การประมูล 5G ที่เพิ่งจบลงไป AIS (บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)) กลายเป็นผู้ให้บริการที่สามารถประมูลคลื่นความถี่มาครองได้ครอบคลุมครบทุกย่านที่สุด ตั้งแต่ 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz รวมเป็นจำนวนทั้งหมด 23 ล็อตความถี่
ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของพวกเขาในฐานะผู้นำการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่ชัดเจนมากขึ้นไปอีกระดับ โดยปัจจุบัน AIS มีฐานผู้ใช้งานนำเป็นอันดับ 1 เหนือคู่แข่งผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ ที่ 42 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 2% จากปีที่แล้ว
ล่าสุดวันนี้ (19 กุมภาพันธ์) AIS ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ 5G และความพร้อมในการให้บริการกับผู้ใช้งาน โดยยังคงชูจุดแข็งความพร้อมในการครอบครองคลื่นความถี่ที่มีตั้งแต่ 700 MHz (30 MHz), 900 MHz (20 MHz), 1800 MHz (40 MHz), 2.1 GHz (30 MHz) 2600 MHz (100 MHz) ไปจนถึง 26 GHz (1200 MHz) ซึ่งในมุมนี้ AIS ถือว่าเป็นความได้เปรียบท่ีพวกเขาจะสามารถให้บริการผู้ใช้งานได้ดีกว่า
ปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS กล่าวว่า “AIS ยังคงยืนหยัดเป็นผู้นำอันดับ 1 ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการ 4G และ 5G มากที่สุดในอุตสาหกรรม รวม 1420 MHz (ไม่รวมความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์) ซึ่งหมายความว่า AIS จะมีขีดความสามารถที่ส่งมอบบริการและโซลูชันคุณภาพดีที่สุด เพื่อให้สามารถนำมาสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศได้มากยิ่งกว่าใครในอุตสาหกรรม ทั้งนี้รวมถึงคุณภาพการให้บริการในภาพรวมจาก 4G ปัจจุบันของ AIS ด้วย”
ทั้งนี้ AIS ระบุว่า พวกเขาจะร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้งานคนไทยจะได้สัมผัสกับการใช้งานเทคโนโลยี 5G ผ่านอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป AIS ได้เริ่มเปิดสัญญาณ 5G บนคลื่นความถี่ 2600 MHz เป็นรายแรกแล้ว เพื่อให้ผู้ใช้งานบางส่วนได้เริ่มทดสอบสัญญาณ 5G ในจุดต่างๆ เช่น สยามพารากอน, เซ็นทรัลเวิลด์, แยกอโศก และในเขตภูมิภาคทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี AIS ยังไม่เปิดเผยว่าพวกเขาจะพร้อมเปิดให้บริการ 5G กับผู้ใช้บริการเมื่อไร แต่ยืนยันว่ามีความพร้อมเต็มที่ เนื่องจากได้เตรียมความพร้อมเครือข่ายส่วนใหญ่มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 แล้ว ประกอบกับการเป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นความถี่ในพอร์ตที่ครอบคลุมหลายย่าน ซึ่งจะสามารถผันไปเป็นคุณภาพการให้บริการที่ลูกค้าจะได้รับอย่างต่อเนื่อง
ส่วนประเด็นการแข่งขันด้านราคาที่ผู้ให้บริการโอเปอเรเตอร์แต่ละรายต้องเร่งทำโปรโมชัน ลดราคาแพ็กเกจการให้บริการกันอย่างดุเดือดในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมานั้น หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS มองว่า การแข่งขันด้านราคาค่าบริการเป็นเรื่องปกติ ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละเจ้าต่างก็มีจุดยืนและเอกลักษณ์การให้บริการในรูปแบบของตัวเองกันอยู่แล้ว
ตรงกันข้าม เขาเชื่อว่าการทำราคาค่าบริการให้ถูกลง (ตัดราคา) จากผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ จะได้ผลในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากแม้ว่าราคาจะถูก แต่หากไม่สามารถใช้งานได้จริงก็ไม่มีประโยชน์ทันที โดยในระยะยาวผู้ให้บริการที่มี resources คลื่นความถี่ที่ครอบคลุมในจำนวนที่มากกว่าต่างหากถึงจะเป็นฝ่ายที่ถือ ‘ความได้เปรียบ’ มากที่สุด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า