×

AIS จับมือทุกภาคส่วน ประกาศ ‘ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์’ สู้ภัยดิจิทัลที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้จริง [ADVERTORIAL]

09.05.2025
  • LOADING...
AIS

HIGHLIGHTS

  • ภัยไซเบอร์เป็นความท้าทายระดับโลกที่ทวีความรุนแรง โดย World Economic Forum ระบุว่า ‘ข้อมูลบิดเบือนและข่าวปลอม’ คือความเสี่ยงอันดับหนึ่งของโลก ส่วน ‘การจารกรรมและสงครามไซเบอร์’ อยู่อันดับ 5 ในประเทศไทยมีการแจ้งความคดีออนไลน์ถึง 887,315 เรื่องในช่วง 3 ปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 8.9 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 77 ล้านบาท สะท้อนความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกหลอกผ่านแอปปลอม ถูกดูดเงินจากบัญชี หรือถูกล้วงข้อมูลส่วนตัว
  • ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างจริงจัง จนได้รับคะแนนประเมินดัชนีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก (GCI2024) สูงถึง 99.22 จาก 100 คะแนน จัดอยู่ในกลุ่ม Tier 1: Role Modelling และอยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก ขณะที่รัฐบาลยกระดับการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์เป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้ปฏิบัติการ ‘Seal Stop Safe’ รวมถึงมาตรการซีลชายแดน ตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการแก้ไขกฎหมายควบคุมบัญชีม้า-ซิมม้า
  • AIS ประกาศความร่วมมือกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลฯ และ กสทช. ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ ‘ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์’ โดยเชิญชวนหน่วยงานกว่า 100 องค์กรมาร่วมกันตัดวงจรมิจฉาชีพ ผ่านโมเดล 3 ประสาน ได้แก่ ‘เรียนรู้ (Educate)’ สร้างทักษะป้องกันภัยไซเบอร์, ‘ร่วมแรง (Collaborate)’ ผนึกกำลังกับพาร์ตเนอร์ทุกภาคส่วน และ ‘เร่งมือ (Motivate)’ รณรงค์ขับเคลื่อนกฎระเบียบแก้ไขปัญหา
  • AIS ดำเนินมาตรการเชิงรุกโดยเน้น ‘ป้องกันมากกว่าแก้ไขหลังเกิดเหตุ’ ทั้งการควบคุมระดับเสาสัญญาณมือถือในพื้นที่ชายแดน การควบคุมการจำหน่ายซิมการ์ด และพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันภัยไซเบอร์ เช่น บริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center และบริการ *1185# แจ้งอุ่นใจ ตัดสายโจร นอกจากนี้ยังขับเคลื่อนหลักสูตร ‘อุ่นใจไซเบอร์’ ที่มีผู้เข้าร่วมเรียนแล้วกว่า 5 แสนคน และตั้งเป้าขยายผลเป็น 3 ล้านคน เพื่อสร้าง ‘ภูมิคุ้มกันดิจิทัล’ ให้กับประชาชนในระยะยาว

โลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีขับเคลื่อนทุกมิติของชีวิต นำมาซึ่งความสะดวกสบายและความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด แต่ในอีกมุมหนึ่งก็แฝงไว้ด้วยความเสี่ยงและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ ที่ทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ภัยไซเบอร์’ ซึ่งกลายเป็นวาระสำคัญที่ทุกภาคส่วนทั่วโลกต้องตระหนักและร่วมกันรับมืออย่างจริงจัง

 

ภัยไซเบอร์: ความท้าทายระดับโลกและผลกระทบต่อสังคมไทย

 

รายงาน ‘Global Risks Report 2025’ โดย World Economic Forum ได้ชี้ให้เห็นภาพความน่ากังวลนี้อย่างชัดเจน โดยระบุว่าความเสี่ยงด้าน ‘ข้อมูลบิดเบือนและข่าวปลอม’ คือความเสี่ยงอันดับหนึ่งของโลก 

 

ขณะที่ความเสี่ยงเรื่อง ‘การจารกรรมและสงครามไซเบอร์’ อยู่ในอันดับที่ 5 และน่ากังวลว่าความเสี่ยงทั้งสองประการนี้จะยังคงอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อย 10 ปี สะท้อนให้เห็นว่านานาประเทศยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

 

ภัยคุกคามเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญระดับประเทศ แต่ยังนำไปสู่ ‘อาชญากรรมออนไลน์’ ที่ผู้ไม่หวังดีใช้กลอุบายหลอกลวงประชาชนหลากหลายรูปแบบ สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นวงกว้าง 

 

สำหรับประเทศไทยปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือภัยไซเบอร์ ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างน่าตกใจ จากสถิติการแจ้งความออนไลน์สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 30 เมษายน 2568 มีคดีออนไลน์เกิดขึ้นมากถึง 887,315 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 8.9 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 77 ล้านบาท 

 

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกหลอกให้โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันปลอม ถูกดูดเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว หรือแม้แต่ถูกล้วงข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางที่มิชอบ  

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความท้าทายนี้ นานาประเทศรวมถึงประเทศไทยต่างให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างจริงจัง เห็นได้จากการประเมินดัชนีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก (Global Cybersecurity Index: GCI) โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งในการประเมินครั้งล่าสุด (GCI2024) ประเทศไทยได้รับคะแนนสูงถึง 99.22 จาก 100 คะแนนเต็ม จัดอยู่ในกลุ่ม Tier 1: Role Modelling และอยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก 

 

ความสำเร็จนี้สะท้อนความมุ่งมั่นในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ ตลอดจนการเสริมสร้างองค์ความรู้และความตระหนักรู้ให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองได้  

 

การผนึกกำลังเพื่อความปลอดภัยของคนไทย

 

รัฐบาลไทยตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์และได้ยกระดับการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์เป็นวาระแห่งชาติ โดยภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวเน้นย้ำว่า “รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการรับมือภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างความเสียหายต่อประชาชน ที่ผ่านมาสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เดินหน้าทำงานเชิงรุกผ่าน 3 แกนหลัก ทั้งการกำหนดและพัฒนากฎหมาย สร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ และการยกระดับความมั่นคงระดับประเทศ” 

 

 

ภูมิธรรมยังได้กล่าวเสริมถึงการดำเนินการทั้งในเชิงนโยบาย ปฏิบัติการ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้ปฏิบัติการ ‘Seal Stop Safe’ รวมถึงมาตรการซีลชายแดน ตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการแก้ไขกฎหมายควบคุมบัญชีม้า-ซิมม้า  

 

ด้าน พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ได้ให้ภาพสถานการณ์ว่า “ในวันนี้ สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือภัยไซเบอร์ที่ถูกพัฒนาโดยกลุ่มมิจฉาชีพในหลายรูปแบบและทวีความรุนแรงมากขึ้น นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งด้านข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สินเป็นมูลค่ามหาศาล” 

 

พล.ต.ท. ไตรรงค์ ยังกล่าวถึงการทำงานเชิงรุกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และเปิดปฏิบัติการเชิงรุก โดยใช้เทคโนโลยี AI และระบบวิเคราะห์ธุรกรรมเพื่อติดตามเส้นทางการเงินของขบวนการอาชญากร  

 

 

AIS ขับเคลื่อน ‘ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์’ สู่สังคมดิจิทัลที่ยั่งยืน

 

ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลชั้นนำของประเทศ AIS ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้ประกาศความร่วมมือกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ ‘ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์’ 

 

โดยมีเป้าหมายในการเชิญชวนหน่วยงานทุกภาคส่วนกว่า 100 องค์กร มาร่วมกันตัดวงจรมิจฉาชีพตั้งแต่ต้นทาง และสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งและปลอดภัยในการใช้งานดิจิทัลทุกมิติ  

 

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวถึงความมุ่งมั่นขององค์กรว่า “AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ใช้งานสู่โลกออนไลน์ เรามุ่งมั่นเดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์และทักษะออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภารกิจ ‘Cyber Wellness for THAIs’” 

 

 

การสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย AIS จึงได้ริเริ่มภารกิจ ‘ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์’ เพื่อรวมพลังจากทุกภาคส่วนภายใต้โมเดล 3 ประสาน ได้แก่ 

 

‘เรียนรู้’ (Educate) สร้างความเข้าใจและทักษะในการป้องกันภัยไซเบอร์ให้กับเครือข่ายทั้ง Ecosystem

 

‘ร่วมแรง’ (Collaborate) ผนึกกำลังกับพาร์ตเนอร์ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมสื่อสารและสร้างแรงขับเคลื่อนสังคม 

 

‘เร่งมือ’ (Motivate) รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนกฎระเบียบ หรือกติกา แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่มั่นคงและปลอดภัยอย่างยั่งยืน

 

ที่ผ่านมา AIS ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกหลากหลายด้าน โดยเน้นการ ‘ป้องกันมากกว่าแก้ไขหลังเกิดเหตุ’ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามมาตรการของหน่วยงานภาครัฐ เช่น การควบคุมระดับเสาสัญญาณมือถือในพื้นที่ชายแดนเพื่อป้องกันการใช้งานผิดกฎหมายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามแดน ผ่านการลดความสูงของเสาส่งสัญญาณเพื่อจำกัดรัศมีการกระจายสัญญาณไม่ให้ข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และลดโอกาสที่สัญญาณจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายโดยกลุ่มมิจฉาชีพที่อยู่นอกประเทศ

 

 

การสนับสนุนด้านข้อมูลและระบบเครือข่ายในการปฏิบัติการปราบปรามมิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงควบคุมการจำหน่ายซิมการ์ดทำให้ซิมการ์ดของ AIS ไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพน้อยมาก

 

และที่สำคัญคือการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมเกราะป้องกันภัยไซเบอร์ให้แก่ลูกค้าและประชาชน อาทิ บริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center และบริการ *1185# แจ้งอุ่นใจ ตัดสายโจร ซึ่งเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสและตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ได้อย่างรวดเร็ว โดยระบบดังกล่าวได้ช่วยสกัดกั้นสายที่ต้องสงสัยจากการแจ้งของประชาชนไปแล้วเป็นจำนวนมาก โดยมีการดำเนินการบล็อกสายเหล่านั้นไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่งของที่ได้รับแจ้ง

 

สร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัล: พลังของความรู้และความร่วมมือ

 

นอกเหนือจากการป้องกันและปราบปรามแล้ว การสร้าง ‘ภูมิคุ้มกันดิจิทัล’ ให้กับประชาชนถือเป็นหัวใจสำคัญในการรับมือกับภัยไซเบอร์ในระยะยาว AIS ได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่ประชาชนผ่านโครงการต่างๆ เช่น หลักสูตร ‘อุ่นใจไซเบอร์’ ที่มุ่งให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ วิธีการป้องกันตนเอง และการใช้งานเทคโนโลยีอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมเรียนในหลักสูตรไปแล้วกว่า 5 แสนคน และ AIS ยังคงตั้งเป้าที่จะขยายผลให้มีผู้เรียนรู้เพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคนในอนาคต รวมถึงการสร้างตัวชี้วัดสุขภาวะด้านดิจิทัล เพื่อให้สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพดิจิทัลที่ดี

 

 

การเดินทางสู่ ‘ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์’ ไม่ใช่ภารกิจของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการเดินทางร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคมไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เมื่อทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และสร้างอนาคตที่มั่นคงในโลกดิจิทัลให้กับคนไทยทุกคนได้อย่างแท้จริง 

 

ดังที่สมชัยได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “เราเชื่อมั่นใจว่าเมื่อทุกภาคส่วนมีความรู้ ความเข้าใจ และจุดมุ่งหมายร่วมกัน จะนำไปสู่การสร้างสังคมดิจิทัลที่มีคุณภาพและปลอดภัยในทุกมิติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้เดินหน้าร่วมกันต่อไป เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของประชาชนคนไทยทุกคน”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising