×

AIS เคลียร์ปมเสนอปรับสัญญาเช่า ‘3BB – JASIF’ ลดความเสี่ยงธุรกิจ หวังผู้ถือหน่วยร่วมโหวต 18 ต.ค. นี้

14.10.2022
  • LOADING...
AIS

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • การประชุมผู้ถือหน่วยของ JASIF จะมีขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคม 2565 และมติการประชุมจะเป็นปัจจัยกำหนดอนาคตของ JASIF ว่าท้ายที่สุดแล้วจะเข้ามาอยู่ภายใต้เครือของ AIS หรือไม่
  • ประเด็นสำคัญที่ต้องลงความเห็นกันในครั้งนี้คือ การปรับโครงสร้างสัญญาเช่าระหว่าง 3BB และ JASIF ที่มีอยู่เดิม 
  • ธีร์ สีอัมพรโรจน์ CFO ของ AIS ยืนยันว่าการปรับสัญญาเช่าครั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจของ 3BB เดินต่อได้และแข็งแรงมากขึ้น พร้อมลดความเสี่ยงจากต้นทุนที่สูงเกินไป
  • แม้อัตราเงินปันผลจะลดลงในระยะสั้น แต่การขยายสัญญาออกไป 6 ปีจะช่วยให้กระแสเงินสดตลอดอายุสัญญาเพิ่มขึ้น พร้อมความเสี่ยงของธุรกิจจะหายไปด้วย อีกทั้งการเข้ามาของ AIS จะช่วยให้เกิดการ Synergy ของธุรกิจ

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของหนึ่งในดีลสำคัญทางธุรกิจของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ซึ่งวันที่ 18 ตุลาคม 2565 จะเป็นการประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF เพื่อลงมติเกี่ยวกับการอนุมัติให้ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS ขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม และขายหุ้นสามัญใน บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB ผู้ให้บริการภายใต้แบรนด์ 3BB ให้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS ผู้ให้บริการภายใต้แบรนด์ AIS

 

นอกจากนี้ ยังเป็นการลงมติเพื่อแก้ไขรายละเอียดของสัญญาเช่าบางประการที่ 3BB เคยตกลงกับ JASIF ไว้ในอดีต ซึ่งการเสนอขอแก้ไขสัญญาดังกล่าว นำไปสู่ความกังวลในกลุ่มผู้ถือหน่วยบางส่วน โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเงินปันผลที่จะลดลง 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


สถานการณ์ธุรกิจที่เปลี่ยนไป

“เมื่อนักลงทุนเข้าใจถึงเหตุผลของการเสนอขอปรับสัญญาเช่า เราจะเห็นความเสี่ยงธุรกิจเปลี่ยนไป ธุรกิจของ 3BB จะมั่นคงขึ้น จะทำกำไรได้ และจะชำระค่าเช่าให้กับ JASIF ได้แบบมั่นคงอย่างต่อเนื่อง” ธีร์ สีอัมพรโรจน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (CFO) ของ AIS กล่าวถึงเหตุผลเบื้องหลังของการขอปรับสัญญาเช่าข้างต้น สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ ภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมบรอดแบนด์ที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ปัจจัยที่เห็นได้ชัดที่สุดอย่างหนึ่งคือค่าบริการต่อเดือนของอินเทอร์เน็ตบ้านที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 

 

รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งาน 1 ราย (APRU) ลดลงจาก 646 บาท ในปี 2559 มาอยู่ที่ 508 บาท ในปี 2564 แม้ว่า 3BB จะมี APRU ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม แต่ด้วยต้นทุนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเช่นกัน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจลดลง 

CFO ของ AIS กล่าวต่อว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ผู้ให้บริการต้องพยายามลดราคาทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น ขณะที่ 3BB มีข้อจำกัดด้านต้นทุน ทำให้บริษัทต้องพยายามเน้นเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก แทนที่จะลดราคาลงมา 

 

“ทางเดียวที่จะทำให้ 3BB แข่งขันได้ ต้องลดต้นทุนลงมา จึงเป็นที่มาของการเข้าไปแตะสัญญาในบางจุด เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจไม่แข็งแรง สัญญาเดิมเป็นการตกลงในสถานการณ์ธุรกิจในอดีต ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาค่าบริการเฉลี่ยสูงกว่า 600 บาทต่อเดือน แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป” 

 

หากพิจารณาจากรายงานของที่ปรึกษาการเงินอิสระ (IFA) จะเห็นว่า ธุรกิจของ 3BB เริ่มมีความเสี่ยงในเรื่องของสภาพคล่อง แม้ที่ผ่านมา EBITDA เหมือนจะดูดี แต่จากการประเมินกระแสเงินสดในช่วง 12 เดือนข้างหน้า สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2566 กระแสเงินสดของธุรกิจจะติดลบอยู่ราว 2.85 พันล้านบาท ซึ่งค่าเช่าที่จ่ายให้กองทุนเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันที่สำคัญ

 

ขณะที่ต้นทุนของ 3BB เทียบกับรายรับเฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการยังอยู่สูงกว่าอุตสาหกรรมพอสมควร โดย 3BB มีภาระค่าเช่าทรัพย์สินที่ต้องจ่ายให้กองทุน 509.20 บาทต่อคอร์กิโลเมตรต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเช่าของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF ซึ่งอยู่ที่ 350 บาทต่อคอร์กิโลเมตรต่อเดือน

 

“บางคนอาจมีคำถามว่าทำไมต้องเปลี่ยนสัญญา ทำไมเงินปันผลต้องน้อยลง ซึ่งยังไม่ได้ดูในมุมความเสี่ยงเลย จุดที่สำคัญคือความแข็งแรงของธุรกิจซึ่งจะช่วยให้กองทุนเข้มแข็งขึ้น จากนั้นค่อยมาดูว่าผลตอบแทนที่ได้รับเหมาะสมกับความเสี่ยงหรือไม่” 

 

ประเมินความเสี่ยงและโอกาส

ทั้งนี้ สาระสำคัญของข้อเสนอในการปรับโครงสร้างค่าเช่าของ AIS แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  1. คงสัญญาเช่าหลักและขยายอายุสัญญาเพิ่ม 6 ปี รวมเป็น 15 ปี (สิ้นสุดปี 2575) 
  2. ยกเลิกสัญญาค่าเช่าประกันรายได้ แต่เพิ่มเติมในการชำระค่าเช่าล่วงหน้า 3 ปีแรก จำนวน 3 พันล้านบาท 
  3. ปรับเงื่อนไขเงินกู้ ทั้งการยืดระยะเวลาคืนเงินต้น และลดดอกเบี้ยลง 0.5% ซึ่งจะช่วยลดดอกเบี้ยจ่ายปีละ 70-80 ล้านบาท

 

ธีร์กล่าวต่อว่า ภายใต้เงื่อนไขใหม่ ช่วง 3 ปีแรกเงินปันผลโดยประมาณต่อปีของ JASIF จะอยู่ที่ 0.79-0.81 บาทต่อหน่วย ลดลงจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ราว 0.90 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ดี เงินปันผลรับรวมตลอดทั้งสัญญาจะเพิ่มขึ้นจาก 7.8 บาทต่อหน่วยใน 9 ปี เป็น 9.2 บาทต่อหน่วยใน 15 ปี 

 

ภายใต้เงื่อนไขใหม่นักลงทุนอาจจะกังวลว่าเงินปันผลต่อหน่วยจะลดลงตั้งแต่ปี 2569 แต่เมื่อธุรกิจเริ่มแข็งแรงแล้ว ทั้งจากต้นทุนที่ลดลง และการ Synergy กับธุรกิจของ AIS จะทำให้ 3BB มีโอกาสในการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนเพิ่มเติม และมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งมากขึ้น 

 

อีกหนึ่งความกังวลที่เกิดขึ้นคือ ราคาของ JASIF ในตลาดที่ลดลงมาเหลือกว่า 8 บาท ผู้บริหารของ AIS มองว่า เป็นเพราะดีลที่ยังไม่จบแน่นอน แต่หากดีลนี้จบลงภายใต้เงื่อนไขใหม่ทางธุรกิจ เชื่อว่านักลงทุนจะมอง JASIF เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

 

“คำถามสำคัญคือ ก่อนหน้านี้ทำไม JASIF ถึงเทรดที่ยีลด์ 10% สูงกว่าคนอื่นที่ 7% เพราะเป็นส่วนชดเชยความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้เริ่มสะท้อนออกมาให้เห็น ทั้งความไม่แน่นอนในการจ่ายเงินปันผล และการแข่งขันของธุรกิจที่รุนแรงขึ้น”

 

โดยทั่วไปนักลงทุนจะพิจารณาว่าความเสี่ยงเหมาะสมกับผลตอบแทนหรือไม่ หากอัตราผลตอบแทนสูงเกิน ก็จะดึงดูดให้คนเข้ามาซื้อมากขึ้น ราคาก็จะวิ่งเข้าหาจุดสมดุล กลไกตลาดจะสะท้อนยีลด์ หรืออัตราตอบแทนเงินปันผลที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ลดลง

 

แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรม

แนวโน้มอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ หาก 3BB เข้ามาอยู่ในเครือของ AIS เชื่อว่าจะช่วยให้เกิด Synergy ทางธุรกิจ ทั้งในด้านการให้บริการที่ดีขึ้น โดย 3BB จะมีบริการด้านมือถือเข้าไปเสริม ส่วน AIS จะสามารถให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น 

 

ขณะเดียวกันต้นทุนในการดำเนินธุรกิจก็จะลดลง และช่วยลดความซ้ำซ้อนของการใช้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใน 3-5 ปีข้างหน้า จะยังเติบโตต่อได้ ส่วนหนึ่งเพราะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบ้านของไทยยังอยู่ที่เพียง 55% เทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่สูงกว่า 75% 

 

ส่วนเป้าหมายระยะยาว บริษัทต้องการจะเป็นผู้นำในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ ทั้งเทคโนโลยี 5G, ดาต้าเซ็นเตอร์, คลาวด์ และบรอดแบนด์ ซึ่งจะมี 3BB เข้ามาช่วยเร่งการพัฒนา

 

ธีร์กล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากให้นักลงทุนมาร่วมกันโหวต พร้อมกับมองเรื่องความเสี่ยงควบคู่ไปกับโอกาสในอนาคต การเติบโตของกองทุนจำเป็นต้องปรับต้นทุนให้เหมาะสมกับการทำธุรกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ถือหน่วยในระยะยาว”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X