโยบายภาครัฐคือ ให้นั่งห่างกัน 1.5 เมตร เสิร์ฟอาหารของใครของมัน ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบดื่มที่ร้าน แต่ให้ซื้อกลับบ้านได้ จำนวน 5% และมีการเปิดกิจการขายเฉพาะเครื่องดื่มเพื่อระบายสต๊อกคงค้าง จำนวน 40% โดยยังมีอีกกว่า 55% ที่ยังรอความชัดเจนเพิ่มเติม เนื่องจากการกลับมาเปิดแต่ละครั้งมีต้นทุนสูง ทั้งการสต๊อกวัตถุดิบของสด หรือการจำหน่ายอาหารที่ต้องนั่งห่างกันตามที่รัฐกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ยังมองว่าอาจจะไม่คุ้ม จึงยังต้องวางแผนและรอดูทิศทางการกลับมาของกลุ่มลูกค้าด้วยเช่น”
ทั้งนี้สมาพันธ์สนับสนุนการดื่มที่บ้านได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการร้านอาหารกึ่งผับบาร์ในการติดแฮชแท็ก #สัญญานะว่าจะดื่มที่บ้าน และในส่วนของภาคประชาชนได้รับความร่วมมือจากเพจนักวิจารณ์แอลกอฮอล์ต่างๆ ช่วยแชร์แฮชแท็ก #สัญญาว่าจะดื่มที่บ้าน โดยใช้กิมมิก ‘ยกแก้ว กระดกนิ้วก้อย’ เสมือนเป็นพันธสัญญาร่วมกันของผู้จำหน่ายและผู้บริโภค ในการจะให้ความร่วมมือกับการทำงานของภาครัฐอย่างเต็มที่
“เราต้องขอขอบคุณภาครัฐและสื่อมวลชน ที่ฟังเสียงผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลบภาพการเป็นผู้ร้ายในสังคม ซึ่งทางชมรมได้วางแผนที่จะขับเคลื่อนและรณรงค์แคมเปญอื่นๆ เพิ่มเติม ภายใต้นโยบาย ‘การดื่มอย่างรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม’ และจะมีการปลูกฝังเรื่องเมาไม่ขับ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่สร้างความรำคาญ รับผิดชอบชีวิตตนเองเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และรับผิดชอบต่อสังคม โดยเราหวังว่าภาษาเดียวกันที่เราคุยกันกับนักดื่ม จะสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น และเป็นทิศทางใหม่ๆ ในการทำแคมเปญร่วมกับภาครัฐในอนาคต” อาชิระวัสส์ กล่าวทิ้งท้าย
#สมาพันธ์สนับสนุนการดื่มที่บ้าน #ดื่มอย่างรับผิดชอบต่อสังคม
สำหรับกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7 องค์กร ได้แก่ สมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย สมาคมผู้ผลิตไวน์ผลไม้และสุราพื้นบ้านไทย สมาคมบาร์เทนเดอร์ประเทศไทย ชมรมผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายคราฟท์เบียร์ ชมรมผู้ประกอบการร้านคราฟท์เบียร์ ชมรมเบียร์บรูเออร์แห่งประเทศไทย และชมรมผู้ค้าและตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์และวัตถุดิบทำเบียร์
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า